ของอร่อยจะเยียวยาทุกสิ่ง
หลังจากหมดสัปดาห์อันเหน็ดเหนื่อย ถ้าไม่นอนหลับเป็นตาย หลายคนยังพอมีพลังเหลือเฟือสำหรับพาตัวเองไปร้านเนื้อย่างเพื่อให้ของอร่อยปลอบประโลมจิตใจ ไม่ว่าจะแบกเรื่องอะไรไว้ แต่เราพร้อมจะวางมันลงไป แล้วพักกินของอร่อยก่อนได้เสมอ
เหตุผลที่ของอร่อยช่วยเราได้ นั่นเพราะ จิตใจมีผลกับการกิน สิ่งนี้สัมพันธ์และโยงใยถึงกันได้แทบทุกมิติ เรากินอย่างไร ใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าลองสำรวจแล้วพบว่าการกินของเรากำลังผิดปกติ ไม่ว่าจะกินมาก หรือน้อยเกินไป นั่นอาจเป็นไปได้ว่าข้างในกำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างก็เป็นได้
สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) ระบุว่า มีบาดแผล ในใจหลายแบบที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับการกิน แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกินเลยก็ตาม เช่น เคยถูกทำร้ายร่างกาย นับถือตนเองต่ำ ซึมเศร้า ถูกกลั่นแกล้ง มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว เคยใช้สารเสพติด รวมถึงเรื่องของพันธุกรรมด้วยเช่นกัน
ไอรา เอ็ม แซกเกอร์ (Ira M. Sacker) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติในการกิน ประจำ Langone Medical Center แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เผยว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับการกินมักจะเรื่องบาดแผลทางจิตอยู่เบื้องหลัง เช่น นับถือตนเองต่ำ หมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ และทำให้เกิดพฤติกรรการกินที่ผิดปกติตามมาในที่สุด เช่น ผู้ป่วย โรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa) ที่ไม่มีความอยากอาหาร อีกทั้งยังออกกำลังกายอย่างหนักเพราะกังวลเรื่องรูปร่าง หรือ ผู้ป่วย โรคหยุดกินไม่ได้ (Binge Eating Disorder) ที่มีปัญหากินเกินขนาด ส่งผลให้น้ำเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน และทำให้ภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่รุนแรงกว่าเดิม
‘การกิน’ สัมพันธ์กับ ‘จิตใจ’ อย่างไร
เดอบรา เจ จอห์นสตัน (Debra J. Johnston) จากศูนย์บำบัดความผิดปกติในการกิน รัฐแอริโซนา กล่าวว่า อาการซึมเศร้าอาจส่งผลให้เรากินตามอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ที่ว่านี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความหิวของร่างกายเลย แม้ร่างกายจะไม่รู้สึกหิว แต่ใจโหยหา คนเราจะสามารถกินทุกอย่างได้เพื่อปลอบประโลมจิตใจที่กำลังบอบช้ำ ความสุขจากการกินอาหารจะทำร่างกายหลังฮอร์โมนโดปามีนซึ่งทำให้อารมณ์ดีและมีความสุขยิ่งขึ้น
ส่วนผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะทำตรงกันข้าม คือ ไม่ยอมกินอาหารและออกกำลังกายอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ตนเองคลายจากความกังวลเรื่องรูปลักษณ์แล้วรู้สึกดีขึ้น
การเยียวยาในลักษณะเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์พยายามควบคุมความรู้สึกในจิตใจ ไม่ว่าจะด้วยการกินหรือออกกำลังกาย เราทำแบบนั้นเพราะคิดว่านั่นเป็นหนทางสุดท้ายที่ตัวเองจะเยียวยาใจพังๆ ได้ โดยที่ไม่รู้ว่านี่คือทางออกชั่วคราวของเท่านั้น เมื่อจิตใจไม่เคยหายดี ไม่นานนักเราก็จะกลับมารู้สึกแบบเดิมอีกครั้ง ติดอยู่ในวงจรที่ออกไม่ได้ เป็นการบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจไปเรื่อยๆ
การกินที่ผิดปกติเป็นสัญญาณหนึ่งของจิตใจที่แสดงออกมาให้เราเห็นเพียงยอดภูน้ำแข็งเท่านั้น เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าลึกลงไปใต้มหาสมุทรนั้น ใจของเราจะเจ็บป่วยแค่ไหน โรคเกี่ยวกับการกินไม่ได้ส่งผลกับน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว แต่ทำจิตใจย่ำแย่ไม่แพ้กัน
ผลลัพธ์ของโรคนี้ไม่ใช่แค่สุขภาพกายที่พังลง แต่กลับส่งผลกับสุขภาพใจมากกว่านั้น เมื่อสถิติแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับการกินมีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวตายมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 50 เท่า
การรักษาโรคกินผิดปกติอันมีรากฐานมาจากความเจ็บป่วยทางใจนั้นซับซ้อนและท้าทายกว่าการรักษาผู้ป่วยทั่วไป มีวิธีรักษาทั้งแบบใช้ยาและการบำบัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักโภชนาการ
วิธีบำบัดที่ได้รับความนิยมที่สุด คือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ซึ่งจะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจอาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มองรูปลักษณ์ตามความเป็นจริง จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม นอกจากวิธีนี้ยังมีการบำบัดอีกหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบเน้นเยียวยาด้านจิตใจมาเป็นอันดับแรก
การกินและนอนเป็นพื้นฐานของการมีชีวิต ร่างกายมนุษย์เป็นเหมือนเครื่องจักรที่ทำงานเป็นปกติได้ด้วยการกินและการนอนที่สมดุล หากทั้งสองสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงไปจนจับสังเกตได้ นั่นหมายความว่าอาจมีฟันเฟืองตัวไหนที่กำลังพัง นี่คือสัญญาณที่ชวนให้เรากลับไปสำรวจและดูแลจิตใจกันอีกครั้ง
อ้างอิง
- Chris Iliades. Depression’s Effect on Your Appetite. https://bit.ly/3zhfvc7
- Mary V. Seeman. Eating Disorders and Psychosis. https://bit.ly/2UUevvC
- Peter Jaret. Eating Disorders and Depression. https://wb.md/3rauHos
- Kristen Fuller. Eating Disorders: It’s Not All About Food. https://bit.ly/3re8NRc