1.
ผมน่าจะได้ยินคำว่า Second Opinion หรือ ‘คำวินิจฉัยที่สอง’ ครั้งแรกเมื่อราวสามปีก่อน
ในโรงพยาบาลเล็กๆ บนหุบเขาของเมืองเลห์ แคว้นลาดัก ประเทศอินเดีย ผมสติหลุด สลึมสลือ ใบหน้าบวมและผิดรูปจากอุบัติเหตุทางถนน เย็บบาดแผลบางส่วนเสร็จ ผมถูกส่งไปยังห้องทันตกรรม ฟันบางซี่หลุดหายไปแล้ว มีบางซี่โยกเยก และหมอกำลังลงความเห็นว่าควรถอนมันทิ้งเสียเดี๋ยวนั้น
ผมโวยวาย รับไม่ได้ ไม่อยากให้อะไรที่เคยปกติผิดเพี้ยนไปมากกว่านี้
หมอหยุดชะงัก “หรือจะลองขอคำวินิจฉัยที่สองจากโรงพยาบาลในประเทศบ้านเกิดของคุณดู” หมอบอกประมาณนั้น
ผมใจชื้น เจ็บปวดจากบาดแผลแต่มีหวัง ตัดสินใจบินกลับไทยเช้าวันรุ่งขึ้น เดินทางยาวนานข้ามวัน จากเลห์สู่นิวเดลี จากนิวเดลีสู่กรุงเทพ จากกรุงเทพสู่โรงพยาบาลประจำจังหวัดบ้านเกิดในภาคใต้
หวังว่าความปกติที่สูญสิ้นสภาพอันปกติไปแล้วจะไม่ย่ำแย่ไปมากกว่านี้
ทว่าบ่อยครั้ง บางเรื่องในชีวิตก็เป็นเพียงภาวะดื้อรั้นและอยากยื้อเวลา
คำวินิจฉัยที่สองจากหมอบอกว่า ผมไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้
2.
“เอ็งจะเป็นนกไร้ขาไปตลอดไม่ได้” หลายคืนแล้ว ที่คำบอกกล่าวอย่างเป็นห่วงของมิตรสหายรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งตกค้างอยู่ในความทรงจำย้อนกลับมาก้องซ้ำๆ ในหัว
นกไร้ขาที่เขาพูดถึง คือเรื่องเล่าจากหนัง Days of Being Wild (1990) ของ หว่องกาไว (Wong Kar Wai) จากปากตัวละคร ‘ยกไจ๋’ ผู้เปรียบเทียบชีวิตตัวเองเป็นนกไร้ขา… “ผมได้ยินมาว่ามีนกไร้ขาอยู่พันธ์ุหนึ่ง มันเอาแต่บินและบิน นอนหลับในสายลมเมื่อเหนื่อยล้า ในชีวิตจะร่อนสู่พื้นดินเพียงครั้งเดียว นั่นคือเวลามันตาย”
ตอนที่มิตรสหายกล่าวถึงนกไร้ขา ผมยังไม่เคยดู Days of Being Wild แต่ก็พอเดาได้ว่าเขาหมายถึงวิถีชีวิตของผมที่ล่องลอย ไม่ยอมลงหลักที่ไหนให้ยาวนานมากพอในช่วงหลายปีหลัง
มันออกจะดูเบียวไปสักหน่อย ชีวิตของผมไม่ได้ให้มู้ดโทนเป็นแสงกลางคืนเหงาๆ สวยเศร้าแบบหนังหว่องกาไวขนาดนั้น พูดกันตามตรงก็ต้องบอกว่ามันมีความกักขฬะไม่ลงร่องลงรอยมากกว่า มีความเละเทะเปรอะเปื้อนที่บางครั้งผมก็รู้สึกอับอายอยู่ไม่น้อย และการเอาเรื่องนกไร้ขามาเปรียบก็ดูจะ ‘หว่อง’ ชวนอี๋น่าขนลุกขนพองเกินไปสักหน่อย
ใช่ว่าผมจะไม่เคยพยายามจำหลักที่ใดให้ยาวนานอย่างที่ควรเป็น ผมพยายามมาหลายหน ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากมายอะไร รู้ดีว่าการล่องลอยอยู่บนอากาศที่ไม่มีอาหารให้พอประทังชีวิตนานเกินไปจะทำให้อดตาย ผมจึงต้องร่อนสู่พื้นเพื่อหากินอยู่เสมอ แต่จนแล้วจนรอดเพียงแค่สัมผัสสายลมสักวูบ มันก็ทำให้ผมอยากถูกพัดหายไปสู่แห่งหนอื่นอีกครั้งและอีกครั้ง
ผมเป็นคนค่อนข้างจับจด มักจิ้มเครื่องคิดเลขคำนวณความเป็นไปได้ ตัดสินใจอะไรแต่ละรอบมักถามตัวเองซ้ำๆ จนบางเรื่องก็กลายเป็น ‘เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย’ ไป อาจเพราะกลัวว่าการตัดสินใจนั้นจะทำลายความปกติและทำให้ชีวิตวุ่นวาย แต่กับบางเรื่อง โดยเฉพาะแรงปรารถนาลึกล้ำต่อการหลบหนีจากที่นั่นไปที่นี่ตลอดเวลา ลึกๆ สำหรับผมแล้ว มันอาจไม่ใช่ความผิดปกติที่ต้องแก้ไข ผมจึงไม่เคยมอบการวินิจฉัยครั้งที่สองใดๆ ให้แก่ตัวเองเมื่อเป็นเรื่องนี้
3.
ราวสามปีก่อน คำวินิจฉัยที่สอง ซึ่งผมหวังว่ามันจะรักษาระดับความปกติในชีวิตไว้ได้บ้างลงเอยด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่า ผมต้องรักษาตัวอยู่นาน เข้าๆ ออกๆ คลินิกและโรงพยาบาลหลายครั้ง ใส่วัสดุชั่วคราว ผ่านมีดหมอ สว่านเจาะ ผ่าตัด ปลูกกระดูก ฝังรากเทียม ใส่วัสดุถาวรชุดใหม่เข้าไป
ก่อนผมจะมีฟันชุดที่สามเป็นของตัวเองในวัยสามสิบสองปี
ยิงฟันในกระจก ผมพบร่องรอยของชุดการตัดสินใจจากอดีตมากมายอยู่ในฟันชุดใหม่นั้น มีทั้งความกล้าบ้าบิ่นไม่คิดหน้าคิดหลัง มีบางห้วงเหตุการณ์ที่จับจดคิดทบทวนซ้ำๆ มีทั้งความล้มเหลวทางด้านอารมณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง นึกเสียใจต่อบางเหตุการณ์ และมีทั้งการดุ่มเดินไปในหนทางที่ไม่นึกเสียดาย
การได้มาและสูญเสียเป็นผลพวงของชุดการตัดสินใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจลงหลักที่ไหนสักแห่ง หรือปลอมแปลงตัวเองไปเป็นสายลมเร่ร่อนของแห่งหนอื่น อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยคิดว่าจะมีการวินิจฉัยครั้งใดถูกต้องสมบูรณ์ตายตัว ชีวิตเป็นเรื่องของความเป็นไปได้อื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่เราน่าจะเลือกถูก เลือกผิด และเลือกใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ
แน่นอน เราต่างปรารถนาความถาวรและแข็งแรง โหยหาความมั่นคงที่จะเกาะยึดไปตลอดชีวิต บางคราวผมก็ต้องการเช่นนั้นสุดจิตสุดใจ แต่บางครั้งผมก็ดันคิดว่าชีวิตตัวเองเป็นเพียงของเหลวไร้รูปร่าง มีสถานะชั่วคราวเกินกว่าจะถูกสตัฟฟ์ผูกติดไว้กับวันเวลาที่กำลังล่วงเลยผ่านไป
การกะเทาะตัวเองออกจากเกราะปกป้องอันแข็งแรง สู่ความเลื่อนไหลล่องลอยของการเดินทางยาวนานครั้งหนึ่ง ทำให้ผมสูญเสียบางอย่างไปตลอดกาล แต่มันก็ทำให้ผมมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ และได้รับเรื่องเล่ากลับมาในชีวิตอย่างถาวรมากมายเช่นเดียวกัน ไม่ว่านั่นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย อย่างน้อย หลักฐานก็ปรากฏชัด เมื่อผมอ้าปากหน้ากระจก แล้วมองเห็นฟันชุดที่สาม ซึ่งมีเพียงผมเท่านั้นจะสังเกตเห็นถึงความแตกต่าง
4.
ภาพถ่ายในบทความที่ผู้อ่านได้เห็น ซึ่งดูจะกระจัดกระจายเหลือเกินนี้ มาจากหลายๆ เหตุการณ์ในช่วงชีวิตอันล่องลอยของผม มันเป็นภาพที่ผมเลือกไว้คร่าวๆ เพื่อหวังจะนำมาใช้ประกอบบทบรรณาธิการ editor’s dose ไปอีกหลายตอนในอนาคตข้างหน้า
ผมเพิ่งทำงานที่ becommon ครบหนึ่งปีเมื่อไม่นานมานี้ เห็นพลังงานด้านบวกมากมายในทีมเล็กๆ ของเรา เห็นความเป็นไปได้และเรื่องเล่าดีๆ ที่พร้อมจะส่งต่อสู่ผู้อ่าน ในการทำงานประจำที่ผ่านมา การทำงานให้ becommon จึงเป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกปลอดโปร่งและมั่นคงที่สุด
แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแล้ว อาจเป็นเพียงสายลมวูบไหวสักวูบ อาจเป็นปัจจัยจากการเกิดขึ้นของโรคระบาดที่ทำให้ชีวิตที่ไม่แน่นอนอยู่แล้ว ยิ่งไม่แน่นอนและอาจมีอายุสั้นลงไปอีก อาจเพราะใจร้อนอยากเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิต อาจเป็นสภาพสังคมที่ทำให้หมดหวังและหม่นหมอง อาจเป็นตัวเองที่ไม่แข็งแรงมากพอ ผมจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นบรรณาธิการบริหารของ becommon ในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อจะกลายเป็นสายลมร่อนเร่ดูอีกสักครั้ง ข้อเขียนของผมในพื้นที่ editor’s dose จึงต้องดำเนินมาสู่ตอนสุดท้าย
และใช่ นี่เป็นการตัดสินใจโดยไม่จำเป็นต้องขอคำวินิจฉัยที่สองใดๆ ให้แก่ตัวเอง
becommon อธิบายตัวเองด้วยการนำประโยคสั้นๆ มาเรียงต่อกันว่า “พื้นที่สำหรับแสวงหา ‘ความรู้’ เสาะหา ‘เรื่องเล่า’ และซาบซึ้งกับ ‘เรื่องราวอันหลากหลาย’” และสิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจคือ ทีมงานของ becommon จะนำความรู้ เรื่องเล่า และเรื่องราวอันหลากหลายที่มีคุณภาพมาส่งต่อผู้อ่านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแน่นอน
ย้อนมองการงานในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ย้อนกลับไปอ่าน tagline ของ becommon ที่ว่า “เพื่อ ‘เรียนรู้’ เพื่อ ‘เข้าใจ’ เพื่อเป็น ‘ตัวเองในฉบับที่ดีขึ้น’” ผมก็หวังว่าชีวิตของตัวเองจะได้พานพบความรู้ เรื่องเล่า และเรื่องราวอันหลากหลายในหนทางข้างเช่นเดียวกัน
เพื่อเรียนรู้ เพื่อเข้าใจ เพื่อเป็นตัวเองในฉบับที่ดีขึ้น…
ต่อให้การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดพลาด ผมก็หวังว่าตัวเองจะกล้าหาญยอมรับความอ่อนหัดของตัวเอง เริ่มต้นวินิจฉัยใหม่เพื่อหาหนทางดุ่มเดินต่อไปอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่ามันจะเป็นการจากไปหรือการกลับมา.
be knowing, be life, be fine.
นี่คือ tagline ฉบับภาษาอังกฤษของ becommon