©ulture

พระเจ้ามีจริงหรือไม่?

คำถามเชิงอภิปรัชญานี้ถูกเอ่ยถามครั้งแล้วครั้งเล่าในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการปรัชญา

ในปี 1802 วิลเลี่ยม พาเลย์ (William Paley) นักปรัชญาและนักเทววิทยาชาวอังกฤษผู้เชื่อว่าพระเจ้าดำรงอยู่จริงสุดจิตสุดใจ ได้พยายามอธิบายไว้ในงานเขียนของเขาชื่อ Natural Theology โดยใช้อุปมาอุปไมยถึง ‘นักประดิษฐ์นาฬิกา’ (the watchmaker argument) อ้างว่า 

เมื่อเรามองนาฬิกาพกที่แสนจะมีกลไกซับซ้อน เราย่อมตระหนักทันทีว่ามันถูกออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างชาญฉลาดจากช่างทำนาฬิกา และเมื่อสิ่งมีชีวิต โลก รวมถึงจักรวาล มีความซับซ้อนไม่แตกต่างจากนาฬิกา ดังนั้นพวกเราจึงต้องเป็นผลผลิตของการออกแบบที่ชาญฉลาดเช่นเดียวกัน

ซึ่งพาเลย์เชื่อว่า ผู้ออกแบบนั้นก็คือ ‘พระเจ้า’

วิลเลี่ยม พาเลย์

ฟังเผินๆ ข้อเสนอของพาเลย์ก็ดูจะมีเหตุผลทำให้คล้อยตามได้

ทว่าในศตวรรษต่อมา การเปรียบเปรยหรืออุปมาอุปไมยที่พาเลย์เสนอนั้น กลับถูกโต้แย้งว่ามันใช้ไม่ได้ เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัว เป็น ‘อุปมาเทียม’ (False Analogy) 

ริชาร์ด ดอว์กินส์

ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักชีววิทยาและนักเขียนชาวอังกฤษ ได้เขียนโต้แย้งการเปรียบเทียบนี้ไว้ในหนังสือ The Blind Watchmaker ในปี 1986 ยกทฤษฎีการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) ของ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) มาอธิบาย ว่าพัฒนาการที่ซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ทรงปัญญาใดๆ มาออกแบบ

(*ทั้งนี้การโต้เถียงนี้ ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า มันเพียงชี้ให้เห็นถึงตรรกะวิบัติและการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวของพาเลย์เท่านั้น)

หน้าปกหนังสือ  The Blind Watchmaker

การเรียกการใช้ตรรกะวิบัติโดยยกอุปมาผิดๆ ในนาม false analogy มีที่มาจากนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญอีกคนอย่าง จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) 

จอห์น สจ๊วต มิลล์

หนึ่งในตัวอย่างอุปมาเทียมของมิลล์คือ การอนุมานว่าคนคนหนึ่งจะต้องมีพฤติกรรมขี้เกียจ เพราะพี่น้องของเขาหรือเธอเป็นคนขี้เกียจ โดยมิลล์อธิบายอย่างเข้าใจง่ายว่า การมีพ่อแม่ร่วมกันไม่ได้ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมขี้เกียจต่อพี่น้องร่วมท้องเดียวกันแต่อย่างใด

 

Analogy ≠ Metaphor

เราต่างคุ้นเคยการนำอุปมาอุปไมยมาใช้ในบทกวี หรือวรรณกรรมเพื่อให้เกิดภาพ กลิ่น รสที่ชัดเจนขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของคนอ่าน แต่ metaphor ที่มีความหมายใกล้เคียงกับ analogy ในเชิงวรรณกรรมนั้น แท้จริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย

กล่าวอย่างสั้นที่สุดคือ metaphor จะเป็นการพรรณนาโดยยกภาพของอีกสิ่งหนึ่งมาเปรียบเทียบกับของสิ่งหนึ่ง โดยจะไม่ได้เน้นเรื่องของเหตุผล แต่เน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการที่จะเกิดจากการเปรียบเทียบนั้นๆ แทน

เมื่อผมเขียนลงไปในนิยายของตัวเองว่า “ริมฝีปากผมบวมเป็นลูกองุ่นใกล้เน่า” มันไม่ได้หมายความว่า ริมฝีปากของผม = องุ่น แบบตรงตัวอักษร (literally) จริงๆ แต่มันเป็นแค่เป็นภาพเปรียบเทียบ ถึงริมฝีปากที่บวม ช้ำเลือดช้ำหนอง จากอุบัติเหตุบางอย่างเท่านั้น

ส่วน analogy แม้จะเป็นการเปรียบเทียบถึงของสองสิ่งในทำนองเดียวกัน แต่มันจะเรียกร้องการอ้างเหตุผลที่มากกว่า โดยจะมุ่งเป้าชี้ให้เห็นว่า ถ้าของสองสิ่งมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน มันจะมีความคล้ายคลึงกันในในทางใดทางหนึ่งตามหลักเหตุและผล

 

ความอ่อนด้อยของการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ และหนทางหลุดพ้น

ปัญหาที่ทำให้เกิด ‘อุปมาเทียม’ (False Analogy) ส่วนใหญ่แล้วมาจาก ‘การเหมารวม’ และพยายามตีขลุมด้วยอคติว่า หากของสองสิ่งมีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน มันจะ ‘ต้องเหมือนกันในทุกทาง’ อย่างตายตัว

“เอและบีเป็นเด็กผู้หญิง เอสูง 145 เซนติเมตร ดังนั้นบีจะต้องสูง 145 เซนติเมตรเหมือนกัน”

ใช่ เอและบีเป็นเด็กผู้หญิง และแน่นอนว่า พวกเธอต้องมีลักษณะทางกายภาพบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ลักษณะบางประเภท เช่น ส่วนสูง น้ำหนักตัว หรือสัดส่วน ของพวกเธอจะต้องเหมือนกัน

พูดให้ชัดกว่านั้น สิ่งที่พวกเธอมีร่วมกันจริงๆ คือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ซึ่งตามแนวคิดของโลกยุคใหม่แล้วย่อมมี ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น การเปรียบเปรยที่เรามักได้ยินบ่อยเหลือเกินในรอบหลายปีมานี้ที่ว่า ‘นิ้วยังไม่เท่ากัน คนจะเท่ากันได้อย่างไร’ จึงใช้ไม่ได้ เพราะประเด็นของ ‘ความเท่าเทียม’ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นคนละเรื่องกับส่วนสูง น้ำหนัก หรือขนาดนิ้วมือ ที่เป็นเรื่อง ‘กายภาพ’ แต่มันคือสิทธิและเสรีภาพในศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ต่างหาก

แม้ว่าการเปรียบเทียบจะมีประโยชน์ในการช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้นด้วยการนำของสองสิ่งมาวางเทียบเคียงกันเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน แต่ภาพตัวอย่างเหล่านี้ก็ไม่ควรทำให้เราสับสนด้วยคู่เปรียบเทียบที่ไม่สมบูรณ์และผิดฝาผิดตัว เพราะการถูกครอบงำด้วยตรรกะวิบัติ และอคติจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด หรือใช้คำวัยรุ่นหน่อยก็ต้องบอกว่า มันจะทำให้เรา ‘บ้ง’ ได้ในท้ายที่สุด

แน่นอน มนุษย์ทุกคนบ้งได้ การไล่ตามตรรกะวิบัติของตัวเองให้ทันไม่ใช่เรื่องง่าย เราต่างมีความอยากเอาชนะต่อบางสิ่ง จนเลือกวิธีผิดๆ และด่วนตัดสินโดยใช้อคติมาบังตา สิ่งที่ทำได้คือการค่อยๆ พิจารณาโครงสร้างของการอ้างหลักเหตุและผลในทุกเรื่อง คิดอย่างมีความคิดเชิงวิพากษ์ จดจ่อกับ ‘ความลำเอียง’ ของตัวเองไว้ก่อน เพราะมันมักทำให้เรากระโดดลงสู่หลุมพลางของคำตอบที่ผิดพลาดได้โดยง่าย หมั่นสงสัยในข้อสันนิษฐานของตัวเอง เปิดกว้างต่อการอธิบายจากมุมมองอื่นๆ และที่สำคัญจงเป็นน้ำ (แน่นอนนี่ไม่ใช่ analogy แต่มันเป็นแค่ metaphor หนึ่งเท่านั้น) ที่พร้อมจะเปลี่ยนวิถีของความผิดและความเชื่อของตนไปสู่ความสมเหตุสมผล

จาคอบ โบรนาวสกี

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่า ความสมเหตุสมผลมักขึ้นอยู่กับ ‘บริบท’ ของสังคมและ ‘ยุคสมัย’ โดย จาคอบ โบรนาวสกี (Jacob Bronowski) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษเขียนไว้ในหนังสือ The Ascent of Man ของเขา และเป็นบทสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดีว่า

“ในทุกวันนี้หลายทฤษฎีในโลกยุคเก่าดูเหมือนจะไร้เดียงสา มันเป็นนิทานที่สับสนยุ่งเหยิง และเป็นการเปรียบเทียบผิดๆ อย่างเหลือร้าย ทฤษฎีของพวกเราในวันนี้ ก็จะถูกทำให้ไร้เดียงสาเช่นกันในอีกห้าร้อยปีข้างหน้า ทุกทฤษฎีล้วนอยู่บนพื้นฐานของภาวะอุปมาอุปไมยบางอย่าง ไม่ช้าก็เร็วทฤษฎีเหล่านี้จะล้มเหลว เพราะการเปรียบเทียบจะถูกพิสูจน์ว่ามันผิดฝาผิดตัว ทฤษฎีในช่วงเวลาหนึ่งช่วยแก้ปัญหาแค่ในช่วงเวลาของมันเท่านั้น”

 

อ้างอิง