©ulture

สถานการณ์วิกฤติเรือขนส่งสินค้า ‘Ever Given’ (เอเวอร์ กิฟเวน) ขวางคลองสุเอซเมื่อเดือนก่อนนั้นทำเอาระบบการขนส่งทางเรือปั่นป่วนไปทั่งโลก

จนหลายประเทศต้องตั้งโต๊ะหารือกันยกใหญ่ว่าจะพึ่งพาคลองสุเอซในการเชื่อมต่อโลกการค้าระหว่างยุโรป-เอเชียเป็นหลักอย่างเดิมดีหรือไม่ เป็นเรื่องเป็นราวขนาดรัสเซียถึงกับเริ่มรุดแผ่นพัฒนาเส้นทางขนส่งทางทิศเหนือผ่านทางทะเลอาร์กติกไว้สำรองเผื่อเกิดเหตุการณ์ลมเพลมพัดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ภาพจำลองเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า ‘Ever Given’ ขวางคลองสุเอซ
photo: Corona Borealis Studio

นอกจากความปวดหัวระดับนานาชาติ บรรดาผู้ส่งออกสินค้าทั้งรายย่อยรายใหญ่ต่างก็กุมขมับกับสถานการณ์เรือขวางคลองไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร-อาหารที่ต้องทำเวลาในการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพจนถึงมือผู้บริโภค เรียกว่าเรือขวางคลองครั้งเดียวสั่นสะเทือนแทบทุกวงการ และชวนให้เราหันกลับมาสนใจการขนส่งระดับโลกกันอีกครั้งว่ามันผูกโยงกับชีวิตและวัตถุดิบบนโต๊ะอาหารของเรามากน้อยแค่ไหน

 

1. 

แน่นอนว่าการค้าและการเดินทางทำให้อาหารของเราเต็มไปด้วยสีสัน แต่ถ้าถามว่าคนในอดีตรู้จักต้นทางของวัตถุดิบในจานมากแค่ไหน เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์เองก็ไม่อาจไขข้อสงสัย พูดได้เพียงว่าคนส่วนใหญ่รู้คร่าวๆ ว่าวัตถุดิบเหล่านั้นส่งตรงมาจาก ‘ท่าเรือ’ ที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล และหนึ่งในท่าเรือใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการค้ามาตั้งแต่ยุคโบราณ คงหนีไม่พ้นท่าเรือ ‘อเล็กซานเดรีย’ บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ ท่าเรือโบราณที่เป็นเหมือนจุดกำเนิดของหลายเรื่องราวบนโต๊ะอาหาร กว่านั้นยังเป็นสะพานเชื่อมมายังคลองสุเอซในปัจจุบันด้วย

ท่าเรือ ‘อเล็กซานเดรีย’ บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำไนล์ของอียิปต์

เพราะหากหมุนเข็มนาฬิกากลับไปราวๆ 2 พันปี ห่างจากกรุงไคโรไม่กี่ไมล์ทะเลคือที่ตั้งของเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าที่คราคร่ำด้วยพ่อค้าทั้งชาวอาหรับ ชาวอียิปต์ ชาวยุโรป เรื่อยไปถึงชาวจีนและอินเดีย เรือขนส่งสินค้าจอดเป็นทอดไปตามริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนเป็นแนวยาว กลิ่นเครื่องเทศลอยฟุ้งไปทั่วแถบชายฝั่ง เหล่าพ่อค้าจับกลุ่มกันพูดคุยถึงราคาสินค้าประจำวันรวมถึงจำนวนภาษีที่พวกเขาต้องจ่ายให้กับนายอากรเพื่อเดินเรือผ่านไปยังยุโรป

ภาษีดังกล่าวคือ อเล็กซานเดรีย ทาริฟฟ์(Alexandria Tariff) โดยบันทึกของชาวโรมันจากศตวรรษที่ 15 ระบุถึงประเภทสินค้า 54 ชนิดที่ถูกจัดประเภทเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและต้องจ่ายภาษีสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ไว้ว่า หนึ่งในทั้งหลายเหล่านั้นคือเครื่องเทศกลิ่นหอมแรงจากโลกตะวันออก ไม่ว่าจะกระวาน กานพลู อบเชย พริกไทย ดีปลี ล้วนเป็นของดีราคาแพงที่ชาวยุโรปฝันถึง และพิเศษถึงขนาดเกิดการสร้างคำในภาษาละตินเรียกเหล่าเครื่องเทศว่า ‘Species’ อันเป็นรากศัพท์ของคำว่า Spice ในภาษาอังกฤษ และเป็นต้นทางของคำว่า Special และ Especially ที่หมายถึงความพิเศษที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

Photo: Mazur Travel

นอกจากเครื่องเทศ สินค้าอีกชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ ‘กาแฟ’ ที่มีแหล่งปลูกใหญ่อยู่ในดินแดนอาหรับ ว่ากันว่ากาแฟอาหรับยุคนั้นถูกคั่วจนเข้มก่อนบรรทุกลงลำเรือส่งตรงไปยังยุโรป แต่ไม่ใช่ว่าชาวยุโรปชอบดื่มกาแฟขมๆ เข้มๆ แต่อย่างใด ทว่าเป็นเพราะชาวอาหรับกังวลใจว่าเมล็ดกาแฟดิบจะไป

เติบใหญ่ในแผ่นดินตะวันตก และทำให้ธุรกิจกาแฟของพวกเขาพังไม่เป็นท่า

Photo: KingJC

ความรุ่งเรืองของการค้าทางเรือแถบทะเลแดงนั้นได้รับแรงส่งจากทั้งความเชื่อของโลกโบราณที่มองเครื่องเทศเป็นสิ่งพิเศษที่เทพเจ้ามอบให้ และจากความรู้เรื่องการเดินเรือที่ค่อยๆ ถูกถ่ายทอดจากกะลาสีชาวอาหรับสู่กะลาสีชาวอเล็กซานเดรีย โดยเฉพาะเรื่อง ‘ลมสินค้าตามฤดูกาล’ ที่จะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลแดงไปทางทิศตะวันออกช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และทำให้เรือสินค้าวิ่งตรงจากทะเลแดงสู่อินเดียตอนใต้ได้โดยไม่ต้องผ่านคาบสมุทรอาหรับ พ่อค้าคนกลางชาวอาหรับที่เคยกุมความลับเรื่องทิศทางลมไว้แต่ผู้เดียวจึงลดความสำคัญลง สวนทางกับพ่อค้าชาวยุโรปที่มีอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ

 

2.

เส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตก-ตะวันออกตลอดหลายพันปีนั้นหล่อหลอมวัฒนธรรมอาหารของหลายดินแดน โดยเฉพาะดินแดนรอบเส้นทางการค้าที่รับเอาทั้งวัตถุดิบและวิถีชีวิตของผู้คนหลายชนชาติหลากความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเมืองท่าใหญ่อย่างอียิปต์ที่นอกจากจะมีวัฒนธรรมของตัวเองที่แข็งแรงอยู่แล้ว ยังโอบรับวัฒนธรรมอื่นเข้ามาผสานในครัวตัวเองอย่างน่าสนใจ

จอร์จ แซนดีส์ (George Sandys)

ดังที่ จอร์จ แซนดีส์ (George Sandys) นักเดินทางชาวอังกฤษผู้มาเยือนอียิปต์ในศตวรรษที่ 17 บันทึกไว้ว่า “ถึงจะไม่มีโรงดื่มเหล้า แต่พวกเขาก็มีร้านกาแฟให้มานั่งพูดคุยกันได้ทั้งวัน พลางจิบเครื่องดื่มในถ้วยกระเบื้องเคลือบจีน สีของมันดำอย่างกับถ่าน และมีรสชาติที่คาดไม่ถึง”

Photo: Alexandros Michailidis

แน่นอนว่าเครื่องดื่มนั้นคือกาแฟอย่างไม่ต้องสงสัย และภาพการดื่มกินในร้านกาแฟดังกล่าวนั้นก็ฉายอยู่ในอียิปต์มาตั้งแต่สมัยท่าเรืออเล็กซานเดรียยังคงรุ่งเรือง ต่อเนื่องมาถึงยังปัจจุบันที่ร้านกาแฟยังเป็นสถานที่รวมตัวสำคัญของชาวอียิปต์และชาติอาหรับใกล้เคียง ทว่าที่ต่างไปสักหน่อยคงเป็นรสชาติกาแฟที่หลากหลายและซับซ้อนขึ้นกว่าหลายพันปีก่อน เมื่อแหล่งปลูกกาแฟขยับขยายจากโลกอาหรับสู่อเมริกาใต้และอินโดนีเซีย เมล็ดกาแฟที่บรรทุกใส่ลำเรือผ่านมายังทะเลแดงจึงมีทั้งเมล็ดดิบและเมล็ดคั่ว อุดมด้วยกลิ่นรสอันหลากหลายตามรสนิยมคอกาแฟ

Photo: Anna Shepulova

ไม่เพียงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเท่านั้นที่เข้มข้นอยู่ในอียิปต์ แต่อาหารหนักเครื่องเทศก็ถูกส่งต่อสูตรกันมาตั้งแต่ยุคการค้าเครื่องเทศเฟื่องฟู และจานหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ ‘ฟาลาเฟล’ (falafel) หรือถั่วบดปั้นก้อนทอด กินเคียงกับซอสรสเปรี้ยวอมหวานทำจากโยเกิร์ตผสมสมุนไพรสด เป็นจานปราศจากเนื้อสัตว์ที่อุดมด้วยโปรตีนและพลังงานที่ชาวตะวันออกกลางโปรดปรานมานับพันปี ทว่าความพิเศษของฟาลาเฟลตำรับลุ่มแม่น้ำไนล์นั้นอยู่ตรงนิยมใช้ ‘ถั่วปากอ้า’ (fava bean) มากกว่าถั่วลูกไก่ (chickpea) อย่างฟาลาเฟลสูตรอาหรับหรือเมดิเตอร์เรเนียน เป็นจุดสังเกตสำคัญอันสะท้อนความรุ่มรวยของชาวเมืองท่าได้อย่างดี ด้วยถั่วปากอ้าคือสินค้าเกษตรสำคัญบนเรือสินค้าที่ล่องผ่านทะเลแดง ต่อเนื่องมายังแม่น้ำไนล์ ส่งต่อไปยังท่าเรืออเล็กซานเดรีย ก่อนจะกระจายอยู่ในครัวของชาวยุโรปมาจนถึงวันนี้

Photo: MikeDotta

ปัจจุบันรสชาติอย่างอียิปต์ก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากการค้าและการเดินทางอยู่เช่นเดิม ด้วยภูมิประเทศของเมืองท่าที่เชื่อมต่อเอเชียและยุโรป ทั้งยังมีพรมแดนติดกับโลกอาหรับ ยังไม่นับพ่อค้าหลากเชื้อชาติที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำไนล์และตลอดระยะทางของคลองสุเอซตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกหากรสชาติในร้านกาแฟของอียิปต์จะปรากฎฟาสต์ฟู้ดจานเด็ดจากอเมริกา โรตีจากอินเดีย กาแฟจากอินโดนีเซีย และฟาลาเฟลที่ทำจากถั่วลูกไก่แบบเมดิเตอร์เรเนียน… รสชาติที่ชาวอียิปต์ยุคใหม่อาจคุ้นลิ้นไม่แพ้ฟาลาเฟลตำรับประจำบ้านก็เป็นได้

 

อ้างอิง

  • ทอม สแตนเดจ. (2551). ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว (คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ทอม สแตนเดจ. (2554). ประวัติศาสตร์กินได้ (โตมร ศุขปรีชา, ผู้แปล). กรงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์.