“เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญสิ้นเผ่าพันธ์ุครั้งใหญ่ แต่ทั้งหมดที่คุณสามารถพูดถึงก็คือเงิน และนิทานชวนฝันถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด พวกคุณกล้าดียังไง!”
กันยายน ปี 2019 ไม่กี่เดือนก่อนการกำเนิดของโรคระบาดโควิด-19 นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ขึ้นพูดในงาน UN Climate Summit ณ กรุงนิวยอร์ก คำพูดของเธอเต็มไปด้วยอารมณ์และทรงพลัง
แต่ก็อาจดูผิดไปจากสามัญสำนึกอยู่พอสมควร ยิ่งกับประเทศด้อยพัฒนาที่ยังไม่เคยสัมผัสคำว่า ‘พัฒนา’ อย่างแท้จริง หากเราจะพูดถึงคำว่า ‘Degrowth’ ที่แปลอย่างรวบรัดได้ว่า ‘การลดความเติบโต’ หรือ ‘หยุดโต’ และให้เลิกคิดเรื่องเงิน ในเมื่อสำหรับบางพื้นที่ ความเจริญยังไม่เคยมาถึงเลยด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้เราพูดถึงทุนนิยม (capitalism) ที่มีฐานสำคัญจากระบบผลิต (productivism) ว่ามันเป็นปัญหาของหลายๆ อย่าง มันเผาผลาญทรัพยากรโลกด้วยอัตราเร่งน่าหวาดหวั่น เราเติบโต เดินไปข้างหน้า แต่ยิ่งเจริญ—ในความหมายของการแปรผลออกมาเป็นตัวเลข เช่น GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เท่าไร ดูเหมือนสิ่งที่ต้องแลกและกลายมาเป็นเครื่องบูชายัญ คือโลกทั้งใบที่แบกรับการพยายามพุ่งไปสู่ความโชติช่วงของมนุษย์ไม่ไหวอีกแล้ว
แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อใครๆ ก็อยากเติบโต อยากใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย แถมการผลิตและบริโภคยังช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรม หรือการเข้าถึงโอกาสที่หลากหลาย ยังไม่นับกับบางคนในบางพื้นที่ ที่สิ่งที่พวกเขามีอยู่ในตอนนี้ยังห่างไกลจากคำว่าพัฒนาหรือเติบโตอย่างแท้จริง เมื่อปัจจัยพื้นฐานแทบยังไม่ ‘เพียงพอ’ และคงไม่มีใครอยากกลับไปใช้ชีวิตในถ้ำเหมือนมนุษย์ยุคหิน การออกมาพูดถึงเรื่อง Degrowth ของประเทศที่เจริญอยู่แล้ว จึงอาจถูกมองเป็นการเอาเปรียบประเทศยากจนที่กำลังเร่งพัฒนาให้เทียบเท่าพวกเขา
แต่ก่อนที่จะไปไกลจนเกิดดราม่าที่ไม่จำเป็น เราขอยกนิยามแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบ Degrowth ที่ถูกอธิบายไว้อย่างเข้าใจง่ายโดยนักมานุษยวิทยาเชิงเศรษฐศาสตร์ เจสัน ฮิคเคิล (Jason Hickel) มาให้อ่าน
“Degrowth คือแผนการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรส่วนเกินในประเทศร่ำรวย เพื่อนำเศรษฐกิจกลับสู่ความสมดุลของโลก ขณะเดียวกันมันคือการลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อชีวิตที่รุ่งเรือง ยืนยาว และแข็งแรงของผู้คน”
อธิบายด้วยนิยามนี้ Degrowth จึงดูดีขึ้นมาหน่อย เมื่อหลักคิดของมันไม่ได้พูดถึงการลดความเติบโตของทั้งโลก หรือบอกให้ปัจเจกหยุดทะเยอทะยานในการจะมีชีวิตที่ดี แต่มันกำลังพูดเรื่องของระบบและโครงสร้าง อธิบายถึงการลดเป้าหมายตัวเลขการเติบโตซึ่งอาจเกินพอดีของ ‘ประเทศร่ำรวย’ เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดกลับสู่สมดุล และส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมในชีวิตและการเข้าถึงทรัพยากร ‘มวลรวม’ ของผู้คน โดยเฉพาะในประเทศที่ยังยากไร้
ในโลกของทุนนิยม นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องซื้อหาเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต อาจด้วยการโฆษณา อาจด้วยเทคนิคทางการตลาด หรืออาจเป็นความปรารถนาเบื้องลึกในตัวมนุษย์ (ซึ่งคงไม่ผิดอะไร) มันจึงทำให้เกิด ‘การบริโภคเกินจำเป็น’ ที่กลายเป็นการซื้อและครอบครองเพื่อการยอมรับจากคนอื่น หรือเป็นตัวแทนของความสำเร็จบางอย่าง (ซึ่งคงไม่ผิดอะไรอีก) ทว่าขณะเดียวกัน การผลิตเกินพอดีและการบริโภคเกินจำเป็น ซึ่งพันตูเป็นงูกินหางนี้ กลับสวาปามทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างมหาศาล จนนำมาสู่ปัญหา ที่ชัดหน่อยก็น่าจะเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ที่ต้องยอมรับว่าหนึ่งในตัวการสำคัญของปัญหาคือระบบอุตสาหกรรมขนาดมหึมานั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการลดการเติบโต
แนวคิด Degrowth เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยในปี 1972 ‘สโมสรแห่งโรม’ (Club of Rome) องค์กรระหว่างประเทศที่รวบรวมสมาชิก 100 คนจากผู้นำประเทศ ผู้บริหารองค์กรระดับสูง นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งว่ากันว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของโลก เรียกความสนใจจากสาธารณะด้วยรายงานหัวข้อ ‘ข้อจำกัดในการเติบโต’ (Limits to Growth) ที่แสดงให้เห็นผลการคำนวณว่า หากเรายังเดินหน้าเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคในระบบทุนนิยมต่อไป ทรัพยากรจะถูกใช้จนหมด และทำนายว่าเศรษฐกิจโลกจะล่มสลายในปี 2030
คำนายเมื่อเกือบ 50 ปีก่อนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งชัดเจนเมื่อโรคระบาดโควิด-19 ได้เปิดเผยจุดอ่อนหลายประการของระบบทุนนิยมที่ยึดติดอยู่กับคำว่า ‘เติบโต’ เช่น ระบบสาธารณะสุขที่พิกลพิการ แนวคิด Degrowth จึงถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคมปี 2020 ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์มากกว่า 2,000 คน ได้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ตั้งคำถามต่อทิศทางของสังคมโลก
“ระบบที่ฝังรากในการแสวงหาผลประโยชน์จากมนุษย์และธรรมชาติซึ่งนำมาสู่วิกฤติที่รุนแรงถูกมองเป็นเรื่องปกติมาตลอด แม้เศรษฐกิจโลกจะสามารถผลิตสิ่งต่างๆ ได้มากมายกว่าที่เคยเป็น แต่มันก็ล้มเหลวในการดูแลมนุษยชาติและโลก แทนที่จะเป็นการสะสมความมั่นคั่งในทางกลับกันโลกกลับถูกปล้น เด็กเป็นล้านคนตายไปในทุกปีจากสาเหตุที่ควรจะป้องกันได้ ผู้คนกว่า 820 ล้านคนอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศกำลังถูกทำให้เสื่อมถอย ก๊าซเรือนกระจกยังคงพุ่งสูง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเลวร้าย”
โดยในจดหมายได้เสนอว่า Degrowth คือทางออกของวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ พวกเขาเรียกร้องให้ยกเครื่องเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสียใหม่ เพราะไม่เชื่อในกลยุทธ์ที่ปล่อยให้แรงขับเคลื่อนของตลาดเยียวยาวิกฤติ เช่น การหวังว่าผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่สร้างมลพิษจะล้มหายไปเอง จากความต้องการของตลาดที่ลดลงจากเทรนด์ของตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) อีกต่อไป ทั้งนี้ในจดหมายได้เสนอ 5 หลักการที่เชื่อว่าจะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ดังนี้:
1.ให้ชีวิตเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ : แทนที่มุ่งเน้นอัตราการเติบโตและผลผลิตที่สูญเปล่า เราต้องมุ่งมั่นกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล การทหาร และการโฆษณาต้องถูกยุติบทบาทอย่างเร็วที่สุด โดยเราต้องสนับสนุนในเรื่องอื่นๆ แทนที่ เช่น ระบบสาธารณะสุข การศึกษา พลังงานหมุนเวียน และการเกษตรเชิงนิเวศ
2.ประเมินใหม่อย่างจริงจังว่าอาชีพใดคืออาชีพที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ดีของทุกคน : โดยมุ่งเน้นไปที่อาชีพประเภทผู้ดูแล และการให้ค่าอย่างเพียงพอต่ออาชีพที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจำเป็นกับวิกฤตินี้ คนงานของโรงงานอุตสหากรรมที่ทำร้ายโลกต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อเข้าทำงานในสายงานที่ถูกปฏิวัติให้ป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อจะรับประกันได้ว่าการเปลี่ยนงานนั้นจะเป็นไปอย่างยุติธรรม โดยรวมคือ เราต้องลดชั่วโมงการทำงานลง และวางแผนแบ่งงานอย่างเป็นระบบ
3.จัดระเบียบสังคมโดยยึดหลักการกระจายสินค้าและบริการที่จำเป็น : เราต้องลดปริมาณการบริโภคที่ไม่จำเป็นลง แต่เรื่องของปัจจัยพื้นฐาน เช่น สิทธิในการเข้าถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย และการศึกษา ทุกคนจำเป็นต้องได้รับสิ่งเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน ผ่าน ‘บริการพื้นฐานสากล’ หรือ ‘แผนรายได้ขั้นพื้นฐานสากล’ นอกจากนี้อัตรารายได้ขั้นต่ำและอัตรารายได้สูงสุดจะต้องถูกกำหนดอย่างเป็นประชาธิปไตย
4.ทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตย : ซึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอะไรก็ตามที่ส่งผลต่อชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนชายขอบมีส่วนรวมมากขึ้น รวมถึงการนำหลักการแบบสตรีนิยมเข้าสู่ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ อำนาจของบริษัทและภาคการเงินระดับโลกจำเป็นต้องถูกลดทอนผ่านการถือครองและการควบคุมในแบบประชาธิปไตย ในภาคที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพื้นฐาน เช่น พลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และการศึกษาจำเป็นต้องถูกลดสถานะของการเป็นสินค้า (decommodified) และลดความสำคัญในฐานะการเติบโตในเรื่องการเงินลง (definancialised) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือ เช่น สหกรณ์แรงงาน ควรได้รับการสนับสนุน
5.วางระบบเศรษฐกิจและการเมืองอยู่บนหลักการของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน : การจัดสรรทรัพยากรเสียใหม่ และการสร้างความยุติธรรมระหว่างชาติ ระหว่างกลุ่มก้อนที่หลากหลาย ระหว่างเจนเนอเรชั่น ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกัน ของทั้งคนรุ่นปัจจุบัน คนในอนาคต กลุ่มก้อนทางสังคม ตลอดจนประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต้องยุติการแสวงหาผลประโยชน์ในปัจจุบัน และเร่งซ่อมแซมผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต
แน่นอนว่าเมื่ออ่านหลักการทั้ง 5 ข้อจบ คำถามมากมายก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว เพราะข้อเสนอนั้นยังค่อนข้างเป็นอุดมคติที่จับต้องยาก และยังไม่มีรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมากพอ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโลกที่กำลังล่มสลาย และการล่มสลายนั้นก็มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการจะโตขึ้นอยู่เสมอ จนไม่ทันหยุดคิดว่าเราได้พรากธรรมชาติของโลกใบนี้ไปมากมายเพียงใด การตื่นตัวของแนวคิดแบบ Degrowth จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เพราะถึงที่สุดแล้ว Degrowth อาจไม่ใช่แค่ ‘การลดความเติบโต’ หรือ ‘หยุดโต’ ทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่มันคือแนวคิดแบบยุคหลังการเติบโต (post-growth) ที่จะพาเราหลุดออกจากการมัวเมาเสพติดตัวเลขของความเติบโตที่ระบบทุนนิยมพร่ำสอนมาโดยตลอด มันคือความทะเยอทะยานที่จะพามนุษยชาติไปสู่การ ‘เติบโตรูปแบบใหม่’ ที่ไม่ได้ให้ค่าแค่กับตัวเลข แต่เป็นการให้ค่ากับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสังคมโลก
“การเติบโตเพียงเพื่อผลประโยชน์ของการเติบโตคือระบบคิดแบบเซลมะเร็ง” เอ็ดเวิร์ด แอบบีย์ (Edward Abbey) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน เคยกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ให้ค่ากับการเติบโตของตัวเลขไว้อย่างเจ็บแสบเช่นนั้น
อ้างอิง
- CNBC International CNBC International. Degrowth: Is it time to live better with less? | CNBC Explains. https://youtu.be/Ia8u5P0KbPQ
- Rebecca Boyle. MIT Predicts That World Economy Will Collapse By 2030. https://bit.ly/3zHg7sn
- Geneviève Azam. From Growth to Degrowth: a brief history. https://nyti.ms/3vYo8Hf
- degrowth.info Degrowth: New Roots for the Economy. https://bit.ly/3qc97zk