©ulture

ถ้าไม่เคยเป็นเซียนโป๊กเกอร์มาก่อน ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) อาจไม่มีชื่อบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นอดีตประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา

ก่อนจะลงเล่นการเมือง ในช่วงทศวรรษ 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นิกสันกำลังรับใช้ชาติในฐานะทหารเรือ และในกองทัพที่เขาประจำการอยู่นั่นเอง ที่นิกสันได้เรียนรู้ศาสตร์ของโป๊กเกอร์ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว มันคงเป็นมากกว่าเกมการพนันที่มีไพ่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทว่ามันคือชีวิตทั้งชีวิตในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ริชาร์ด นิกสัน ในวัยหนุ่ม Photo: https://cdn10.picryl.com/photo/1943/01/01/richard-nixon-in-naval-uniform-stands-in-front-of-a-military-aircraft-in-espiritu-2eb300-1600.jpg

หลังปลดประจำ เขาหอบเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ จากการแข่งขันโป๊กเกอร์กลับบ้านเกิด ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากพอที่เขาสามารถใช้หาเสียงในเคมเปญเลือกตั้งของตน จนเข้าไปนั่งในสภาคองเกรสสำเร็จในปี 1946

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในตอนที่เขาเพิ่งทำความรู้จักกับโป๊กเกอร์ แม้นิกสันจะเห็นว่าผลตอบแทนของเกมการพนันรูปแบบนี้หอมหวาน แต่เขาก็แสดงวิสัยทัศน์ออกมาด้วยการไม่เลือกรีบกระโจนเข้าสู่เกมชนิดนี้แบบทันทีทันใด นิกสันศึกษามันอย่างรอบคอบเป็นอันดับแรก เขานั่งลงข้างๆ ผู้เล่นที่ดีที่สุดที่สามารถหาได้ในกองทัพเรืออยู่หลายวัน ตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้เล่นหน้าเก่าสอน ศึกษาวิธีการ และฝึกเล่นโดยยังไม่ลงเงินเดิมพัน ก่อนตัดสินใจก้าวเข้าสู่สังเวียนเต็มตัวเมื่อมั่นใจว่าเข้าใจมันมากพอ

นักประวัติศาสตร์นาม เคน ฮิวส์ (Ken Hughes) ผู้ศึกษาชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับนิกสันแล้ว เขาอาจไม่ได้มองโป๊กเกอร์เป็นแค่เกม แต่มันคือทักษะที่ต้องฝึกฝน เพื่อใช้ในการทำกำไร 

“ผมคิดว่าวิธีการที่นิกสันเข้าสู่การเล่นโป๊กเกอร์แสดงให้เห็นถึงความมีวินัยในตัวเอง และความมุ่งมั่นในการจะประสบความสำหรับซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของเขา”

เปรียบไปก็เหมือนทุกย่างก้าวในชีวิต ที่เราต้องคิดหน้าคิดหลังอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้ง เราจะกำหนดจุดเริ่มต้นด้วยตัวเองไม่ได้ก็ตาม

เกมโป๊กเกอร์เริ่มต้นที่ดวง แต่วิธีการตอบสนองของเราคือตัวแปรที่จะทำให้เอาชนะโชคชะตา

โป๊กเกอร์ตั้งต้นจากการแจกไพ่ 2 ใบให้แก่ผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าจุดสตาร์ตของมันยืนอยู่บนพื้นฐานของดวง ทว่านั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะแท้จริงแล้ว โป๊กเกอร์เอาชนะกันด้วยไพ่ทั้งสิ้นจำนวน 5 ใบที่จะถูกแจกวนไปในภายหลัง มันจึงมีความน่าจะเป็นเกิดขึ้นได้อีกมากมาย ซึ่งระหว่างการเล่น ผู้เล่นต้องอ่านเกมของคนอื่นๆ ตลอดเวลา ทั้งเพื่อจะใช้หลักจิตวิทยาทำให้อีกฝ่ายยอมแพ้ทั้งที่ยังไม่เห็นไพ่ในมือของกันและกัน หรือการพยายามเล่นเซ่อเพื่อเรียกเดิมพันที่สูงขึ้น

การพยายามทำให้ถูกอ่านออกได้ยากที่สุดจึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งของโป๊กเกอร์ อย่างที่เราน่าจะคุ้นหูกับคำว่า ‘poker face’ ในภาษาอังกฤษ ที่มักเอามาใช้กับการไม่แสดงสีหน้าเพื่อปกปิดความรู้สึกลึกๆ หรือความลับบางประการ

“ผมพบว่าโป๊กเกอร์มีประโยชน์ในเรื่องของความบันเทิงพอๆ กับการสร้างผลกำไร” ริชาร์ด นิกสันเขียนถึงโป๊กเกอร์ไว้ในหนังสือ RN: The Memoirs of Richard Nixon ของเขาเช่นนั้น

ริชาร์ด นิกสัน

จากคำบอกเล่าของนิกสัน จึงพออนุมานได้ว่าเขาไม่ได้คิดว่าโป๊กเกอร์คือเรื่องของดวงเพียงอย่างเดียว แม้ว่าโอกาสที่จะเกิด ‘รอยัลสเตรทฟลัช’ ที่ผู้เล่นจะมีไพ่ 5 ใบประกอบด้วย A , K , Q , J , 10 ดอกเดียวกัน ซึ่งนับเป็นคะแนนสูงสุดของโป๊กเกอร์นั้น จะเกิดขึ้นได้แค่ 1 ใน 649,740 ครั้ง แต่อย่างน้อย ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่สามารถคำนวณออกมาได้เช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นถึง ‘ความน่าจะเป็น’ จำนวนมากที่จะเกิดขึ้นได้ การใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อมาคาดคะเนความเสี่ยง หรือกระทั่งการใช้ ‘หลักจิตวิทยา’ ปลุกปลอบตัวเอง และอ่านใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น นอกจากถูกมองเป็นเกมการพนัน โป๊กเกอร์จึงถูกนับเป็น ‘กีฬาทางปัญญา’ ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับหมากรุก โดยได้รับการรับรองจากสมาคมกีฬาทางปัญญานานาชาติ (International Mind Sports Association) อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 ซึ่งทำให้นักเล่นโป๊กเกอร์สามารถเรียกตัวเองว่า ‘นักกีฬา’ (athletes) ได้เต็มภาคภูมิ

ทั้งนี้ วิธีการเล่นหลากหลายกระบวนท่าของโป๊กเกอร์ เช่น หมอบ (fold), การเลือกเล่นต่อ (call), การเพิ่มเดิมพัน (raise), การเกทับ (bluff) หรือกระทั่ง การเทหมดน่าตัก (go all in) ก็ดูจะเป็นอุปมาชั้นดีที่สามารถนำมาผสมผสานสร้างกลยุทธ์เฉพาะตัวในการดำเนินชีวิตในโลกความจริงได้อีกด้วย…

หมอบ: โป๊กเกอร์เป็นเรื่องของการอ่านเกม ว่าเมื่อไหร่ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ มันเหมือนชีวิต ที่เป็นเรื่องของการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้าอย่างเหมาะสม ซึ่งกลยุทธ์หมอบนั้นสมควรจะเกิดขึ้นเมื่อพิจารณาแล้วว่าไพ่ในมือของเราไม่มีศักยภาพมากพอจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เพื่อเป็นการตัดความเสี่ยงของการสูญเสียออกไปตั้งแต่ต้น เพราะบางครั้ง ‘การรอคอย’ ทิศทางลมอันเหมาะสมอย่างอดทน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นลูซเซอร์เสมอไป

การเลือกเล่นต่อ: การก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จหรือชัยชนะคือการบริหารจัดการ ‘ความเสี่ยง’ และ ‘รางวัล’ ที่จะได้รับ การเลือกเล่นต่อด้วยเงินเดิมพันเท่ากับผู้เล่นที่เพิ่งวางเงินก่อนหน้าเพื่อให้เรายังคงอยู่ในเกมต่อไป จึงเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่เราจะกลายเป็นผู้ชนะ โดยไม่ตัดโอกาสของตัวเองด้วยการยอมแพ้และหมอบไปง่ายๆ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองสู้ดู มันเป็นการซื้อเวลาให้เราสามารถพิจารณาและตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเลือกวางเพิ่มเดิมพันที่สูงขึ้น หรือจะถอยแบบไม่เจ็บตัวมากนัก หรือกระทั่ง เมื่อเรามีไพ่ที่ดีอยู่ในมือ การใช้ poker face ทำเป็นหน้าตาย และเลือก call ต่อไปแทนที่จะเพิ่มเงินเดิมพัน ก็ยังถือเป็นการแกล้งเซ่อเพื่อทำให้คู่ต่อสู้ตกหลุมพราง ยอมเสี่ยงวางเงินเดิมพันที่สูงขึ้น ซึ่งดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีอย่างหนึ่ง

นิกสันเคยเล่าว่า ระหว่างการเล่นโป๊กเกอร์ครั้งหนึ่ง เขาได้รอยัลสเตรทฟลัช “โอกาสที่จะได้ไพ่แบบนี้คือ 1 ต่อ 650,000 และจริงๆ แล้วผมโคตรจะตื่นเต้นเลย แต่ผมก็เล่นต่อไปด้วย poker face ก่อนจะชนะได้รับเงินมหาศาล”

Photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0a/Thomas_Hart_Benton%2C_Poker_Night_%28from_A_Streetcar_Named_Desire%29%2C_1946_1_15_18_-whitneymuseum_%2840268444184%29.jpg

การเพิ่มเดิมพัน: แน่นอนว่าการวางเดิมพันที่สูงขึ้น ย่อมนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งตามสามัญสำนึกเราอาจคิดว่า การเกทับเพิ่มเดิมพันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้เล่นกำลังถือไพ่ที่ศักยภาพเท่านั้น แต่โลกความจริงและโลกของโป๊กเกอร์นั้นเหมือนกัน ตรงที่ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีใครเห็นไพ่ในกำมือของเรา ก็จะไม่มีคนรู้ว่าเรากำลังถือไพ่แย่ๆ อยู่หรือเปล่า ดังนั้น โอกาสพลิกเกมก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ การเพิ่มเดิมพันจึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้หลอกล่อกันไปมา เพื่อเอาชนะโชคชะตาที่เกิดจากดวงในไพ่ที่ถูกแจกมาให้สองใบแรก อย่างที่นักเขียนนิยายชื่อก้องอย่าง แจ็ค ลอนดอน (Jack London) กล่าวไว้

“ชีวิตมันไม่ใช่เรื่องของการถือไพ่ดีๆ ในกำมือเสมอไป แต่บางครั้ง มันคือการเล่นไพ่ด๋อยๆ ในมืออย่างชาญฉลาด”

การเกทับ: โลกของโป๊กเกอร์คล้ายการแข่งขันในโลกจริง ตรงที่มีผู้เล่นหลายคนโต้ตอบกันไปมา และในชีวิตนี้ เราก็น่าจะเคยต้องใช้กลยุทธ์เกทับ หรือการบลัฟเพื่อพลิกให้ตัวเองกลายเป็นฝ่ายเหนือกว่ากันมาบ้าง นี่คือศิลปะชั้นสูง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโต๊ะโป๊กเกอร์เท่านั้น แต่มันยังสามารถเกิดได้บนโต๊ะสัมภาษณ์งาน การเจรจาธุรกิจ และแน่นอนการพูดคุยทางการเมือง 

โดยทั่วไปแล้ว การบลัฟคือการสร้างภาพลักษณ์ให้เราดูเป็นคนที่ถือไพ่เหนือกว่าเพื่อให้อีกฝ่ายยอมหมอบ แม้ว่าในมือเราจะถือไพ่ที่ไร้ศักยภาพอยู่ก็ตาม โดยการบลัฟมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการอ่านเกมคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการวางเดิมพันที่สูงขึ้นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือการพูดข่ม หรือกระทั่งการทำเป็นเงียบขรึมเก็บอาการแบบ poker face ทว่าสิ่งที่พึงระวังก็คือการบลัฟที่ชัดเจนเกินไปย่อมทำให้คนอื่นจับผิดได้ง่ายเสมอ อย่างที่นิกสันบอกว่า “ผมเรียนรู้ว่าผู้เล่นที่กำลังถือไพ่ที่ดีคือคนที่จะพูดน้อยและทำตัวอ่อนด๋อยที่สุด ส่วนพวกที่กำลังเกทับ และพูดด้วยเสียงดัง มักจะเป็นพวกที่กำลังพ่ายแพ้” ซึ่งแน่นอนว่าผู้เล่นที่บลัฟเก่งมักจะพลิกแพลงการบลัฟของตนไม่ให้ผู้เล่นคนอื่นจับผิดได้

การเทหมดน่าตัก: การเทดหมดน่าตักอาจนับเป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงที่สุด ไม่ว่ากับโลกจริง หรือกับเกมการแข่งขัน แต่ในชีวิต บางครั้ง มันย่อมมีช่วงเวลาที่เราอยากทุ่มสุดตัวกันบ้าง เพราะผลลัพธ์ที่ได้มาในปลายทางมันอาจคุ้มค่าที่จะเสี่ยง และถึงแม้จะล้มเหลวไม่เป็นท่า อาจดูโง่เง่าในสายตาใครหลายคน แต่กับบางบริบท มันก็ยังนับเป็นความกล้าหาญที่เราจะสามารถภาคภูมิใจกับตัวเองได้อยู่ดี

ส่วนกฎง่ายๆ ทั่วไปของการเทหมดน่าตักในที่นี้ คือ มันควรเกิดขึ้นเมื่อคุณมีความมั่นใจมากพอ ไม่ว่าความมั่นใจนั้นจะมาจากไพ่ในมือ หรือจุดหมายปลายทางอันแสนหวานที่คุ้มกับทุ่มสุดชีวิตก็ตาม

มีเรื่องเล่าว่า หลังจากนิกสันหอบเงินจากการชนะโป๊กเกอร์กลับมา เขาตั้งใจจะใช้มันเพื่อซื้อบ้านสักหลัง แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจเมื่อมีโอกาสลงเล่นการเมืองเข้ามา ซึ่งดูเหมือน แพต นิกสัน (Pat Nixon) ภรรยาของเขาจะเป็นกังวลกับการเสี่ยงครั้งนี้พอสมควร โดยนิกสันเล่าว่า “แพตคลางแคลงใจในการใช้เงินเก็บของพวกเราไปกับความเสี่ยงมโหฬารของแคมเปญทางการเมือง แต่เมื่อเราคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ที่เราจะได้กลับสู่วอชิงตันในฐานะสมาชิกของรัฐสภามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความกระตือรือร้นมากเท่านั้น”

แน่นอนล่ะว่า ชีวิตมีมิติซับซ้อนมากกว่าแค่เกมการแข่งขัน แต่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย การก้าวเท้าเดินไปข้างหน้าเพื่อเป้าหมายที่วาดหวังก็ย่อมเรียกร้องให้เราต้องเสี่ยงเพื่อแลกกับอะไรบางอย่างเช่นกัน คำถามคือ เราจะเสี่ยงด้วยวิธีการใด และสิ่งที่จะได้รับกลับมามันคุ้มค่าจริงๆ หรือไม่

 

อ้างอิง

  • Patrick J. Kiger. How Nixon’s WWII Poker Game Helped Bankroll His First Run for Congress. https://bit.ly/3jhJsnz
  • CultureMap Create. How to apply poker strategies to your everyday life. https://bit.ly/3h0qBvs
  • Rai Sahib Singh Khurana & Sunny Kochar. Application of poker skills can help in dealing with real life situations. https://bit.ly/3vZwrSk