1.
ยืนชมวิวท่ามกลางฝนโปรยปรายเหนือหมู่บ้านฮัลล์สตัทท์ ประเทศออสเตรีย ผมจำได้ว่าผมร้องไห้…
ก่อนหน้านั้น การเลือกเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ พักในห้องดอร์มิโทรี่ของโฮสเทล ตั้งแต่ห้องแบบ 4 เตียงไปจนถึง 12 เตียง พานพบแค่การสบตาระหว่างกันอย่างประหม่า และหลบตาอย่างเขินอาย หรือเสียงพูดคุยทักทายเก้ๆ กังๆ และความเงียบงันชวนอึดอัดของคนแปลกหน้า ไม่เปิดโอกาสให้แก่ความอ่อนแอและน้ำตามากนัก
“คุณทำงานอะไร?” มิตรสหายหลายคนที่เพิ่งเจอกันมักถาม
“ผมเป็นฮิปปี้ครับ” ระหว่างกระดกเบียร์พูดคุยกับเพื่อนต่างชาติในสวนหย่อมของโฮสเทลแห่งหนึ่งในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก คำตอบของผมต่อคำถามของหญิงสาวชาวอังกฤษ เรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในวงสนทนา
“for a living?” เพื่อนหนุ่มชาวเนเธอแลนด์ถามย้ำ เขาอาจคิดว่าผมไม่เข้าใจ หรือไม่ คำตอบของผมก็ยังไม่ตรงคำถามมากพอ…
คำถามในภาษาอังกฤษที่ว่า What do you do for a living? ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเจาะจงถามถึง ‘อาชีพ’ นั้นน่าสนใจ
A living ที่เป็นคำนามแปลว่า ‘การดำรงชีพ’ มาจาก live ที่เป็นคำกริยาแปลว่า ‘มีชีวิตอยู่’ ราวกับการมีชีวิตไม่อาจแยกขาดจากคำจำกัดความตัวเองด้วยหน้าที่การงานพ้น ราวกับว่ามันคือส่วนหนึ่งในคุณค่าและนิยามของการเป็นมนุษย์ในศตวรรษนี้
และอาจเพราะผมเหนื่อยหน่ายกับการพยายามจำกัดความตัวเองด้วยอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ผมจึงเลือกหยิบคำที่เป็นชื่อเรียกกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของคนหนุ่มสาวผู้รักอิสระในยุค ‘60s มาใช้ ทั้งที่ก็ไม่ได้มีความรู้หรือเคยศึกษาวัฒนธรรมเหล่านั้นลงลึกแต่อย่างใด
ตอนนั้นผมลาออกจากงานประจำแล้ว ขายสมบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่มี หอบเงินเก็บทั้งชีวิตออกเดินทาง กลายเป็นคนเร่ร่อนฟูลไทม์อีกครั้ง
การเลือกบอกว่าตัวเองเป็นฮิปปี้ อย่างน้อย จึงทำให้ผมหลีกหนีความประดักประเดิด เช่นการต้องหยิบชื่ออาชีพที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นที่สุดอย่างนักเขียนมาอธิบาย ทั้งที่ช่วงนั้นผมกำลังประสบปัญหา Writer’s Block สาหัส มีนิยายเขียนค้างครึ่งๆ กลางๆ อยู่ในคอมพิวเตอร์มาเกือบปีโดยไม่แม้จะคิดเปิดไฟล์ขึ้นมาอ่าน…
2.
หลังกลับมาประเทศไทยปลายปี 2020 และเริ่มทำงานประจำกับ becommon ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์ จเด็จ กำจรเดช ในตอนที่เขาเพิ่งได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งที่ 2 (อ่านบทสัมภาษณ์ของจเด็จได้ที่) จเด็จเล่าให้ผมฟังว่า ระหว่างการเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ‘ปะแป้งไหมคะ’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น คืนปีเสือ เขาร้องไห้…
พล็อตของเรื่องสั้นตั้งต้นมาจากการที่เขาได้ดูประชุมสภาฯ นัดแรก ซึ่งมีการอภิปรายถึงความลำบากของคนจน จนประเด็นเหล่านั้นสะท้อนสะเทือนเลื่อนลั่นอยู่ในใจ
“เวลาเราเขียนถึงคนจน พูดถึงเรื่องชนชั้น แล้วมองว่าเราอยู่ตรงไหน เราพบว่าเราจะมองขึ้นไปข้างบนเสมอ เราเป็นคนข้างล่าง เป็นคนที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาทนั่น เราเป็นคนจน เราเลยรู้สึกว่า พอแล้ว การเป็นมนุษย์มันน่าจะพอได้แล้วสักที เพราะพอมีเลือดมีเนื้อมันมีแต่ลำบาก”
นั่นเองที่เขาเลือกเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์…
3.
นึกถึงคำพูดของจเด็จขึ้นมาอีกครั้ง ผมพบว่าไม่ว่าจะนิยามตัวเองว่าจน เป็นชนชั้นกลาง หรือพอมีพอกิน หลายครั้งเหลือเกินที่ผมยังเป็นมนุษย์ผู้แหงนหน้ามองขึ้นไปข้างบนอยู่เสมอ
เราพูดถึงอาชีพ และเราก็พูดถึงอัตราการเติบโตเป็นลำดับขั้น เราพูดถึงเงินในบัญชี และเราก็มองสูงขึ้นไปว่าจะทำอย่างไรให้มันงอกเงย ทุกอย่างสัมพันธ์กับความก้าวหน้าสู่ระดับที่สูงขึ้น และใช่ ไม่มีอะไรผิด โลกเป็นเช่นนั้น สังคมมนุษย์ถูกชักนำสู่โครงสร้างแบบนี้มาเนิ่นนาน ถ้าไม่มีอาชีพ เราก็จะไม่สามารถหาเงินได้ และถ้าไม่มีเงินมากพอ มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อก็มีแต่จะลำบาก
แต่ถ้าเคยอ่านเรื่องสั้น ‘ปะแป้งไหมคะ’ ของจเด็จ กำจรเดช คุณก็น่าจะพอรู้ ว่าแม้จะเปลี่ยนจากมนุษย์มีเลือดเนื้อกลายเป็นหุ่นยนต์ ก็ใช่ว่าเราจะหนีรอดจากความเจ็บปวดของการถูกบังคับให้แหงนหน้ามองข้างบนพ้น
ในการทำงานสัมภาษณ์ชิ้นท้ายๆ ก่อนจะลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2019 ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus ) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2006 เราคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องนิยามของความสุข และคุณค่าของชีวิตมนุษย์ …สิ่งที่ยูนุสบอกนั้นน่าสนใจ
เขาบอกว่า เรื่องของนิยามและคุณค่าเหล่านี้ พระเจ้าไม่ได้ประทานมาให้เราตั้งแต่ต้น เป็นมนุษย์เองที่กำหนดมันขึ้นมา และใช่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้
คนที่เติบโตมาในประเทศที่เคยมีอัตราความยากจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างบังคลาเทศ ไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดจะพูดถึงการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ใน ‘ระดับปัจเจก’ แบบพลิกความคิดชีวิตเปลี่ยนอะไรทำนองนั้น การเปลี่ยนแปลงในความหมายของยูนุสคือการเปลี่ยนใน ‘ระบบ’ และ ‘โครงสร้าง’ โดยชี้เป้าไปที่โลกทุนนิยมกินรวบผูกขาด ซึ่งบังคับให้เราทุกคนแหงนหน้าใฝ่หาการเป็นคนข้างบนอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเช้านี้เอง ผมเพิ่งผ่านตาข้อความหนึ่งในทวิตเตอร์ ที่ใครบางคนกำลังบ่นถึงการอยากใช้ชีวิตอย่างสุนทรีย์ อ่านหนังสือ ดูงานศิลปะ มองท้องฟ้า เลิกไล่ล่าค่านิยมของการลงทุนบิตคอยน์ หรือกองทุนใดๆ ที่ฮอตฮิตเหลือเกินในยุคนี้ โดยไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะตกขบวน เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อผู้มีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากการไม่ยอมแหงนหน้ามองขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
แน่อยู่แล้ว มันน่าชื่นชม ที่คนที่ชอบแหงนหน้ามองข้างบน สามารถพัฒนาตัวเอง ตามโลกทัน เติบโต และก้าวหน้าไปสู่ระดับที่สูงกว่าได้
แต่กับบางคน ที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับคุณค่าและความหมายของชีวิตเช่นนั้น ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ลำดับขั้นที่สูงขึ้นและสูงกว่ามีอยู่จริง พวกเขาพอจะมีพื้นที่ในการพร่ำบ่นกับอาการเมื่อยล้าจากการถูกบังคับให้ต้องแหงนหน้ามองข้างบนตามๆ กันไปบ้างหรือไม่
4.
ธันวาคม 2019 ผมเดินทางจากปราก สาธารณรัฐเช็ก สู่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ก่อนพาตัวเองไปหมู่บ้านท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างฮัลล์สตัทท์
ผ่านไปแล้วราวๆ หนึ่งเดือนหลังออกเดินทางมาจากประเทศไทย นับจากที่ผมทิ้งคำจำกัดความตัวตนเดิมๆ ที่ถูกผูกมัดไว้ด้วยอาชีพ แล้วจากมา
เมื่อใดก็ตามที่ถูกถามว่า “What do you do for a living?” ผมยังคงตอบไปอย่างคนละเมอโดยไม่ได้พิจารณาความหมายที่แท้จริงเสมอว่า “I’m a hippie”
กระทั่งยืนชมวิวท่ามกลางฝนโปรยปรายอยู่บนเทือกเขาเหนือหมู่บ้านฮัลล์สตัทท์ มีเวลาพิจารณาชีวิตที่ผ่านมา ผมถึงกลับรู้สึกเข้มข้นกับอะไรบางอย่างขึ้นมา สะทกสะท้านภายใน แล้วอยู่ๆ น้ำตาก็ค่อยๆ ไหลอาบแก้ม
ยากจะอธิบายว่ามันเป็นน้ำตาของความเศร้าสร้อย ระทมหดหู่ หรือปลื้มปีติยินดี แต่มาคิดเอาตอนนี้ ณ ขณะนั้น ที่ผมร้องไห้ มันก็น่าจะเพราะผมรู้สึกว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ผมได้สลัดออกจากอาการปวดคอปวดไหล่ ด้วยผมกำลังใช้ชีวิต โดยไม่ต้องคิดว่ามัน for a living หรือเพื่อการดำรงชีพหรือไม่ …ร้องไห้ เพราะผมไม่ได้กำลังแหงนหน้ามองขึ้นไปข้างบนอีกต่อไป …ร้องไห้ เพราะอาจเพิ่งตระหนัก ว่าตัวเองเคยเป็นมนุษย์ที่เอาแต่แหงนหน้ามองขึ้นไปข้างบนมาเนิ่นนานเพียงใด
แน่นอน ผมไม่อาจเปลี่ยนตัวเองเป็นหุ่นยนต์เหมือนเรื่องสั้นของจเด็จ ผมยังเป็นมนุษย์ มีเลือดเนื้อ และไม่อาจหนีขาดจากความเจ็บปวดพ้น ผมไม่ได้เป็นฮิปปี้หมดจด ยังต้องกลับมาทำงานประจำ หาเงิน วิ่งวนไปตามระบบที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง และบ่อยครั้ง ที่ผมพบว่า ผมกำลังแหงนหน้ามองไปข้างบนอย่างไม่รู้ตัวจนปวดคอปวดไหล่อยู่เสมอ
แต่บางที ก็คงเหมือนกับข้อความในทวิตเตอร์ข้อความนั้น ที่ผมอยากคิดว่ามันอาจมีวันที่เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามๆ กันไปสู่จุดที่สูงกว่า วันที่เราจะหลุดพ้นจากคำนิยามตามค่านิยมใดๆ ไม่ว่าจะด้วยฐานะ อาชีพ หรือกระทั่งการเป็นฮิปปี้ก็ตาม…
หลังจากร้องไห้บนเทือกเขาเหนือหมู่บ้านฮัลล์สตัทท์ ผมเดินทางต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน และเมื่อไรก็ตามที่ถูกถาม “What do you do for a living?” โดยไม่สนใจว่าจะทำให้มิตรสหายมึนงงหรือไม่ ผมมักตอบกลับไปในท่วงทำนองเดิมๆ แต่เลือกเปลี่ยนรูปประโยคของมันเล็กน้อยจาก “I’m a hippie” เป็น “I’m living a hippie life”
ไม่ว่าจะแหงนหน้ามองข้างบน ก้มต่ำมองข้างล่าง เหลียวไปข้างหลัง หรือเพ่งไปข้างหน้า ผมก็แค่อยาก ‘มีชีวิต’ (life) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ตัวเองปรารถนา…
5.
ผมจำไม่ได้แล้วว่าผมร้องไห้ครั้งล่าสุดเมื่อใด
และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ช่วงนี้ ผมคิดถึงน้ำตาที่ไหลออกมาโดยไม่ต้องอายใครบนยอดเขาแห่งนั้น
อาจเพราะผมกำลังรอวัน เพื่อจะได้บอกใครต่อใครเมื่อถูกถามด้วยคำถาม “What do you do for a living?” ว่า “I’m living my life”
แม้มันจะดูงงๆ และเป็นการตอบไม่ตรงคำถาม