life

นอกเหนือจาก ความฝัน ที่เราต่างหวังทำให้สำเร็จ ก็คงมีอีกหนึ่งอย่างที่ผู้คนปรารถนาว่าอยากให้เกิดขึ้นในชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นคือ ความสุข

เมื่อความสุขกลายเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต จากความเข้าใจว่าชีวิตที่มีสุขย่อมเป็นชีวิตที่ดีที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครหลายคนแสวงหาวิธีสร้างสุขด้วยวิธีต่างๆ นานา

แต่ สุข คือภาวะที่เกิดขึ้นภายในใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป การพยายามเร่งรัดหรือบังคับให้ชีวิตพบเจอแต่ความสุขตลอดเวลาเกินพอดี ซึ่งขัดแย้งกับธรรมชาติที่ควรจะเป็น ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลับกลายเป็นความทุกข์ยากมากกว่า หรือไม่ก็เป็นความสุขชั่วคราวที่เกิดขึ้นในชีวิตได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น

หากชีวิตตั้งหมุดหมายไว้ว่าความสุขเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คำถามคือพอจะมีวิธีการใดบ้างที่ทำให้เรารู้สึกสุขอย่างยั่งยืน เป็นความสุขที่คงอยู่ในใจในทุกขณะ ไม่ต้องเหนื่อยหน่ายตามหา ไม่ต้องเสแสร้งว่าตัวเองมีความสุขตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความวุ่นวายรอบตัว ที่มีแต่จะทำให้รู้สึกเคร่งเครียดซึ่งห่างไกลจากความเป็นสุขมากขึ้นทุกที

มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาเรื่อง well-being หรือภาวะสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ ซึ่งทำให้คนเราพึงพอใจในทุกด้านของชีวิตและมีความสุขกับตัวเอง รวมถึงเป็นผู้วางรากฐานศึกษาศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกหรือ Positive Psychology มีคำตอบให้คำถามนี้

เซลิกแมนแบ่งความสุขในชีวิตออกเป็น 3 แง่มุม ได้แก่

  • ชีวิตที่รื่นรมย์ คือ อารมณ์ดี เพลิดเพลินกับความสนุกในชีวิตมากเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ชีวิตที่ได้ทุ่มเท คือ ใส่ใจจดจ่ออย่างลึกซึ้งอยู่กับบางสิ่ง เช่น เลือกทุ่มเทเวลาให้งานหรือครอบครัวแล้วรู้สึกว่าเวลาหยุดนิ่ง เพราะเกิด flow หรือภาวะที่ใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่กำลังทำ
  • ชีวิตที่มีความหมาย คือ ความสุขที่มีคุณค่าที่สุด เป็นความอิ่มเอมและงอกงามทางใจ เพราะรู้เหตุผลและเข้าใจเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างถ่องแท้

ในชีวิตของแต่ละคนจะมีความสุขแต่ละแง่มุมแตกต่างกันไป แต่ชีวิตที่ได้ทุ่มเทและชีวิตที่มีความหมายย่องสร้างความสุขใจในระดับลึกซึ้งมากกว่าชีวิตที่มีแค่ความรื่นรมย์เพียงอย่างเดียว หมายความว่า ชีวิตจะยิ่งมีความสุขยืนยาวหากมีความสุขทั้ง 3 แง่มุม ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีสักแง่มุม จะรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงาและอ้างว้าง กลายเป็นคนไร้สุข

เซลิกแมนจึงเสนอมุมมองใหม่ไว้ใน The Theory of Well-Being หรือแนวคิดเรื่องความอยู่ดีมีความสุขว่า แท้จริงแล้วความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนสร้างได้เอง แต่ต้องรู้จักองค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขเสียก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิดและความเป็นอยู่ให้ชีวิตรับรู้ได้ถึงความสุขเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 5 องค์ประกอบ เรียกรวมกันว่า PERMA model หรือแบบจำลองที่ทำให้เกิดความสุขใจในชีวิต

P: Positive Emotion รู้สึกดีมีอารมณ์บวก

แม้พบเจอเรื่องแย่ๆ แต่ถ้าจัดการความรู้สึกของตัวเองได้เหมาะสมกับวุฒิภาวะ คงอารมณ์เชิงบวกอย่าง ความสงบมีสติ ความภาคภูมิใจ ความบันเทิงใจ ความตื่นเต้นเร้าใจ รู้สึกมีความหวัง มีแรงบันดาลใจ ร่วมกับมองโลกในแง่ดีไว้ได้ ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขในใจ

E: Engagement เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง

แบ่งปันช่วงเวลาในชีวิตไปอยู่กับคนที่ทำให้รู้สึกดีทุกครั้งหรือลงมือทำกิจกรรมตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่การงานที่รับผิดชอบตามหน้าที่ งานอดิเรก จนถึงเกมกีฬา ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างสมาธิและความสุขใจได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและเป็นส่วนสำคัญกับสิ่งที่ทำ

R: Relationship สานสัมพันธ์ภาพ

ความสัมพันธ์ในที่นี้คือความสัมพันธ์ที่ดีทุกรูปแบบ คนที่มีความสุขกับชีวิตจะไม่ปิดกั้นตัวเอง จึงยิ่งเปิดกว้างทำความรู้จักกับผู้คนที่ผ่านเข้ามาตลอดชีวิต มอบความรัก ความหวังดี และมิตรไมตรีต่อคนรอบข้างด้วยความจริงใจ ไม่เคยรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว เพราะมีคนดีๆ คอยเติมเต็มชีวิตไม่ให้โดดเดี่ยว และเป็นพลังใจให้ผ่านเรื่องแย่ๆ ไปได้

M: Meaning ชีวิตเปี่ยมความหมาย

ตอบคำถามว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรได้ โดยไม่จำกัดความแค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ความหมายของการมีชีวิตอยู่จะครอบคลุมถึงเพื่อนมนุษย์และสังคมวงกว้าง ส่วนหลักยึดเหนี่ยวจิตใจอื่นๆ เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา และความคิดอุดมคติ ก็มีส่วนร่วมนิยามความหมายของชีวิตให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเหมือนกัน เพราะตระหนักว่าตัวเองมีความหมาย ชีวิตจึงมีความสุขใจตามมา

A: Accomplishment พลังจากความสำเร็จ

ทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งเรื่องเล็กน้อยที่ทำได้เป็นกิจวัตร เช่น ทำงานเสร็จทันเวลา และเรื่องยิ่งใหญ่ที่บรรลุเป้าหมายตามหวังด้วยความมุมานะ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถส่วนตัว ต่างเป็นพลัง กำลังใจ ความก้าวหน้า และความสุขในรูปแบบความนับถือตัวเอง

องค์ประกอบทั้ง 5 จึงช่วยทำให้คนเราพบพานกับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตได้ ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพให้ซาบซึ้งกับความสำเร็จ เป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจโดยไม่ต้องออกวิ่งตามหาให้เหนื่อยเกินจำเป็น เพราะความสุขที่มั่นคงยั่งยืนไม่ควรทำให้ใครเหนื่อย หากยังเหนื่อย บางทีสิ่งนั้นอาจไม่ใช่ความสุขของชีวิต

 

อ้างอิง

  • Melissa Madeson. Seligman’s PERMA+ Model Explained: A Theory of Well-Being. https://bit.ly/3pf9l8e 
  • TED2004. Martin Seligman: The New Era of Positive Psychology. https://bit.ly/34NnNuJ 
  • University of Pennsylvania. Perma Theory of Well-Being and Perma Workshops. https://bit.ly/3pdihLD 
  • Seligman, M. E. P. (2013). Flourish: a visionary new understanding of happiness and well-being. New York: Atria Books.