life

หนึ่งในวิธีมูฟออนจากคนรักเก่าและความสัมพันธ์ครั้งก่อนที่เพิ่งจบลงไปหมาดๆ (โดยเฉพาะกรณีเลิกกันแบบไม่ค่อยดีนักคือการตัดสินใจเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับใครสักคน เพราะทำใจยอมรับไม่ได้หากต้องปล่อยตัวเองให้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์เหงาเศร้ากับรักที่ไม่สมหวัง

ดูเผินๆ อาจเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าจะมีประเด็นอะไร แต่แวดวงจิตวิทยากลับให้ความสนใจและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาแทนที่รักร้าวภายในเวลาไม่นานหลังเลิกรา ย่อมส่งผลต่อรูปแบบและทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคตได้ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงทำนองว่า เป็นวิธีรับมือที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ หากรักครั้งเก่าทำให้เราตั้งใจสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่แทบจะทันทีทันใด เพราะคิดว่าอย่างน้อยเขาหรือเธอผู้นั้นจะเข้ามาช่วยดามหัวใจพังๆ ให้เรา

ในทางจิตวิทยา เรียกความสัมพันธ์ลักษณะนี้ว่า Rebound Relationship ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนได้ด้วยกีฬาบาสเกตบอล

เมื่อผู้เล่นคนหนึ่งชู้ตลูกบาสพุ่งตรงไปยังแป้นในระยะที่กะไว้แล้วว่าคงลงห่วงพอดี แต่กลับพลาด ขณะที่ลูกบาสกำลังกระเด้งออกจากขอบห่วง (rebound) ก่อนตกสู่พื้นตามแรงโน้มถ่วง ผู้เล่นอีกคน (rebounder) จึงรีบวิ่งเข้ามารับลูกบาสเพื่อชู้ตซ้ำในระยะประชิด ทำให้ลูกบาสตกลงไปในห่วงได้สำเร็จ โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ คนรักเก่าคือผู้เล่นที่ชู้ตลูกบาสครั้งแรก แต่ปัญหาต่างๆ ทำให้เกิดความไม่ลงรอยระหว่างคู่รักจนต้องยุติความสัมพันธ์ไป ในช่วงนั้นเอง ทั้งๆ ที่ความรู้สึกเจ็บช้ำจากรักครั้งก่อนหน้ายังไม่จางหาย กลับมีคนใหม่ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เล่นคนที่สองเข้ามาในชีวิต โดยเราเองก็ไม่ได้ปิดกั้นใคร เพราะใจยังไม่มั่นคงพอ กลายเป็นเหตุผลที่เราใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองมองหาคนที่พร้อมเข้ามาดูแลแผลใจและช่วยกอบกู้ความรู้สึกของเราไว้ไม่ให้จมปรักกับรักครั้งเก่า

rebound relationship จึงเป็นความสัมพันธ์สั้นๆ ที่เอาไว้ ‘คั่นเวลา’ หลังบาดเจ็บ เพื่อเราจะได้พักฟื้นใจให้หายดีไวๆ ก่อนทบทวนอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับความสัมพันธ์นี้ นั่นหมายความว่า คนใหม่ที่ดึงเข้ามาข้องเกี่ยวด้วยอาจอยู่ในฐานะ ‘คนแก้เหงา’ ที่เราไม่ได้มีใจให้สักเท่าไหร่ หรือไม่ได้รู้สึกอยากจริงจังด้วยตั้งแต่แรก เพราะคิดเพียงว่าความสัมพันธ์ครั้งใหม่จะช่วยให้ตัดใจและมูฟออนได้เร็วขึ้น

และสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากขึ้นไปอีกคือ rebound relationship อาจถูกใช้เป็นเกมต่อรองความรู้สึกกับอดีตคนรักที่เลิกไปแล้วว่า ‘ชีวิตเรายังไปได้ดีแม้ไม่มีเธอ’ (ไปได้ดีในความหมายนี้ คือมีความรักใหม่ได้ในเวลาอันสั้น) ดังนั้น คนใหม่ที่เข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์ก็อาจเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในเกมความรัก

ทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเตือนสติไม่ให้เราหลงคิดว่าความรักเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะกันอย่างเดียว คือ การตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) โดยให้เวลาตัวเองได้เว้นวรรคหรือหยุดพักประมาณ 6-8 สัปดาห์ ต่อระยะเวลาความสัมพันธ์ (ล่าสุดที่เพิ่งจบลง) 1 ปี เพื่อจัดการสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในใจจากความสัมพันธ์ครั้งเก่า เพราะ rebound relationship เป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจให้ไปอยู่กับคนใหม่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่อยู่กับตัวเองจริงๆ จะช่วยให้เราค่อยๆ คิดและทำความเข้าใจความรักที่ผ่านมาจนเกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองต่อไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมั่งคงกว่า

หากใครคาดหวังถึงความสัมพันธ์ระยะยาวจาก rebound relationship ก็พอมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างเป็นไปได้น้อย เพราะความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ที่จะทำให้เราเปิดใจรับพิจารณาคนใหม่อย่างจริงจังขึ้นอยู่กับ ความพร้อมของอารมณ์ (emotional availability) ส่วนความสัมพันธ์แบบคั่นเวลากลับขับเน้นความรู้สึกฉาบฉวยมากกว่า เป็นความสัมพันธ์ระดับผิวเผินที่ทำให้เรามีภาวะพึ่งพิงสูง คือแค่ต้องการใครมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อคลายเหงาเท่านั้น แบ่งชัดเจนว่าฉัน (I) หรือคุณ (You) โดยไม่ได้รู้สึกผูกสัมพันธ์ร่วมกันจนกลายเป็นเราสองคน (We)

แต่ข้อได้เปรียบของ rebound relationship ที่เด่นชัดคือ ช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่สูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปเมื่อรู้ว่าความสัมพันธ์ครั้งเก่ามาถึงจุดแตกหักแล้วตัวเองไม่สามารถรักษาความรักนี้ไว้ได้ rebound relationship จึงเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าเราไม่ได้หมดสิ้นคุณค่าในตัวเองถึงขนาดเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ไม่ได้ แต่ต้องระวังด้วยว่า ความรักไม่ใช่เกมที่ต้องเอาชนะ เพราะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมกับคนใหม่ ซึ่งเขาหรือเธออาจจริงจังในความสัมพันธ์ครั้งนี้

ถึงแม้ rebound relationship จะสะท้อนให้เห็นว่า ตราบใดก็ตามที่เราปล่อยให้อารมณ์และความต้องการอยู่เหนือตรรกะและหลักเหตุผล แม้จะเป็นเรื่องความรักและความสัมพันธ์ แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่ตามมาจากการคิดไม่เยอะและเลือกไม่มากอาจสร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้รู้สึกวุ่นวายใจยิ่งกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกต้องหรือผิดทั้งหมด

เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวเราว่ามีมุมมองอย่างไรหากต้องการใครสักคนมาช่วยซ่อมแซมใจและดูแลความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังร้างรากับคนรักเก่า แล้วเราจะเลือกทำอย่างไรไม่ให้ rebound relationship กลายเป็นภัยพิบัติทางความสัมพันธ์ ที่ไม่เพียงทำให้ใจเราแย่กว่าเดิมฝ่ายเดียว แต่ยังทำร้ายความรู้สึกจริงใจของคนอื่นที่เราเปิดรับเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์แบบคั่นเวลาด้วย

 

อ้างอิง