เราเป็นมนุษย์ เรามีความรู้สึก มีหัวใจ ทั้งแข็งแกร่ง และบอบบาง เราหัวเราะได้ ร้องไห้เป็น และบ่อยครั้งที่เราต้องการได้รับความใส่ใจ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะมองหาคำปลอบประโลมยามหัวใจกำลังหมดแรง
‘อะไรคือเหตุผลที่เรายังมีชีวิตอยู่’ / ‘อยากหายตัวไปจากโลกนี้’ / ‘เกลียดชีวิต’ / ‘อยากตาย!’ ในโลกออนไลน์ที่กระแสความนึกคิดของผู้คนถูกเปิดเผยออกมาผ่านพื้นที่กึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าด้วยเหตุผลแค่เพียงพร่ำบ่น บันทึกความนึกคิด ต้องการบอกกล่าวความรู้สึกลึกๆ ภายในถึงใครสักคน หรือใดๆ ก็ตาม เราอาจเคยผ่านตากับสเตตัส, ทวีต, หรือไอจีสตอรี่ในท่วงทำนองเช่นนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย
บางทีคุณก็อาจเคยเป็นคนหนึ่งที่เคยโพสต์มัน และบางคราวเช่นกันที่เมื่อเห็นข้อความเช่นนั้นปรากฏขึ้น เราก็มักทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรรู้สึกและตอบรับมันอย่างไร
หนึ่งในศัพท์บัญญัติใหม่ที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2019 ในประเด็นของการโพสต์ข้อความตัดพ้อชีวิตลงในช่องทางโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือคำว่า ‘sadfishing’ ซึ่งใช้อธิบายพฤติกรรมที่ผู้คนโพสต์ข้อความเกินจริงเกี่ยวกับปัญหาทางด้านอารมณ์ของตนลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้อง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’
sadfishing มาจากอีกหนึ่งคำ คือ catfishing หรือพฤติกรรมที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางคนมักหยิบภาพคนอื่นมาสวมรอยแอบอ้างว่าเป็นตัวเอง ประมาณว่า อารมณ์เศร้าสร้อยที่ถูกโพสต์ขึ้นไปแบบ sadfishing นั้น เป็นเพียงอารมณ์ฟูมฟายปลอมๆ เรียกร้องความสนใจไม่ต่างอะไรกับการใช้รูปคนอื่นมาเป็นรูปโปรไฟล์เพื่อใช้สร้างความสัมพันธ์ในโลกเสมือน
แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า? เมื่อการโบ้ยให้โพสต์ที่เต็มไปด้วยความเศร้าสร้อยเป็นเรื่องของ sadfishing ไปทั้งหมด ดูเหมือนจะสร้างปัญหาให้ใครหลายคนที่กำลังประสบ ‘ปัญหาในชีวิตจริงๆ’ และกำลังส่งเสียงเพรียกเงียบงันผ่านข้อความเปี่ยมความทุกข์ เพื่อร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นนัย จนพวกเขาถูกละเลยที่จะถูกมองเห็น แถมมันยังเลยไปไกลถึงการกลายเป็นเรื่องของ cyberbullying เมื่อการโบ้ยโพสต์ทำนองนั้นให้เป็น sadfishing กลับกลายเป็นการโบยตีคนที่ใจกำลังบอบบางอย่างหนักหน่วง
‘หิวแสง!’ / ’น่ารำคาญ’ / ‘ไม่ทำจริงหรอก ก็แค่เรียกร้องความสนใจ’ / ‘ถ้าชีวิตมันแย่มากนัก พวกนั้นคงไม่มาโพสต์อะไรแบบนี้ และลงมือทำมันจริงๆ ไปแล้ว’
สักแวบหนึ่งคุณอาจเคยคิดแบบนั้น หรือถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยโพสต์ข้อความตัดพ้อชีวิต ความคิดแง่ลบจากคนอื่นเช่นนั้น ก็อาจทำให้คุณรู้สึกผิด และจมดิ่งสู่ความทุกข์เศร้าหนักข้อเข้าไปอีก
Samaritans of Singapore (SOS) องค์กรที่มุ่งป้องกันเหตุฆ่าตัวตายในสิงคโปร์บอกว่า ขณะที่การแสดงออกเกี่ยวกับความอยากตายในโซเชียลมีเดียมักถูกปัดให้เป็นเรื่องของ ‘การเรียกร้องความสนใจ’ แต่อีกแง่หนึ่งมันก็สามารถเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือและแรงสนับสนุนอย่างแท้จริงได้เช่นเดียวกัน
พฤษภาคมปี 2019 เด็กสาวชาวมาเลเซียวัย 16 ปีคนหนึ่ง ตัดสินใจกระโดดลงจากตึกจนถึงแก่ความตาย หลังจากเธอตั้งโพลในอินสตาแกรมของตัวเอง ถามผู้ติดตามว่าเธอควรตายหรือไม่ ซึ่งผลของโพลที่ได้คือ 69% โหวตให้เธอตาย
เป็นโศกนาฏกรรม เป็นเรื่องน่าสลดหดหู่ และเหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งรายรอบตัวเรา ผู้คนมากมายประสบปัญหาของการหมดอาลัยตายอยากไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้จริงๆ คือการโพสต์ความรู้สึกออกมาลอยๆ โดยไม่มีแรงมากพอจะร้องขอความช่วยเหลือตรงๆ เพราะหัวใจของพวกเขากำลังหมดแรง
แต่อีกแง่หนึ่ง ใช่หรือไม่ว่าเพราะยังอยากมีชีวิต เพราะอยากถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะอยากให้ใครบางคนยอมรับและประคับประคอง ข้อความมากมายที่เชื่อมโยงกับความท้อแท้เหนื่อยหน่ายในชีวิตจึงถูกโพสต์ออกมา
เพราะรักการมีชีวิตเราจึงคร่ำครวญว่าอยากตาย
แน่นอน มันยากเสมอที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ข้อความในทำนองนั้นกำลังหมายถึงการเรียกร้องความสนใจ หรือเป็นการมองหาความช่วยเหลือของคนที่มีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเองจริงๆ กันแน่ ดร. ลินด์เซย์ กิลเลอร์ (Lindsey Giller) นักจิตวิทยาคลินิกจากนิวยอร์กบอกว่า โซเชียลมีเดียไม่เพียงพอกับการพิจารณาถึงบริบทที่ผู้โพสต์ข้อความนั้นๆ กำลังประสบพบเจอ เพราะเราไม่สามารถมองเห็นการส่งอวัจนภาษา (nonverbal cues) ผ่านข้อความสองมิติได้
“อย่างไรก็ตาม ถ้าใครสักคนโพสต์ว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะตรงๆ หรืออ้อมๆ เช่น ‘ไม่รู้จะอยู่เพื่ออะไรอีกต่อไป’ หรือ ‘คนอื่นคงมีความสุขถ้าไม่มีฉันอยู่’ มันก็ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง การพูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายสามารถเป็นการร้องขอความช่วยหรือ และเป็นสัญญาณท้ายๆ ของกระบวนการที่จะนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตายได้”
เธอยังอธิบายอีกว่า ผู้คนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย มักมีสัญญาณบ่งชี้อื่นๆ เช่น การจมดิ่งสู่ความเศร้าที่เพิ่มระดับขึ้น การแสดงความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ติดหล่มและกับดักของโลก หรือกระทั่งการหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องความตาย
อินสตาแกรมเอง ก็ได้บรรจุวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ใน Help Centre (https://web.facebook.com/help/instagram/553490068054878?_rdc=1&_rdr) โดยแนะนำเป็นข้อๆ อย่างเข้าใจง่าย ถึงคำถามที่ว่า เราควรทำอย่างไรถ้าเห็นคอนเทนต์ของใครสักคนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเอง ดังนี้
1.มองหาสัญญาณเตือน: สังเกตุข้อความ หรือสเตตัสที่แปลกออกไปจากปกติ เช่น การพูดว่าพวกเขาอยากหายตัวไป ชีวิตของพวกเขาไร้ความหวัง เป็นต้น
2.ทำความเข้าใจและรับฟัง: ให้ความใส่ใจกับพวกเขาอย่างเต็มที่ แต่อย่าพยายามเสนอทางออกหรือปลอบประโลมว่าทุกสิ่งจะดีขึ้น เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือความรู้สึกว่ากำลังได้รับการรับฟัง และที่สำคัญอย่างตัดสินพวกเขา
3.ถามตรงๆ : การถามตรงๆ ว่าพวกพวกเขากำลังคิดถึงความตายหรือไม่ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง แต่มันเป็นการแสดงว่าคุณใส่ใจและรับฟังความทุกข์ที่พวกเขากำลังเผชิญ และอย่าเพิ่งกังวลหากพวกเขาบอกว่า กำลังคิดถึงความตายจริงๆ จงบอกพวกเขาว่ามันเป็นความกล้าหาญที่พวกเขาพูดมันออกมาตรงๆ ได้ และการพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญนั้น อย่างน้อยก็จะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ในระดับหนึ่ง
4.กำจัดของอันตรายออกไป: การถามพวกเขาถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่กำลังคิดถึง เช่น การใช้ยา เชือก หรืออื่นๆ จะทำให้เรารู้ล่วงหน้า และสามารถกำจัดของเหล่านั้นออกไปก่อนได้เพื่อลดความเสี่ยง
ทั้งนี้อินสตาแกรมยังได้แนะนำสายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งจะทำให้เราและผู้ที่กำลังมีความเสี่ยงเข้าถึงการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ได้ไว้ที่ลิงค์นี้ https://help.instagram.com/1666662083590610
เราเป็นมนุษย์ เรามีความรู้สึก มีหัวใจ ทั้งแข็งแกร่ง และบอบบาง เราหัวเราะได้ ร้องไห้เป็น และบ่อยครั้งที่เราต้องการได้รับความใส่ใจ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะมองหาคำปลอบประโลมยามหัวใจกำลังหมดแรง แม้กระทั่ง ผู้คิดค้นคำศัพท์ sadfishing ขึ้นมาอย่างนักข่าวนาม รีเบคกา รีด (Rebecca Reid) ยังเคยทวิตไว้ว่า “ฉันสร้างคำว่า sadfishing ขึ้น และตอนนี้ฉันก็รู้สึกผิดมหันต์ ฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันกลายเป็นเรื่องการหยุดแชร์อารมณ์ความรู้สึกบนโลกออนไลน์”
“พวกเราหลายคน sadfish กันบ่อยครั้ง และมันโอเค การเรียกร้องความสนใจไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอย่างแน่แท้ มันไม่มีอะไรผิดกับความต้องการได้รับการใส่ใจ”
อ้างอิง
- Christopher Hand. Sadfishing: frequently sharing deeply emotional posts online may be a sign of a deeper psychological issue. https://bit.ly/3oWmXEr
- KRISTEN FISCHER. Sadfishing 101: How to Tell if Your Friend’s Social Media Post Is a Plea for Attention—or a Cry for Help. https://bit.ly/3qHJQMH
- Vanessa Liu, Rosalind Ang. Don’t brush off talk of suicide on social media: SOS. https://bit.ly/35PBCtz
- Jamie Fullerton. Teenage girl kills herself ‘after Instagram poll’ in Malaysia. https://bit.ly/3bLyFy8