life

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนเรารู้สึกรักมากขึ้นทุกวันและตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน มากไปกว่านั้น อีกด้านหนึ่ง อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนหมดรักและยุติความสัมพันธ์ลง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยรักกันดี

คำถามและความสงสัยในความรักเหล่านี้ ไม่ใช่ความลับของจักรวาลที่หาคำอธิบายไม่ได้ เพราะเหตุผลทุกอย่างแสดงให้เห็นชัดเจนบนรูปแบบความสัมพันธ์ที่เราเลือกนิยาม เพียงแต่ในบางครั้ง ความคุ้นชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัว อาจทำให้เราไม่ทันสังเกตเห็นหรือฉุกคิดว่ามันกำลังสื่อความหมายของคำว่ารัก มิหนําซ้้ำยังเผลอเรอมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นคำตอบที่ช่วยคลายความคับข้องใจทั้งหมดได้

จากความเชี่ยวชาญของ แกรี่ แชปแมน (Gary Chapman) ผู้ให้คำปรึกษาด้านความรักและความสัมพันธ์เป็นเวลามากกว่า 25 ปี เขาสังเกตเห็นว่า ในกลุ่มคนที่กำลังประสบปัญหาผิดใจกันทั้งกรณีคู่รัก คนในครอบครัว รวมถึงเพื่อนฝูง ส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารระหว่างคนสองคนที่ผิดพลาดไป การเข้าใจความหมายที่ไม่ตรงกันในจุดนี้เองจะสร้างรอยร้าวให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ซึ่งหลายคู่จบลงด้วยความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดตัดขาดความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

ส่วนในกลุ่มคนที่รักกันเหนี่ยวแน่นและยืนยาว เป็นเพราะพวกเขาใส่ใจกันและกันดี ที่สำคัญต่างฝ่ายต่างเข้าใจธรรมชาติและตัวตนที่แต่ละคนเป็น ไม่บังคับหรือเรียกร้องให้ทำในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเอง ทุกคนในความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันแบบนี้จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

แชปแมนจึงวิเคราะห์ลงลึกต่อไปอีกว่า เมื่อความเข้าใจที่ดีเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารระหว่างสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางของความรักอีกทีหนึ่ง จึงจำเป็นต้องค้นหาให้ได้ว่า อะไรคือภาษาหรือสื่อกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายในความสัมพันธ์เข้าใจและแปลความหมายได้อย่างตรงกันมากที่สุด เพื่อจะได้เรียนรู้ผู้อื่นและเข้าใจตัวเองว่าแต่ละคนมีวิธีสื่อสารอย่างไร เข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งพอจะบอกใบ้ให้รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะกรณีคู่รักที่กำลังเกิดปัญหาความสัมพันธ์

คำตอบคือ การกระทำและพฤติกรรมประจำตัวของแต่ละคนที่สือถึงความรัก หมายความว่า เราทุกคนต่างมีรูปแบบภาษา (ทั้งภาษาพูดและภาษากาย) เพื่อแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจและรับรู้ได้ว่า เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อความรักและความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ความรักก็เหมือนภาษาที่เราใช้พูดในชีวิตประจำวัน คนพูดภาษาเดียวกันย่อมเข้าใจความหมายตรงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่พูดคนละภาษาจะไม่มีทางเข้าใจกันเลย พอเข้าใจได้บ้างแต่คงน้อยมากๆ ส่วนคนที่พยายามเรียนรู้ภาษาอื่นๆ เท่ากับเป็นการเพิ่มความเข้าใจความหมายในภาษานั้น

แชปแมนจึงกำหนดแนวคิดภาษารัก (love languages) สำหรับใช้เป็นหลักให้ผู้ที่กำลังมีรักได้สำรวจว่าตัวเองมักจะสื่อสารความรักด้วยวิธีการใดบ้าง และเข้าใจด้วยว่าแต่ละคนมีวิธีแสดงออกว่ารักไม่เหมือนกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ดังนี้

(1) Words of Affirmation (สื่อรักผ่านการพูด) 

เมื่อมีความรัก คำพูดชมเชย ให้กำลังใจ และถามไถ่เรื่องทั่วไปด้วยความเป็นห่วง จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี บางคนอาจพูดไม่เก่ง เขาจึงไม่แสดงออกถึงความรักด้วยคำพูดหวานหู บางคนอาจเมินเฉยเหมือนไม่ใส่ใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนั่นคือธรรมชาติของเขาที่เราต้องเข้าใจ แต่ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรอย่างน้อยที่สุดก็ควรพูดจาที่ดีต่อกัน (speak kind) เพราะคำพูดมีพลังอำนาจ เราสร้างและทำลายความสัมพันธ์ได้ผ่านการพูดไม่กี่คำ

(2) Quality Time (สื่อรักผ่านเวลาอยู่ร่วมกัน)

เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่า จึงทุ่มเทเวลาเพื่อคนสำคัญอย่างเต็มเปี่ยม ใช้เป็นสิ่งยืนยันความรักที่มอบให้ เน้นคุณภาพของเวลา ไม่เน้นปริมาณที่อยู่ด้วยกัน จึงไม่ได้หมายความว่าต้องตัวติดกันตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่อยู่ด้วยกัน นั่นคือช่วงเวลาที่พิเศษและมีความหมายต่อความสัมพันธ์ เช่น ชวนไปกินข้าวนอกบ้าน ออกไปเที่ยวด้วยกัน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อีกฝ่ายชอบ

(3) Receiving Gifts (สื่อรักผ่านสิ่งของที่ได้รับ)

คำพูดว่ารักอาจไม่มีความหมายเท่าการได้รับสิ่งของแทนใจ เป็นความสุขและความพอใจที่เกิดจากการเป็นฝ่ายได้รับบางสิ่งบางอย่าง อธิบายอย่างเข้าใจง่ายที่สุดคือ ได้ของเท่ากับได้ความรัก ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะใช้สิ่งที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ตาม อาจเป็นของธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อคนรักซื้อมาฝาก ของธรรมดาชิ้นนั้นกลับเป็นของชิ้นสำคัญที่ชุบชูใจให้เบิกบาน

(4) Act of Service (สื่อรักผ่านการทำสิ่งดีๆ)

สิ่งที่แน่นอนที่สุดสำหรับคนที่สื่อรักด้วยการทำสิ่งที่ดีให้ คือความเชื่อในการกระทำว่าสำคัญกว่าคำพูด เป็นความรู้สึกอาสาทำให้ด้วยความเต็มใจ ตั้งแต่ช่วยแบ่งเบาภาระประจำวันหรืออำนวยความสะดวกทั่วไป เช่น คอบขับรถรับส่ง ทำอาหารกลางวันให้ไปกินที่ทำงาน จนถึงช่วยแก้ปัญหาในชีวิตที่บางครั้งหากมีคนให้คำปรึกษาย่อมดีกว่าคิดอยู่คนเดียว แต่ข้อควรระวังคือควรทำสิ่งต่างๆ ให้ด้วยความพอดี

(5) Physical Touch (สื่อรักผ่านการสัมผัส)

แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะแยกความรักกับเพศสัมพันธ์ออกจากกัน แต่สำหรับบางคนกลับไม่คิดว่าอย่างนั้น เพราะการสัมผัสกาย (skinshipเช่น จับมือ โอบกอด หอม จูบ ลูบไล้ รวมถึงเพศสัมพันธ์ คือการแสดงออกถึงความรักรูปแบบหนึ่ง แม้กระทั่งการปลอบโดยแตะที่ไหลเบาๆ ขณะรู้สึกเศร้าเสียใจ ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ หรือการตีเบาๆ เพื่อหยอกล้อประสาคนรัก ก็ทำให้รู้สึกดีเช่นเดียวกัน

เมื่อรู้ว่าตัวเองและคนรักมีแนวโน้มว่าจะเลือกใช้ภาษารักรูปแบบไหนในความสัมพันธ์ ซึ่งในคนคนเดียวจะมีภาษารักมากกว่า 1 รูปแบบเสมอ แต่การรู้จักภาษารักทั้ง 5 รูปแบบ จะทำให้เราเข้าใจและไม่คาดคั้นการแสดงออกถึงความรักของอีกฝ่ายมากเกินสิ่งที่เขาเป็น สำคัญที่สุดคือช่วยทำให้คู่รักปรับความเข้าใจและเข้าหากันด้วยภาษารักที่เป็นตัวเองและทำให้คนรักมีความสุขได้

สำหรับคนที่ต้องการสำรวจภาษารักของตัวเองในขณะนี้ สามารถเข้าไปทำแบบสอบถามได้ที่ 

 

อ้างอิง