เอสเปรสโซ ไม่ก็…คาปูชิโน
ชายหนุ่มตรงหน้าพูดถึงกาแฟที่เขาชอบ “ผมชอบอะไรที่ตื่นเต้น”
คิด-คณชัย เบญจรงคกุล หมายถึงฟองนมนุ่มๆ บนคาปูชิโน ที่บางครั้งเขาจะโรยผงซินเนมอนเพื่อเติมกลิ่นหอมบางๆ ของอบเชย แต่บางทีกาแฟเข้มๆ แบบเอสเปรสโซ ก็เป็นสิ่งที่เขาโหยหาในบางวัน
“ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่ามันขม แต่พอโตขึ้น เรากลับรู้สึกว่า มันอร่อยดีเหมือนกัน”
คิดเดินไปที่เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ LatteGo กดชง คาปูชิโน ที่มีสัดส่วนของปริมาณน้ำ นม และความเข้มของกาแฟในแบบที่เขาชอบ
เสียงบดเมล็ดกาแฟจากเครื่องดังขึ้น จากนั้นไม่นานไอน้ำและกลิ่นกาแฟจากเมล็ดที่เพิ่งบดใหม่ๆ ก็ลอยคลุ้งไปทั่วห้องรับแขกอันโอ่โถง
คิดบอกว่าเวลาดื่มกาแฟ เขามักจะนั่งอยู่คนเดียว ซึ่งนั่นคือช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาจะได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง
“คิดรู้สึกว่าในโลกที่วุ่นวาย
การนั่งจิบกาแฟเหมือนเป็นโมเมนต์ที่เราได้หยุดอยู่กับความคิดของเรา”
ก่อนนั่งลงสนทนา เรามองคิดไม่ต่างจากคนทั่วไปที่รู้จักเขาผ่านสื่อตามหน้าข่าวสังคม
หล่อ รวย โปรไฟล์ดี ลูกเจ้าสัวคนดัง
หรือถ้ารู้จักมากกว่านี้หน่อย ก็จะรู้ว่าเขาทำงานเป็นช่างภาพอาชีพ และเมื่อปีที่แล้วเพิ่งผันตัวมาทำเพลงในฐานะศิลปินชื่อ KIT B พร้อมกับทำงานเป็นผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ MOCA ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของครอบครัว
บอกตามตรงว่า นอกจากมุมที่เล่ามา เรานึกอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ออก อาจเพราะไม่ค่อยได้เห็นภาพเขาจากสื่อในมุมอื่น
คำถามที่อยู่ในใจเราเมื่อตอนที่รู้ว่าจะได้มาคุยกับเขาจนกระทั่งถึงตอนนี้คือ ถ้าจะชวนคิดคุยเรื่องอื่นนอกเหนือจากนั้น
เราควรคุยกับเขาเรื่องอะไร?
ขณะที่ความคิดวิ่งวนอยู่ในหัว คิดยกกาแฟขึ้นจิบ
ในระยะใกล้ เขาดูสงบนิ่ง ให้เกียรติ และเป็นผู้ใหญ่กว่าที่คิด เราจึงเอ่ยถามเขาถึงอายุในวันนี้
“สามสิบครับ” คิดตอบ
และกำลังจะสามสิบเอ็ดในวันสิ้นเดือนมกราคม (เราคุยกันช่วงกลางเดือน)
หากตัวเลขคือหลักไมล์ของชีวิต ในวันที่อายุเดินทางมาถึงเลข 30 ซึ่งหลายคนนับเป็นหลักกิโลเมตรของความเป็นผู้ใหญ่ ความคิดคนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
เราตั้งคำถามนี้กับตัวเองในใจ ก่อนจะเอ่ยถามออกไปในชั่วโมงกาแฟ โดยมีเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ LatteGo กำลังเงี่ยหูฟังอยู่ใกล้ๆ
เครื่องชงกาแฟที่เปิดโอกาสให้คิดได้เลือกชงกาแฟจากเมล็ดที่ชอบ ออกแบบรสชาติที่ใช่ ในปริมาณน้ำ นม และกาแฟที่กำหนดได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทุกอย่างล้วนเรียบง่าย ตั้งแต่การชงจนถึงการดูแลทำความสะอาด
เพื่อสร้างสุนทรีย์ในการดื่มกาแฟในทุกมิติ
เพื่อให้ความสุนทรีย์และเรียบง่ายนั้น สร้างพื้นที่ว่างให้กับความคิด
ซึ่ง คิด เบญจรงคกุล มักจะใช้พื้นที่ว่างนั้น ทบทวนความคิดและชีวิตของเขา…
หลังอายุสามสิบ คุณครุ่นคิดกับเรื่องอะไรมากขึ้นบ้างไหม
อย่างแรกเรื่องสุขภาพครับ (ยิ้ม) เราหันมาดูแลตัวเองจริงจังขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่เรานอนน้อยตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น เดี๋ยวนี้ออกไปเที่ยว อีกวันนึงก็คือแฮงค์ เหนื่อย นอนไม่ดี อย่างปีที่ผ่านมา ถ้าได้นอน 7 ชั่วโมง ก็รู้สึกสุดยอดแล้ว ยิ่งชีวิตคนกรุงเทพทั้งฝุ่นมลภาวะ กับความเร่งรีบ ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง สุขภาพก็จะแย่ลงๆนะครับ
อีกอย่างคือเรื่องของความคิด ตอนนี้คนอาจเห็นเราทำอะไรหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันเราก็เริ่มหันมาคิดแล้วว่า จริงๆ แล้วชีวิตเราต้องการอะไร
ส่วนตัวก็คิดว่ายังหาคำตอบไม่เจอนะครับ เพราะบางทีสิ่งที่ทำ มันมีทั้งสิ่งที่เราชอบ ซึ่งสิ่งที่เราชอบอาจจะมีหลายอย่าง หรือ สิ่งที่เป็นหน้าที่ แล้วก็สิ่งที่เราถนัด คิดพยายามหาบาลานซ์ตรงนี้เหมือนกัน ว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องการอะไรกันแน่
คือเราอยากโฟกัสเรื่องงาน เราไม่ได้อยากทำอะไรจับฉ่าย แล้วไม่ได้ดีสักอย่าง แต่ ณ จุดนี้ที่เราทำอยู่ก็ชอบนะครับ แต่ก็พยายามจะบาลานซ์ ทำให้ทุกอย่างสามารถทำควบคู่กันไปได้
สิ่งที่ถนัด ที่ชอบ และเป็นหน้าที่ที่คุณบอกหมายถึงอะไร
การเป็นช่างภาพ หรือตอนนี้ที่คิดหันมากำกับ ทำวิดีโอ นี่คือสิ่งที่เราถนัด เพราะว่าเราทำมาหลายปี
ส่วนสิ่งที่ชอบ ก็จะเป็นการทำเพลง ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเก่งที่สุด แต่เราทำแล้วมีความสุข
สำหรับงานที่พิพิธภัณฑ์ MOCA ถือเป็นหน้าที่และสิ่งที่เราถนัดน้อยที่สุด คือเราเป็นคนชอบศิลปะก็จริง แต่การที่ต้องมาบริหารงานหรือบริหารคน มันคือคนละเรื่องกับการเสพศิลปะ การไปเดินดูพิพิธภัณฑ์กับการบริหารพิพิธภัณฑ์มันเป็นคนละเรื่องกัน แต่มันเป็นเหมือนธุรกิจครอบครัว ซึ่งเราก็อยากจะช่วยและทำให้มันดีที่สุด
สิ้นเดือนมกราคมนี้ คุณจะมีอายุครบ 31 ปี พอจะเข้าสู่อีกขวบปี หลายคนมักตั้งเป้าหมายในชีวิต คุณเป็นแบบนั้นไหม
ตอนนี้เป็นนะ แต่ว่าเมื่อก่อนไม่ใช่ เราจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอีกแบบ คือไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่ายังเหลือเวลาอีกเยอะ แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ตอนนี้พอสามสิบ เราเริ่มรู้สึกเหมือนกันว่า สามสิบแล้วได้ในทำสิ่งที่เราควรทำในชีวิตหรือยัง สิ่งที่เราแบบ (นิ่งคิดนาน) ประสบความสำเร็จ…
ส่วนตัวคิดรู้สึกว่าเราตามหาคำนั้น และบางทีเราก็รู้สึกว่าความสำเร็จมันไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่มีวันที่เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะความสำเร็จเป็นสิ่งที่เราต้องผลักดันตัวเราต่อไปเรื่อยๆ …หรือเปล่า? จนบางทีถ้าเราวิ่งตามหามันมากเกินไป เราก็อาจรู้สึกเหนื่อย และไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องที่เราต้องมาหาบาลานซ์
ได้ฟังแล้วค่อนข้างแปลกใจ เพราะถ้ามองจากสายตาคนนอก ไม่ว่ามองในมุมไหน คุณน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ แต่คุณไม่ได้มองอย่างนั้น?
คิดมองว่าความสำเร็จมันมีหลายระดับ โอเค การเป็นช่างภาพเราได้ถ่ายปกนิตยสารหลายเล่ม ได้ถ่ายคนที่เราอยากจะถ่ายหลายคน แต่ความสำเร็จก็อาจจะมีมากกว่านั้น เช่น เราอยากถ่ายหนังสือ (แมกกาซีน) ที่อเมริกา ข้อดีคือมันทำให้เราผลักดันตัวเอง ทะเยอทะยานที่จะพัฒนาให้ตัวเองสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะบาลานซ์และมีความสุขในสิ่งที่เราทำ
คุณพูดถึงคำว่า ‘บาลานซ์’ ค่อนข้างบ่อย ทำให้เรานึกถึงนิทรรศการใน MOCA ชื่อ ‘มานุสสานัง’ ที่คุณจัดและร่วมแสดงงาน คุณให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานของตัวเองว่า …เป็นการมองถึงมนุษย์ในแง่พุทธศาสนา… เราสนใจประเด็นนี้ และอยากรู้ถึงความหมายของมัน
คือคิดมองว่าที่ MOCA จะมีงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาเยอะ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทย เวลาคนมาเดินดูก็จะเห็นวัฒนธรรม ความเชื่อ และได้เรียนรู้ประเทศของเราผ่านงานศิลปะ เราคิดว่าคนไทยจำนวนมากปฏิบัติตามพุทธศาสนา แต่ในทางกลับกัน คิดรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงยาก คือนับถือ แต่ไม่ได้อิน เราเลยอยากใช้ศิลปะเป็นสื่อ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงพุทธศาสนามากขึ้น
ส่วนตัวคุณอินกับศาสนามากน้อยแค่ไหน
เราได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อเยอะเหมือนกัน ตอนเด็กๆ คุณพ่อจะพาไปวัดเกือบทุกอาทิตย์ ใส่บาตรทำบุญ แต่พอโตขึ้น เราก็ห่าง พอไปเรียนเมืองนอก ก็ยิ่งห่างออกไป แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเรากลับมาปฏิบัติมากขึ้น ชอบไปทำบุญถวายสังฆทาน ทำบุญเก้าวัด บางคนอาจมองเป็นเรื่องความเชื่อ แต่เรารู้สึกว่าเป็นความเชื่อที่ทำแล้วเรารู้สึกดี ทำแล้วสบายใจ เราก็เลยทำ เวลาที่เราอยู่ในวัด เรามีความสงบ เหมือนเราได้ทิ้งปัญหาต่างๆ ในชีวิตอยู่ข้างหลัง เรารู้สึกว่าทำให้เรานิ่งขึ้น
ล่าสุดเราเพิ่งไปลงคอร์สวิปัสสนา แต่ว่าเป็นแนววิทยาศาสตร์เรียกว่า TM หรือ Transcendental Meditation ยังไม่เริ่ม อาทิตย์ก่อนเราไปวันปฐมนิเทศ เริ่มคอร์สอาทิตย์หน้า เดี๋ยวจะลองไปดู เพื่อนแนะนำบอกว่าเป็นวิธีนั่งสมาธิที่ง่าย ง่ายกว่าทั่วๆ ไป คือที่เราเคยทำมาเรารู้สึกว่าเราพยายามปฏิบัติ มันยาก แบบนึกถึงลมหายใจ หรือว่าต้องโฟกัสไปที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่การทำสมาธิแบบ TM เค้าบอกว่าเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า เพราะว่าไม่ได้เป็นการโฟกัส แต่เป็นการปล่อยความคิดให้เหมือนฟองอากาศลอยขึ้นมา เค้าบอกว่าจะง่ายกว่า คงต้องไปลองดูว่าง่ายกว่ายังไง
ทำไมคุณถึงหันมาสนใจการทำสมาธิ
เรารู้สึกว่าอยากลองดู เผื่อช่วยให้เราปรับโฟกัสได้มากขึ้น ตื่นมาแล้วรู้สึกหัวสมองเฟรซ พร้อมที่จะทำงานในแต่ละวัน
นอกจากมิติเรื่องงานแล้ว เรื่องนี้เกี่ยวกับการบาลานซ์ที่คุณพูดถึงบ้างไหม
วันนั้นที่คิดไปปฐมนิเทศ หลายๆ คนก็พูดว่าทำไมถึงมาคลาสนี้ คนส่วนใหญ่บอกว่า เหมือนรู้สึกวุ่นวายกับชีวิต แล้วหาความสุขไม่ได้กับสิ่งรอบตัว ก็เลยอยากจะมาหา inner peace หรือความสุขจากข้างใน ซึ่งสำหรับเราบางทีก็จริง…
“เรารู้สึกว่าชีวิตเรา โลกเรามันวุ่นวายขึ้นทุกวัน
ยิ่งเราเสพสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย
เรารู้สึกว่าเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา
ซึ่งมันอาจทำให้เราไม่มีความสุขกับตัวเอง”
คิดรู้สึกว่าบางทีเราก็อยากจะลองหาความสงบดูว่า ถ้าเราอยู่กับตัวเอง หรือที่เราไปวิปัสสนา อย่างปีก่อนคิดได้ไปทริปที่ไปหาทะไลลามะ ไปฟังท่านเทศน์ ท่านก็จะเทศน์เรื่องความเมตตา แล้วก็เรื่อง… (หยุดคิด) จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินจากพุทธศาสนา เช่น การอยู่กับความว่างเปล่า ไม่ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น เราอยู่กับความว่างเปล่า อยู่กับตัวเอง อาจจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้ไปยึดติด เงินทองไม่ใช่ของเรา ชื่อเสียงไม่ใช่ของเรา ตายไปเราก็เอาตรงนั้นไปไม่ได้ แต่พอเราออกมาจากตรงนั้นมาปุ๊บ เรากลับมาอยู่ในโลกปัจจุบัน ถ้าเราไม่ได้โฟกัสกับตรงนั้น มันก็จะหายไป เราจะถูกโลกดูดกลับไปสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง คิดว่าเราพยายามตามหาความสุข ที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปยึดตรงไหนว่านั่นคือ ความสุข
จบประโยค คิดยกแก้วกาแฟขึ้นจิบ
เขาดูสงบราวกับอยู่ในโลกของความคิดที่ไม่มีใครหยั่งถึง
และกำลังครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง
หลังๆ พอโตขึ้น คิดก็มีคำถามที่เริ่มถามกับตัวเอง “อะไรที่ทำให้เรามีความสุข?”
เช่น หาเงินเยอะขึ้นแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้นไหม หรือว่าชื่อเสียงเงินทอง ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไหม ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนพยายามหาการยอมรับ ต้องการเป็นที่ยอมรับ หรือต้องการที่จะถูกได้ยินสิ่งที่เราพูด ได้เห็นสิ่งที่เราทำ ซึ่งเป็นสิ่งปกติของมนุษย์ แต่คิดรู้สึกว่าบางทีเราก็ต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง เพื่อที่จะหาความสุข มากกว่ารอการยอมรับจากคนอื่น
แต่การดีลกับชื่อเสียง เงินทอง การยอมรับ คนที่มีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะอย่างคุณ น่าจะจัดการได้ยากกว่าคนทั่วไป
ก็ยาก คิดว่ามันเป็นแบบความต้องการของมนุษย์ที่เราอยากจะมีชีวิตที่ดี เราดูอินสตราแกรม เราก็จะเห็นคนไปเที่ยวที่สวยๆ บางทีเราก็อยากจะไป หรือบางคน คนที่เขามีเยอะกว่าเรา บางทีเราก็อยากจะมีเยอะมากขึ้นไปอีก อยากจะต้องการมากขึ้นไปอีก บางทีก็ทำให้เราไม่มีความสุข
ขอถามได้ไหม ความทุกข์ของคนรวยคืออะไร
(นิ่งคิด) ความทุกข์ คิดว่ามันมาจากการที่เราไม่พอกับสิ่งที่เรามีอยู่ ซึ่งคิดว่าหลายๆครั้งมนุษย์เราตามหาสิ่งที่มากขึ้นไปจากที่เรามี โดยคิดว่ามันจะทำให้เรามีความสุขขึ้นแต่มันไม่ใช่คำตอบของความสุขที่แท้จริง การมีเงินมากขึ้นไม่ได้แปลว่าคุณจะมีความสุขมากขึ้นเสมอไป แล้วอีกอย่าง อยู่ตรงนี้คิดอาจจะดูว่ามีเพื่อนเยอะ แต่จริงๆ เราอาจจะมีเพื่อนที่สนิทใจ หรือมีเพื่อนที่สามารถบอกทุกอย่างได้น้อยคน
ช่วงหลังมานี้ เรื่องของเพื่อน เราก็เลือกมากขึ้น อย่างช่วงอายุยี่สิบ ถ้ามาถามว่าสนิทกับใคร โห นับเป็นห้าสิบเป็นร้อย รู้สึกสนิทไปหมด เป็นเพื่อนเราไปหมด แต่ตอนนี้ รู้สึกว่า นับแบบอยู่ในสิบคนที่สนิท
กาแฟในแก้วพร่องลงไปเกือบครึ่ง
บทสนทนาดูเข้มและขมกว่าที่คิด
ความขมที่กำลังดี ช่วยให้กาแฟมีรสกลมกล่อม
ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น บางทีความขมก็ช่วยให้เราสัมผัสได้ถึงรสหวานของชีวิต
“คิดเชื่อว่าทุกคนเกิดมามีหน้าที่ของตัวเอง งาน… ไม่ว่าเราจะเลือกได้ หรือเลือกไม่ได้ เราก็ต้องทำในสิ่งที่เราได้รับมา และต้องทำให้ดีที่สุด
“และถ้าเรามีโอกาส นอกจากจะพัฒนาตัวเองแล้ว เราควรจะให้คืนสังคมและคนรอบข้าง คิดรู้สึกว่าตัวเองโชคดีในระดับหนึ่งที่อยู่ในจุดที่สามารถให้คืนได้บ้าง เช่น ได้ไปทำงานกับ UNHCR ได้ช่วยเหลือองค์กร มูลนิธิต่างๆ เป็นเหมือนสิ่งที่เราทำแล้ว เต็มเติมบางอย่างข้างใน”
คนทั่วไปจะติดตามชีวิตคนดังผ่านอินสตาแกรม และคิดว่าพวกเขาเป็นแบบนั้น อยากรู้ว่ามีชีวิตคุณในมุมไหนบ้างไหม ที่คนทั่วไปจะไม่เห็นในอินสตาแกรม
บางคนอาจคิดว่าเราเป็นหนุ่มสังคม ชอบปาร์ตี้ ออกงานบ่อย คือเมื่อตอนอายุยี่สิบกว่าเราเป็นแบบนั้น ไปปาร์ตี้จนบางคนติดภาพเราแบบนั้นไปแล้ว สิบปีผ่านไป คิดเจอคนที่เราไม่สนิท เขาก็ทักว่า เมื่อคืนนอนกี่โมง ตื่นหรือยัง ไปปาร์ตี้ถึงกี่โมง ทั้งที่จริงๆ ช่วงหลังมานี้ เพื่อนคิดแทบจะบอกว่าคิดเป็นคนที่ไปเที่ยวแล้วกลับบ้านเร็ว คือเราก็ชอบไปนั่งคุย กินข้าวกับเพื่อน อาจจะดริ๊งสองดริ๊งแล้วก็กลับ ไม่ชอบไปปาร์ตี้หนักๆ ไปคลับอะไรแบบนี้แล้ว อีกอย่างชีวิตเราอาจจะดูหวือหวาในไอจี แต่ช่วงหลังมานี้ เราสังเกตตัวเองว่าชอบทำอะไรที่เงียบๆ มากขึ้น หาความสุขกับสิ่งที่มันเป็นส่วนตัว อาจจะอยู่บ้าน นั่งจิบกาแฟเงียบๆ ลองฝึกเล่นเปียโน (ชี้ไปที่เปียโนสีดำหลังหนึ่งในห้องรับแขก) หรือว่าถ้ามีโอกาสเที่ยวก็อาจจะไปทะเล ชอบไปอยู่ในธรรมชาติ
ถ้ามองภาพชีวิตตัวเองไปข้างหน้า คุณอยากจะมีชีวิตแบบไหน
มีความสุขจากความเรียบง่าย มีชีวิตที่หาความสุขจากความเรียบง่ายได้ เราอยากเข้าใจเรื่องการปล่อยวางมากขึ้น เพราะเราอยู่ในโลกมนุษย์ที่มันยากเหลือเกินกับการปล่อยวาง และมีความสุขจากตัวเอง อย่างที่บอก เราตามหาสิ่งที่ดีกว่าตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นชีวิต การงาน ความรัก พูดแล้วฟังดูเหมือนตัวเองพยายามแสวงหาความสงบ แต่จริงๆ ไม่ได้ถึงขนาดนั้น เราแค่สนใจเรื่องนี้ ว่าความสงบจะเพิ่มความสุขให้เราได้ไหม
ซึ่งก็ยังไม่รู้คำตอบนะ แต่เราก็อยากจะลองหาคำตอบนั้นดู
ตอนนี้กาแฟในแก้วหมดลงแล้ว เช่นเดียวกับบทสนทนา
เราจึงชวนคิดไปถ่ายรูปเพื่อประกอบบทสัมภาษณ์
ก่อนจะลุกเดินออกจากที่นั่ง คิดบอกเราว่า เขามักจะมีความสุขในช่วงเวลาที่นั่งจิบกาแฟ
เพราะนี่คือโมเมนต์เล็กๆ ที่เขาได้หยุด
และอยู่กับความคิดของตัวเองจริงๆ.
ทำความรู้จักเครื่องชงกาแฟ LatteGo เพื่อสร้างช่วงเวลาธรรมดาที่แสนวิเศษได้ที่ https://www.philips.co.th/c-e/ho/coffee/lattego