life

เราจำเสียงของต้าไม่ได้ พอๆ กับที่นึกไม่ออกว่าคุยกันครั้งล่าสุดตอนไหน

ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจดจำเขาในฐานะมือกีตาร์ของวงดนตรี ผู้กำกับหนังสั้นที่อาจารย์มักจะเปิดให้ดูในคลาส และคนทำเพลงประกอบละครเวทีของคณะที่มีทำนองติดหูจนอยากให้มีบนสตรีมมิงเพื่อจะได้หาฟังง่ายๆ 

หลังจากเรียนจบแยกย้ายกันไปแล้ว รู้อีกที ต้า – กิตติคุณ ก็ปรากฏตัวอีกครั้งหลังจากส่งหนังสั้นเข้าประกวดบนเวทีแห่งหนึ่ง และเป็นอย่างที่คาดไว้ เขาคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครอง หลังจากเห็นเขาโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ช่วงสั้นๆ เราก็เห็นว่าต้าเริ่มทำเพลงบรรเลงลง Spotify ในชื่อ Kittikhun P. แบบเงียบๆ 

ไม่นานมานี้เราก็บังเอิญไปเห็นพอดแคสต์ของเขาทะยานขึ้นติดชาร์ตอันดับ 3 ของประเทศไทย และที่เราเองก็ประหลาดใจไม่แพ้เขาคือ นั่นเป็นเพลงบรรเลงหนึ่งเดียวในบรรดาพอดแคสต์ทั้งหมด

แม้จะไม่เคยหลุดวงโคจรจากกันไปไหน แต่ก็ไม่ได้รู้จักกันไปมากกว่านั้น ต้าก็เป็นเหมือนแบคกราวด์มิวสิกที่เปิดคลอเบาๆ มาตลอด เราจึงอยากกลับไปทำความรู้จักกับเขา ย้อนฟังเรื่องวัยเด็ก บ้านเกิด และดนตรีของเขากันอีกครั้ง

Hometown.

จำได้มั้ยว่าความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีเริ่มขึ้นตอนไหน

สมัยก่อนเราอยู่ชนบท ในหมู่บ้านเล็กๆ ไกลตัวเมือง พ่อเราทำอาชีพรับจ้างจัดงานดนตรีตามเทศกาลต่างๆ ช่วงไม่มีงานเขาก็จะเอาเครื่องดนตรีมากองไว้ที่บ้าน ตอนเด็กๆ เราก็ซน จับนู่น จับนี่มาเล่น มือบอนไปกดอิเล็กโทนบ้าง ตีกลองบ้าง แต่ก็ไม่ได้เล่นเป็นเพลงนะ แค่สนุกที่มันมีเสียงออกมา

เพลงที่ชอบฟังตอนเด็กๆ เป็นแบบเพลงแบบไหน

เพลงป๊อปตามสื่อทีวีทั่วไป ยุคที่มีรายการโอไอซี (O:IC) เพลงไหนดังก็ฟัง เพิ่งมาฟังหลักหลายก็ตอนที่หมู่บ้านมีอินเทอร์เน็ตเข้า พอทำวงดนตรีก็เริ่มฟังอินดี้ด้วย เราฟังเพลงได้ทุกแนว

อยากให้เล่าถึงตอนที่เริ่มทำวงดนตรี

มาเล่นดนตรีจริงจังตอน ม.5 ตอนนั้นทำตัวแหวกแนว โดดเรียนกลับบ้านเกือบทุกวัน พอไม่มีอะไรทำเลยเอากีตาร์ตัวเก่าของที่บ้านมาเล่น มันเป็นเครื่องดนตรีที่เพื่อนพกไปโรงเรียนกัน พอว่างก็จะไปเปิดสมุดเพลงเล่นอยู่ใต้ถุนอาคาร พอเพื่อนเห็นว่าเราเล่นได้เลยชวนเข้าวง ตอนนั้นรู้สึกแค่อยากเล่นดนตรีเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แล้วก็อยากให้วงของเพื่อนสมบูรณ์แค่นั้น 

หลังจากนั้นก็เข้าคณะแมสคอมฯ เพราะเห็นว่ามีละครเวทีขยับปีก คิดว่าเข้ามาแล้วอาจจะได้ทำเพลงประกอบ แล้วก็เห็นว่าเค้ามีวงดนตรีด้วย ความจริงรู้น้อยไปหน่อย เพราะทุกคณะก็มีวงดนตรี (หัวเราะ) 

พอเข้ามาแล้วเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม

ตอนแรกเพื่อนก็ชวนตั้งวงดนตรี ได้เล่นดนตรีกับเพื่อน พอรุ่นพี่เห็นว่าเราทำวงกันจริงจังเลยให้ทำเพลงละครเวที แล้วช่วงระหว่างปิดเทอมจะขึ้นปี 2 เราก็ได้ทำเพลงประกอบละครการกุศลของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ออกอากาศที่ช่อง 9 แล้วก็มีเพลงประกอบละครช่องไทยพีบีเอสด้วย ตอนนั้นพี่ๆ ขอให้ช่วยอะไรก็ทำหมด พอเขาเรียนจบไป เขาคงนึกถึงเรา เห็นว่าเราสนใจเรื่องเพลงเลยให้ลองทำเพลงดู จากนั้นก็ทำงานยาวๆ มาตั้งแต่สมัยเรียนเลย  

ทำเพลงเองครั้งแรกเป็นอย่างไร

เราลองทำไปเรื่อยๆ แล้วมันก็เป็นเพลงเอง ทฤษฎีมั่วๆ เอาแค่ฟังแล้วมันเป็นเพลงเพราะก็พอ ตอนนั้นต้องทำให้มันเสร็จ เพราะรับมาแล้วปฏิเสธไม่ได้ บังเอิญว่าสุดท้ายมันผ่าน อาจจะขัดกับความเป็นนักดนตรีนิดหน่อยตรงที่เราเก่งคอมพ์มากกว่าดนตรี การทำดนตรีมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีครึ่งหนึ่ง และเป็นเรื่องของทักษะดนตรีอีกครึ่งหนึ่ง

ตอนนั้นยังไม่มีอุปกรณ์ เราก็ใช้เมาส์คลิกในคอมพ์ อย่างเปียโนคอร์ด C จะมีโน้ตอยู่ 3 ตัว คือ C E G ถ้าเราจะทำเปียโนคอร์ด C ก็ต้องใช้เมาส์คลิกทั้ง 3 ตัวนั้น มันถึงจะเท่ากับการกดเปียโน 1 ครั้ง ก็ลำบากเหมือนกันนะ คิดย้อนไปก็ไม่น่าเลย แต่ตอนนั้นไม่มีใครสอน ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง 

ทำเพลงแบบที่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อนเลย

ไม่เคยเลย เริ่มมาศึกษาก็ตอนทำงาน แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ลุกขึ้นมาศึกษาดนตรีนะ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น แค่รู้สึกว่ามันมีงานต้องทำแล้ว งานมันบังคับให้เราต้องศึกษา ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ดีเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีงาน เราคงไม่ได้เรียนรู้ด้านดนตรีเยอะขนาดนี้  

เห็นว่าฝึกเล่นเปียโนเองด้วย

เริ่มเล่นเปียโนหลังเรียนจบ นอกจากดนตรีแล้วเราสนใจเรื่องภาพยนตร์ด้วย เราชอบฟังดนตรีประกอบหนังมาก เปิดฟังตอนทำการบ้าน ตอนเล่นเกม เพราะมันไม่แย่งสมาธิ สมัยเรียนเราเป็นคนใช้ชีวิตกลางคืนเวลาดูหนังก็ดูรอบดึกสุด ดูจบถ้าไม่มีงานก็เล่นเกมกับเพื่อน บางทีก็ไปร้านเกมแบบโต้รุ่ง ตอนออกจากร้านเห็นพระเดินบิณฑบาตรแล้ว พอใช้ชีวิตแบบนั้นนานๆ เข้า ตอนเรียนจบก็ปรับเวลานอนไม่ได้ เลยฟังเปียโนบรรเลงกล่อมหลับทุกคืน พวกเปียโนเพลงอนิเมะ เพลงประกอบหนัง ตอนนี้ก็ยังเปิดฟังอยู่บ้าง พอฟังเยอะๆ เราเลยอยากเล่นเปียโนเป็นบ้าง เลยใช้เงินเก็บสมัยเรียนซื้อเปียโนมาหัดเล่น 

จำได้ว่าชอบทำหนัง แล้วก็ส่งหนังสั้นส่งประกวดด้วย ทำไมหันมาทำเพลงได้

เราแค่อยากเล่าเรื่องมากกว่า เล่าเรื่องผ่านหนังก็เหมือนเล่าเรื่องผ่านดนตรี ถ้ามีเรื่องเล่าที่เหมาะกับหนังก็ไปทำเป็นหนัง เราเป็นคนไม่ค่อยแอคทีฟโซเชียล ไม่ค่อยโพสต์สเตตัส เลยเก็บไปเล่าในสื่อต่างๆ แทน ตอนนั้นเป็นช่วงเรียนจบแต่ยังไม่ได้ทำงาน เลยชวนเพื่อนอีกคนมาทำหนังส่งประกวดแล้วก็ได้รางวัลรองชนะเลิศมา ตอนนั้นทำดนตรีประกอบเองด้วย

แต่ที่ไม่ได้ทำงานในวงการนี้ต่อเพราะการทำหนังมันต้องใช้ทักษะการบริหารคน ต้องจัดการกองให้มันเป็นอย่างที่เราคิด สมมุติว่าคิดได้ร้อยหนึ่ง พอทำเป็นหนังมันอาจเหลือแค่ไม่เท่าไหร่ บางทีเป็นศูนย์ก็มี เลยไม่ค่อยอยากวุ่นวาย แม้ว่าจะมีโอกาสแต่ก็ไม่ได้ทำต่อ เพราะอยากอยู่แบบเงียบๆ 

นี่เป็นจุดที่ทำให้กลับมาทำเพลงของตัวเองหรือเปล่า

ใช่ หลังจากนั้นว่าง เลยอยากทำเพลง ก็ไปชวนเพื่อนบ้าง มีเพื่อนมาชวนบ้าง ตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรือง ต้องทำเพลงไปขายงาน Cat Expo เราก็ทำนะ แต่พอทำไปสักพักเพื่อนติดงานกัน ส่วนเราที่ว่างอยู่คนเดียวเลยไม่ได้ทำต่อ แล้วก็ทำคนเดียวไม่ไหวด้วย เลยหาอะไรที่ทำคนเดียวได้

 

To the Moon.

 

หลังจากเล่าเรื่องเดโมที่ทำค้างไว้ ต้าก็เปิดเพลงนั้นให้เราฟัง เป็นเพลงที่มีเสียงคนร้องต่างจากเพลงที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ หลังจบเพลง เขาเอ่ยปากชมเจ้าของเสียงร้องที่เป็นคนแต่งเนื้อเพลงสละสลวยนั้นขึ้นมา แล้วบอกกับเราว่าเขาเองไม่ถนัดสิ่งนี้เอาเสียเลย

ทำไมเพลงที่ทำคนเดียวถึงไม่มีเนื้อร้อง

เราเป็นคนเสียงต่ำโดยธรรมชาติ แล้วมันเป็นโมโนโทน พอลองเขียนเนื้อเพลงมันก็จะไม่เพราะเท่าคนที่มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง สรุปเลยคือเราร้องเพลงไม่เพราะ เลยเขียนเนื้อไม่เพราะ และไม่ใช่แค่ร้องไม่เพราะ แต่ปกติเราพูดไม่เก่งอยู่แล้วด้วย การร้องเพลงก็เหมือนพูดให้คนฟัง ถ้าเราจะทำเพลงที่มีเนื้อร้องเลยต้องมีคนอื่นร้องให้ แต่ถ้ามีทำนองมาให้ก็พอเขียนได้ 

เพลงบรรเลงเป็นสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกสบายใจ เพราะมันไม่ต้องวุ่นอยู่กับการร้อง แต่งออกมาคนเดียวได้เลย อีกอย่างคือเราก็ฟังกล่อมหลับก่อนนอนมาเยอะด้วย มันเลยฝังอยู่ในหัว 

เล่าให้ฟังหน่อยว่าเพลงแรกที่ทำเป็นอย่างไร

เพลงแรกที่ทำคือเพลงลำดับที่ 2 ใน Spotify เป็นเพลงที่มียอดสตรีมสูงที่สุด ชื่อว่าเพลง Nostalgia ส่วนตัวเราคิดว่าเพลงนี้มันดึงความสนใจเกินไป เมโลดีชัดเกินไป เพราะเราตั้งใจทำเพลงกล่อมหลับ เรากลัวว่าจะทำให้คนฟังตื่นมาฟังก็เลยปล่อยอีกเพลงก่อน ชื่อว่า To the moon เป็นเพลงที่ไม่มีเมโลดี มีแต่คอร์ด เน้นบรรยากาศ 

นี่เป็นการปล่อยเพลงที่ไม่ค่อยถูกหลักการตลาดเท่าไหร่ เพราะปกติคนเขามักจะปล่อยเพลงที่คิดว่าเพราะออกไปก่อนเพื่อเรียกคนฟัง แต่เรากลับปล่อยเพลงที่มีแอมเบียนต์ เป็นเพลงพื้นหลังไม่ค่อยดึงความสนใจ

ตั้งใจให้เพลงทำงานอย่างไรกับคนฟัง

อยากให้ฟังก่อนนอน ไม่อยากให้คนฟังแล้วรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนเพลง มันมีฟังก์ชันที่ต่างจากเพลงบรรเลงแบบอื่นๆ นะ อย่างเพลงคลาสสิคจะมีจังหวะขึ้นลงเยอะ ส่วนเพลงบรรเลงที่เราชอบคือทั้งเพลงจะมีน้ำหนักราบเรียบ ไม่มีท่อนโซโล่ ฟังแล้วไม่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนเพลง ถ้าจะนอนก็ไม่ต้องเริ่มนับแกะตัวที่ 1 ใหม่ 

แต่ละเพลงได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

ถ้าเป็นเรื่องแนวคิด เราไม่ได้เป็นคนที่เรียนดนตรีแบบสูตรสำเร็จ พื้นฐานของเรามาจากเพลงที่ชอบฟังเลย เหมือนเวลาทำอาหาร ก็ทำรสชาติที่ตัวเองชอบก่อน ส่วนเรื่องราวในเพลงก็ไม่ต่างกับเพลงที่มีเนื้อร้อง ไม่ต่างจากการเขียนบทความเลย เราทำให้คนฟังเหมือนทำให้คนอ่าน ต่างกันแค่รูปแบบสื่อและวิธีการเล่าเรื่องแค่นั้น แรงบันดาลใจก็มาจากเรื่องที่เจอ

เช่นเวลาเศร้าๆ ก็จะแต่งเพลงเศร้าแบบนี้หรือเปล่า

เราไม่เคยแต่งเพลงเศร้านะ มันเศร้าเองโดยธรรมชาติ มันจะออกแนวคิดถึงมากกว่า ไม่เคยรู้สึกเศร้าแล้วมาแต่งเพลงเลย เพราะถ้ารู้สึกเศร้าแล้วมาทำเพลงกล่อมให้หลับเราว่าไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เราต้องรู้สึกเชิงบวก ถึงจะแต่งเพลงได้ ส่วนมากคนที่ฟังเพลงกล่อมหลับก็จะเป็นคนที่นอนไม่หลับ บางคนอาจจะเครียดด้วย เราเลยต้องทำให้ตัวเองรู้สึกบวกแล้วมาแต่งเพลง ส่วนคนฟังจะรู้สึกอะไรนั่นก็คงเป็นเรื่องของเขาแล้ว

 

 

เล่าเรื่องลงในเพลงบรรเลงอย่างไร ในเมื่อไม่มีเนื้อร้อง

วิธีการเล่าเรื่องของเพลงบรรเลงมันจะต่างจากเพลงที่มีเนื้อร้องนิดหน่อย เพลงที่มีเนื้อร้องจะถูกจำกัดด้วยภาษา เลยต้องมีการเรียบเรียงให้สอดคล้องกับเมโลดี ส่วนเพลงบรรเลงไม่มีเรื่องภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันสามารถสื่อสารอารมณ์ได้ง่ายกว่า แต่ในอีกแง่มันก็เล่าเรื่องแบบเฉพาะเจาะจงได้ยากกว่าเพราะมันไม่มีเนื้อร้องช่วยอธิบายให้เข้าใจ

สมมุติอยากจะแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดถึง ถ้าเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องมันก็จะง่ายหน่อย แต่เพลงบรรเลงเราจะเล่าให้มันชัดแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะทำเพลงบรรเลงให้เล่าเรื่อง เลยคิดต้องมีเมโลดีชัดเจนแบบเพลง Nostalgia ส่วนถ้าจะเน้นบรรยากาศก็ต้องใช้วิธีคิดอีกแบบหนึ่ง

ช่วงแรกๆ เราทำเพลงแบบเมโลดีสลับกับแบบเน้นบรรยากาศ ทดลองดูว่าอันไหนมันเวิร์กกว่า แต่เดี๋ยวนี้ทำตามใจแล้ว (หัวเราะ)

ต้องเป็นเพลงแบบไหนที่ถือได้ว่าพอใจแล้ว ปล่อยได้แล้ว

เพลงที่พอใจแล้วคือเพลงที่แต่งมาแล้วมันเพราะ แม้ว่าตอนทำเราจะฟังจนชินหูไปแล้ว แต่เราต้องจำความรู้สึกแรกที่ได้ฟังให้ได้ เราเป็นคนที่ self-esteem ต่ำ รู้สึกว่าพอทำไปปุ๊บไม่แน่ใจว่ามันดีไหม เราเลยต้องจำความรู้สึกแรกให้ได้ แล้วใช้วิธีนั้นในการเลือกปล่อยเพลง

แรกๆ ก่อนปล่อยเพลงจะให้เพื่อนฟังก่อน ถ้ามันฟังแล้วรู้สึกง่วงๆ เราก็จะเอาอันนั้น แต่หลังๆ จะใช้ความรู้สึกตัวเองแล้ว

Rainy mood.

นอกจากเพลงบรรเลงในอัลบั้ม ต้ายังมีพอดแคสต์อีกสองช่องคือ Rainy mood เสียงฝนเคล้าดนตรี และ Lo-fi cafe เพลงจังหวะนุ่มๆ ฟังสบาย ที่ตอนหลังกลับหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์พอดแคสต์อย่างเป็นปริศนาเขาเลยหยิบมาลงในช่องใหม่ที่ชื่อว่า tar. แทน 

และแม้จะมั่นใจมาตลอดว่าเป็นแฟนเพลงตัวยงของต้า แต่ก็เพิ่งรู้ครั้งแรกพร้อมกับทุกคนตรงนี้ว่า เขายังทำพอดแคสต์อีกช่อง คือ ASMR Therapy รวมเสียงบรรยากาศที่เคยอัดไว้สมัยทำหนัง 

ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีช่องนี้ด้วย ไม่เคยโปรโมตเลยเหรอ

อันที่จริงก็ไม่เคยโปรโมตเลยสักอัน (หัวเราะ)

ทำไมถึงทำเพลงเป็นพอดแคสต์

จริงๆ พอดแคสต์ Rainy mood เป็นเพลงจากอัลบั้มที่เราทำไว้ตอนปี 2019 ลงในช่องของตัวเอง บังเอิญฝนตกตอนที่ทำเพลงพอดี เราก็เลยเอาเสียงฝนมาใส่ในเพลง แต่กลัวว่าพอปล่อยไปในอัลบั้มแล้วมันจะกลายเป็นเสียงรบกวนมากกว่าฟังสบาย เลยคิดไปเองว่าคนอาจจะไม่ชอบ แต่ส่วนตัวเราชอบ และยังเชื่ออยู่ว่าน่าจะมีคนชอบเสียงฝนเหมือนกัน ก็เลยอัดเสียงฝนตอนนั้นผสมกับเพลงในอัลบั้มของเราแยกเป็นพอดแคสต์

ซึ่งพอดแคสต์นี้ทะยานไปติดอันกับสูงเลยด้วย

ตอนปล่อยใหม่ๆ ก็มีคนฟังอยู่บ้าง พอผ่านมา 2 ปี อยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนแคปมาให้ดูว่าตอนนี้มันขึ้นอันดับ 3 ของประเทศไทยแล้ว เราประหลาดใจมากว่าทำไมคนถึงมาฟัง เพราะมันมีแค่ไม่กี่เพลง แล้วเราก็ไม่ได้แอคทีฟมานานแล้ว 

เพิ่งไปดูสถิติหลังบ้านมา เห็นว่ามียอดสตรีม 4 ล้าน ยอดคนติดตาม 1 แสนคน เยอะกว่าคนติดตามช่องของ Kittikhun P. ของเราอีกนะ แต่ช่วงนี้คนฟังน้อยลง อันดับตกแล้ว อาจเพราะมันเข้าฤดูฝนแล้ว เราดีใจมากกว่า เพราะการได้ฟังเสียงฝนจริงๆ มันดีกว่าฟังเสียงฝนที่อัดมาจากเครื่องอัดเสียงอยู่แล้ว 

 

การทำเพลงแล้วมีคนฟังโดยที่ไม่ต้องให้ความสนใจในตัวเรามันเรียกว่าความสนุกได้ไหมนะ เหมือนว่าเราได้กลายเป็นเพลงของเราเอง ได้กลายเป็นมิวสิคแบคกราวด์ในชีวิตของคนอื่น

 

นอกจากจะดังในไทยแล้ว ยังไปดังที่ไต้หวันด้วย

ปีที่เราเริ่มทำเป็นปีที่ยังไม่มีคนฟัง ตอนนั้นพยายามแชร์ในเฟซบุ๊ก ลองแอคทีฟดู มันก็มีแค่เพื่อนๆ ฟัง ปล่อยไปประมาณหนึ่งเดือนก็มี Spotify ไต้หวันเลือกเพลงเราไปลง editorial playlist  ซึ่งเพลย์ลิสต์แบบนี้คนจะฟังเยอะมากเพราะมันเป็นเพลงที่ทีมงานเลือก มีโลโก้ Spotify แปะไว้ด้านบน ทำให้คนไต้หวันฟังเพลงเราเยอะมาก ตอนนี้ชาติที่ฟังเยอะที่สุดคือไต้หวัน รองลงมาคือ ไทย เวียดนาม อเมริกา และญี่ปุ่น

ตอนนี้เพลงเราก็ยังอยู่ในนั้น เขายังไม่เอาออกเลย อย่างเพลง Nostalgia นี่อยู่มา 3 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าเขาจัดการระบบยังไง แต่มันก็เป็นเรื่องดีสำหรับเรา เพราะเราก็ไม่ต้องโปรโมตมาก ตอนนี้เราแทบไม่ได้แอคทีฟโซเชียล มีเพลงใหม่ก็ไม่ได้แชร์ ทำลงแล้วก็มีคนฟังเลย เราว่าอัลกอริทึมของ Spotify มันดีนะ พอมีเพลงใหม่ก็จะขึ้นมาให้คนที่ติดตามเราได้ฟังเลย โดยที่เขาไม่ต้องติดตามโซเชียลมีเดียของเรา มันทำให้เราเป็นตัวเองด้วย สบายใจที่จะทำด้วย

ทำไมถึงเลือกจะไม่โปรโมต และสบายใจกับการทำเพลงแบบเงียบๆ

ข้อดีของเพลงแนวนี้คือคนไม่ค่อยให้ความสนใจศิลปินมากเท่าไหร่ บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นข้อเสียนะ แต่เรามองเป็นข้อดีเพราะไม่ค่อยอยากอยู่ในจุดที่คนสนใจ เราอยากใช้ชีวิตเงียบๆ แล้วก็ทำเพลงตามใจตัวเอง แต่ก่อนถ้าเป็นศิลปินต้องขยันโปรโมต แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เพราะอัลกอริทึ่มมันช่วยหมดแล้ว เหมือนเจอวิธีที่จะไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แต่ยังมีคนฟังเพลงเรา

ทุกวันนี้เลยไม่ได้แอคทีฟโซเชียลมาก แต่ยังมีแอคเคานต์ไอจีส่วนตัวไว้ให้เพื่อนติดต่อ ส่วนอีกแอคเคานต์เป็นชื่อเดียวกับใน Spotify เราจองยูสเซอร์เนมไว้เผื่อว่าวันหนึ่งจะมาเล่น ก็ยังอุตส่าห์มีแฟนเพลงส่งข้อความมาหานะ ข้อความก็มีหลายแบบ บางทีแชร์เพลงลงสตอรี่แล้วแท็กมาบ้าง หรือบอกขอบคุณที่ทำเพลง ชอบเพลงคุณมาก เพลงคุณช่วยชีวิตเรา บางคนเข้ามาทวงเพลง บอกว่าไม่มีเพลงใหม่เลยก็มี (หัวเราะ) ถึงโดยธรรมชาติจะสบายใจที่ได้อยู่เงียบๆ แต่เวลามีคนส่งข้อความมาหา เราก็ดีใจ เราชอบมาก อ่านหมดเลยนะ 

 

อยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ อาจเพราะว่าเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นนักดนตรี แต่มองว่าตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อมากกว่า

 

ความสนุกของการทำเพลงคืออะไร

การทำเพลงแล้วมีคนฟังโดยที่ไม่ต้องให้ความสนใจในตัวเรามันเรียกว่าความสนุกได้ไหมนะ (หัวเราะ) มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของเรา เหมือนว่าเราได้กลายเป็นเพลงของเราเอง ได้กลายเป็นมิวสิคแบคกราวด์ในชีวิตของคนอื่น ไม่ต้องโดดเด่นมาก เราชอบแบบนั้น 

เท่าที่สังเกต คนอาจคิดว่าพอทำเพลงบรรเลง ก็ต้องฝึกฝน ฟังเพลงทั้งวัน แต่เราไม่ใช่แบบนั้น เราก็ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปเลย คือ เล่นเกม ดูอนิเมะ ดูซีรีย์ อ่านมังงะ วาดรูป จะทำเพลงตอนสบายใจเท่านั้น เพราะว่าเพลงเรามันมีฟังก์ชันให้ฟังสบายไปแล้ว ก็เลยเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องสนองฟังก์ชันนี้ด้วย เลยปล่อยให้ตัวเองสบายใจก่อนจะไปทำเพลง ถ้าเครียดแล้วเราจะทำไม่ได้เลย 

การดูแลสุขภาพจิตใจที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้อิกนอร์นะ แต่ต้องมีพาร์ตที่ดูแลใจตัวเองบ้าง บางครั้งเราอ่านข่าวแล้วเราก็โกรธ แต่พอถึงเวลาทำงานก็มีสวิตช์ปิดให้ตัวเอง ถ้าจะทำเพลงจากความรู้สึกเพียวๆ เราคงต้องทำเมทัล เฮวี ร็อก (หัวเราะ)

แล้วเคยเครียดกับการทำเพลงบ้างไหม เพราะทำเป็นอาชีพหลักด้วย

ไม่เคยเลยเพราะมันไม่มีเดดไลน์ ถ้าเครียดจริงๆ ก็คงเพราะมันไม่มีเดดไลน์ พอเป็นแบบนั้นเราก็เรื่อยเปื่อย จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เลยต้องมีเดดไลน์ให้ตัวเองบ้าง ต้องกำชับว่าวันนี้จะต้องมีเพลงลง แล้วต้องทำให้เสร็จ อย่าเรียกว่าความเครียดเลย เรียกว่าความสบายเกินไปดีกว่า

อยากทำอะไรต่อ

อยากทำเพลงแนวบรรเลงไปเรื่อยๆ แต่อาจเป็นรูปแบบอื่น เช่น เอาดนตรีแนวอื่นมาผสม เพราะตอนนี้ช่องเรามีแต่เสียงเปียโนอย่างเดียว เลยอยากเอาดนตรีแนวอื่นมาผสมบ้าง แต่ก่อนเคยทำเพลงโฆษณา เลยได้เรียนรู้ข้อดีของเพลงหลายๆ แนว เลยอยากเอาข้อดีของแต่ละแนวมาผสมกัน แล้วทำให้ฟังสบายด้วย นี่อาจจะเป็นโจทย์ต่อไป

จริงๆ ไม่อยากทำอะไรเป็นพิเศษเลย อยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ อาจเพราะว่าเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นนักดนตรี แต่มองว่าตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อมากกว่า ดังนั้นถ้าเรายังมีเรื่องอยากเล่าผ่านดนตรี ก็จะทำเพลงไปเรื่อยๆ นั่นแหละ