LOVE SESSION #1
‘ตกหลุมรัก’
“ความรักเป็นดอกไม้ชนิดเดียวซึ่งเติบโตและผลิบานโดยไม่พึ่งฤดูกาล”
คาลิล ยิบราน กวีชาวอาหรับเขียนถึงความรักในนิยายเรื่อง ‘ปีกหัก (The Broken Wing)’ ของเขา
แม้จะเล่าผ่านตัวงานเขียนที่ละมุนละไมดั่งภาพวาดอันวิจิตร อย่างไรก็ตาม ความรักยังเป็นสิ่งที่แสนพิเศษที่มนุษย์รับรู้ได้ด้วยจิตวิญญาณ จนไม่อาจอธิบายสิ่งเหล่านั้นออกมาด้วยคำพูดหรือตัวอักษร
เมื่อตกหลุมรักเราต่างก็รู้ดีว่ามีดอกไม้หน้าตาประหลาดผลิบานในใจของเรา และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราก็เริ่มเปลี่ยนเป็นใครที่ตัวเองไม่เคยรู้จัก บางคนอธิบายเป็นบทกวี อาจร้องเป็นเพลง แต่สิ่งที่แสดงออกคล้ายๆ กันกลับเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา นั่นคงเป็น ‘อาการ’ ที่บ่งบอกได้ว่าเรามีความรักเข้าแล้วจริงๆ
เราหยิบยื่นตัวตนมาทำเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับดอกไม้ที่ชื่อว่า ‘ความรัก’ เราเปลี่ยนเป็นใครที่ตัวเองก็ไม่รู้จักชนิดที่ว่าเราเองก็ยังสังเกตเห็นได้ชัด
ทำไมดึกดื่นแล้วยังตาสว่าง
ทำไมเราถึงพูดตะกุกตะกักอยู่เรื่อยเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา
ทำไมวันนี้เราถึงเดินฮัมเพลงอย่างมีความสุขบนถนนเก่าที่มีฟุตบาทชำรุด
ทำไมเราถึงมองใครบางคนแต่ด้านดีๆ ได้ขนาดนั้น
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นใน ‘ร่างกาย’ ของมนุษย์
‘ความรัก’ สิ่งจำเป็นของการดำรงอยู่
ความรักเป็นเหมือนเชือกบางที่เชื่อมระหว่างคนสองคนและเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมมันจะรัดตึงให้ชายและหญิงสนิทสนมชิดใกล้กัน และนั่นจำเป็นสำหรับการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เราให้ยังอยู่รอดบนโลกใบนี้ต่อไปได้
ความรู้สึกเหล่านี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทำให้ผู้ชายหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรน (Testoseterone) และผู้หญิงหลั่งเอสโตรเจน (Estrogen) ในวันไข่ตก ฮอร์โมนเหล่านั้นทำให้เราปรารถนาในร่างกายของเพศตรงข้าม
แม้ความปรารถนาจะเกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกรัก แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดเสมอไป เพราะในบางครั้งมันก็เกิดขึ้นได้กับคนที่เราไม่ได้รู้สึกพิเศษได้เช่นกัน การดำรงเผ่าพันธุ์จึงเป็นบทบาทหนึ่งที่ความรักยื่นมือเข้าไปช่วย
จักรวาลของความรู้สึกแสนพิเศษนี้กว้างใหญ่และลึกล้ำมากกว่านั้น เพราะความรักดำรงอยู่ในมนุษย์ทุกคนและทำลายกรงขังของธรรมชาติที่ชื่อว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ลงไปอย่างสิ้นซาก ในบางครั้งอาจไม่ต้องการแม้ความแนบชิดทางกายก็ทำให้เราเมารักหัวปักหัวปำจนไม่เป็นตัวของตัวเองได้เช่นกัน
‘ฮอร์โมน’ ความลับเบื้องหลัง ‘แรงดึงดูด’
ความรักขับเคลื่อนด้วยแรงดึงดูด และแรงดึงดูดทำให้เกิด ‘ฮอร์โมน’ ที่เปลี่ยนตัวเราให้เป็นคนอื่น เราอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’
เมื่อความรักถือกำเนิดขึ้นคนทั้งสองจะเกิดแรงดึงดูดปริศนาขึ้นอย่างไม่ทันได้รู้ตัว ซึ่งแรงชนิดนี้ทำงานสอดคล้องกับทฤษฎี ‘การให้รางวัล’ กล่าวคือเมื่อเรายิ่งรู้สึกดี ร่างกายก็จะยิ่งหลั่งฮอร์โมนเหล่านั้นออกมา เป็นการให้รางวัลของสมอง ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในภวังค์รักมักทำอะไรแปลกๆ ไปจากเดิม และกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับตัวเอง
อาการ ‘กินไม่ได้ นอนไม่หลับ’ คงจะไม่เกินจริงสักเท่าไหร่นักสำหรับคนกำลังอินเลิฟ เรากำลังพูดถึง โดปามีน (Dopamine) ที่มักจะถูกปล่อยออกมาในปริมาณสูงเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวกับคนที่เราชอบเกิดขึ้น สารเคมีนี้ทำให้เราไม่อยากอาหาร แต่ยังกระฉับกระเฉง ร่าเริง มีพลังล้นเหลือชนิดที่ว่าต่อให้อยู่กันคนละฟากเมือง ถ้าใจมันรัก บ้านเขาก็ใกล้แค่หน้าปากซอย
สมองส่วนควบคุมการให้รางวัลจะทำงานอย่างบ้าคลั่งเมื่อมีเขาคนนั้นเป็นตัวกระตุ้น อาจกล่าวได้ว่าคนที่เราตกหลุมรักนั้น เป็น ‘สารเสพติด’ ที่มาในรูปแบบ ‘มนุษย์’
ฮอร์โมนอีกชนิดที่สำแดงฤทธิ์ไม่แพ้กันคือ ออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ทำให้เราเกิดความผูกพัน ฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมาเมื่อเราได้ใช้เวลาใกล้ชิดกับใครสักคนเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว เราจะรู้สึกว่าเขานั้นเป็นคนพิเศษ และในตอนนั้นเหตุผลก็จะกลายเป็นรองความรู้สึก เราจะเห็นอกเห็นใจและรักกันมากกว่าเดิม
แม้จะดูสดใสและเป็นฮอร์โมนที่ปล่อยแต่ออร่าสีชมพู แต่ความรักย่อมมาพร้อมกับ ‘ความอิจฉาริษยา’ เมื่อใครสักคนกลายมาเป็นโลกทั้งใบสำหรับเรา เขาก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกในด้านลบได้เช่นกัน หากว่าเรื่องราวที่วาดฝันไว้ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด หรือมีใครสักคนพยายามจะพรากโลกใบนี้ไปจากเรา นั่นอาจเป็นกุญแจที่ไขเข้าไปสู่ห้องมืดในตัวเรา เปลี่ยนให้ความเกรี้ยวกราดออกมาเยือนในแบบที่เราเองยังต้องตกตะลึงก็เป็นได้
เมื่อตกหลุมรักการแสดงออกทางร่างกายของมนุษย์เราจะคล้ายๆ กันด้วยฤทธิ์ของฮอร์โมน พฤติกรรมแปลกๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอาจอธิบายด้วยหลักของวิทยาศาสตร์ แต่นั่นก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกนี้ มันยังคงปริศนา ไม่เคยแน่นอนว่าจะเริ่มต้นและสิ้นสุดในรูปแบบไหน
ดอกไม้ชื่อ ‘ความรัก’ ที่ผลิบานอยู่ในใจมีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น คงมีแต่เราที่รู้.
อ่านบทความซีรี่ส์ LOVE SESSION ตอนอื่นๆ ได้ที่
- LOVE SESSION #1 : ‘ตกหลุมรัก’
- LOVE SESSION #2 : ‘ความสัมพันธ์’
- LOVE SESSION #3 : ‘ทางแยก’
- LOVE SESSION #4 : ‘การจากลา’
อ้างอิง
- Katherine Wu.Love, Actually: The science behind lust, attraction, and companionship. http://sitn.hms.harvard.edu/flash/2017/love-actually-science-behind-lust-attraction-companionship/
- นพ.สุริยา ธีรธรรมากุล.LOVE HORMONE รู้จักฮอร์โมนความรัก.https://www.bangkokhospital.com/th/health-tips/love-hormone