life

‘คำขอโทษ’ เป็นประโยคสั้นๆ ที่รวมความรู้สึกอันซับซ้อนของมนุษย์และเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าเอาไว้ในตัวเองได้มากมาย—กว่าจะเป็นมาคำขอโทษ มันย่อมเริ่มต้นจากการกระทำผิดของใครสักคน, มีทั้งความขุ่นเคืองใจหรือคราบน้ำตาของใครอีกคน, การทุ่มเถียงกันไปมาหาเพื่อคนผิด, การสำนึกผิดของฝ่ายกระทำ จนกระทั่งกลายเป็นการตัดสินใจเอ่ยปากขอโทษออกไปในท้ายที่สุด ส่วนฝ่ายถูกกระทำจะให้อภัย หรือจะแค้นเคืองต่อไปหรือไม่ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้กระทำผิดจะสามารถเรียกร้องได้

สำหรับบางคน การเอ่ยคำขอโทษ (จากใจ) จึงไม่ใช่เพียงเป็นการโหยหาการให้อภัยจากใครสักคน แต่มันยังเป็นการแสดงหลักฐานของการสำนึกผิด ยอมจำนนในความบกพร่องของการเป็นมนุษย์ และอาจเป็นหมุดหมายของการยอมรับที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น

คำขอโทษเป็นอะไรได้มากมาย…

และบ้างก็ว่า บางครั้ง คำขอโทษก็เป็นเพียงเครื่องมือ ที่ผู้กล่าวคำขอโทษหยิบมาใช้ปลดปล่อยตัวเองอย่างเห็นแก่ตัว เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปแบบไร้มลทินมัวหมอง

“เธอมาขอโทษ ก็ทำเพื่อตัวเอง ไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิด เธอขอโทษแล้วจบ ส่วนเราก็ต้องให้อภัยเธอใช่ไหม แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตต่อได้ มันง่ายไปไหม” ในหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2019) โดยผู้กำกับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ตัวละครตัวหนึ่งพูดกับตัวละครอีกตัว หลังจากเขาได้ยินคำขอโทษต่อตัวเอง ที่ไม่อาจทำใจยอมรับหรือให้อภัยได้โดยง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น บางคำขอโทษ ก็ยังไปไกลกว่าระดับปัจเจก เช่น ‘การขอโทษต่อสาธารณะชน’ หรือ ‘Public Apology’ ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐต่อรัฐ ประเทศต่อประเทศ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่แม้ว่าจะไม่ใช่การกระทำของคนในเจนเนเรชั่นของตัวเองโดยตรง แต่ก็นับเป็นความผิดติดตัวตั้งแต่เกิดคล้ายมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์เรียกช่วงเวลาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ที่หลายประเทศเริ่มตระหนักได้ถึงการกระทำผิดพลาดในอดีตของคนเจนเนเรชั่นก่อนหน้า ทั้งการก่อสงคราม ล่าอาณานิคม ทำให้บางเผ่าพันธุ์เป็นทาส การสร้างความเกลียดชังระหว่างมนุษย์  ฯลฯ นี้ว่า ‘Age of Apology’ หรือ ‘ยุคสมัยของการขอโทษ’ (อ่านเพิ่มเติม:Public Apology การขอโทษต่อสาธารณะชน กับประเด็นขบคิดที่เป็นมากกว่าการแสดงความรู้สึกผิด’ )

คำขอโทษเป็นอะไรได้มากมาย…

แต่เคยสงสัยไหมว่า กับใครหลายคน เหตุใดทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ว่าตัวเองทำผิดซึ่งๆ หน้า แต่คำขอโทษกลับหลุดออกมาจากปากได้เชื่องช้าและยากเย็นเหลือเกิน

จิตวิทยาอธิบายเหตุผลตรงนี้ไว้ง่ายๆ ว่า การปฏิเสธที่จะขอโทษมักสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องความรู้สึกเปราะบางของตัวเอง ซึ่ง ดร. กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือขายดี เช่น How to Fix A Broken Heart ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่มีปัญหาในการกล่าวคำขอโทษนั้น อาจโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในส่วนลึกของพวกเขา คำขอโทษก็คงเปรียบได้กับ ‘ภัยคุกคาม’ ต่อจิตใจ

‘นักไม่เอ่ยขอโทษ’ มีปัญหาในการแยก ‘การกระทำ’ (action) ออกจาก ‘อุปนิสัย’ (character) ของตัวเอง โดยคิดว่าเมื่อพวกเขาทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็กแค่ไหน มันก็จะทำให้พวกเขากลายเป็นคนเลวร้ายอย่างเบ็ดเสร็จแบบอัตโนมัติ การขอโทษจึงกลายเป็นภัยคุกคามต่อ ‘การนับถือตัวเอง’ (self-esteem) ขณะที่คนส่วนใหญ่คิดว่า คำขอโทษคือการเปิดประตูสู่การสำนึกผิด แต่นักไม่เอ่ยขอโทษมักคิดว่ามันคือการเปิดประตูสู่ความอับอายเสียมากกว่า

ซึ่งก็พอจะมีตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องนี้ ผ่านงานศิลปะแนวคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตของศิลปินชาวอเมริกันคนหนึ่งในทศวรษษที่ 1980 ที่เขาได้ทำการเปิดคู่สายโทรศัพท์ชื่อ Apology Line และชักชวนให้ผู้คนโทรมาสารภาพบาปเพื่อขอโทษในความผิดที่เคยกระทำต่อคนอื่น โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนแท้จริงของตัวเอง ซึ่งตลอดระยะเวลาของการเปิดสายยาวนาน 15 ปี ก็มีคนโทรมามากมาย และได้รับการบันทึกเสียงที่เป็นการสารภาพบาปนี้ไว้มากกว่า 500,000 เทป (อ่านเพิ่มเติม: ‘มิสเตอร์ Apology การสารภาพบาปในงานศิลป์ ที่กลายความมืดมิดชวนขนหัวลุก’ )

และไม่ว่าใครจะมองคำขอโทษในแง่ไหน นักจิตบำบัดชื่อดังอย่าง บเวอร์ลี เอนเจล (Beverly Engel) ก็บอกว่า “การขอโทษคล้ายกับเวทมนตร์​ มันมีพลังในการเยียวยาความเสียหาย ซ่อมแซมความสัมพันธ์ ปลอบประโลมบาดแผลและรักษาหัวใจที่พังทลาย”

โดยเธออธิบายมันในแง่ของ ‘พิธีกรรมทางสังคม’ ที่เป็นหนทางในการแสดงความเคารพหรือการเอาใจใส่ระหว่างกัน (empathy) แม้แน่นอนว่า การขอโทษนั้นไม่อาจใช้เพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้ แต่เอนเจลก็บอกว่า “แม้คำขอโทษไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการกระทำที่รุนแรงในอดีตได้ แต่หากมันถูกกล่าวออกไปอย่างจริงใจและมีประสิทธิภาพมากพอ มันก็สามารถช่วยแก้ไขผลกระทบในแง่ลบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นได้”

โดยยกตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การได้รับกการขอโทษจะส่งผลดีต่อร่างกายในเชิงบวก เช่น การทำให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ จนกระทั่งทำให้เราหายใจได้อย่างสม่ำเสมอขึ้น แถมเธอยังเสนอเทคนิคในการขอโทษเปี่ยมความหมายที่ประกอบไปด้วยหลัก 3R’s นั่นคือ

1.Regret หรือการแสดงออกซึ่งความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

2.Responsibility ซึ่งคือการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนโดยไม่โทษลมฝนหรือคนอื่น

3.Remedy หรือถ้อยคำแถลงอย่างจริงใจที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งควรเป็นวิธีการเยียวยาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยทางด้านวัตถุ หรือจิตใจก็ตาม

และหากอ่านมาถึงตรงนี้ เราก็อยากเชิญชวนพินิจพิจารณา ว่ามีใครบ้างในชีวิตที่เราเคยกระทำผิดต่อเขา ยังไม่ได้กล่าวคำขอโทษออกไป และคุณอยากได้รับการให้อภัยจากพวกเขาในตอนนี้…

 

อ้างอิง