life

มนุษย์ไม่ได้เป็นพหูสูตตั้งแต่เกิด เราต่างเรียนรู้จากความผิดพลาด และเติบโตขึ้นจากบาดแผลของความไร้เดียงสา เราต่างเดินไปข้างหน้า ขณะที่ความผิดพลาดข้างหลังก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขเยียวยา

แต่ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แล้วอะไรคือเหตุผลที่ต้องย้อนกลับไปนึกถึงมัน เพื่อหาคำแนะนำให้แก่ตัวเองเวอร์ชั่นที่อ่อนเยาว์กว่า?

“ผมหวังว่า ผมน่าจะรู้ให้เร็วกว่านี้ ว่าการขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ” แอนดรูว์ เวลส์ (Andrew Wells) นักกฎหมายสิทธิบัตร ผู้เคยทุกข์ทรมานกับการเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า เขียนไว้ในข้อเขียนของเขาแบบนั้น “ขั้นตอนอันน่าหวาดหวั่นในการนัดหมายพูดคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อบำบัดจะกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยทำ”

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ MyPlus Students’ Club องค์กรช่วยหางานสำหรับผู้พิการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีแคมเปญที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุน #MentalHealthAwarenessWeek หรือ ‘สัปดาห์แห่งการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิต’ ของประเทศอังกฤษ ที่จัดควบคู่ไปกับวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี โดยเชิญผู้คนมาเขียนบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ผ่านหัวข้อ ‘What I Wish I Knew…’ หรือ ‘สิ่งที่ฉันปรารถนาว่าฉันน่าจะรู้ก่อนหน้านี้…’

คำถามคือ หากเราไม่สามารถย้อนอดีตกลับไปแก้ไขอะไรได้ การมาพูดประมาณว่า ‘รู้งี้ ฉันน่าจะ…’  แบบที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า counterfactual thinking หรือการเปรียบเทียบสิ่งที่ตัวเองคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง (ซึ่งมักทำให้จิตใจหดหู่) จะมีประโยชน์อะไร

ในการศึกษาด้านจิตวิทยาเชิงสังคมชิ้นหนึ่ง สองนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา โรบิน โคโวลสกี (Robin Kowalski) และ แอนนี แมคคอร์ด (Annie McCord) ถามผู้คนอายุเกิน 30 ปี มากกว่า 400 คน ในประเด็นเกี่ยวกับคำแนะนำต่อตัวเอง หากพวกเขาสามารถย้อนเวลากลับไปได้

โดยนอกจากการถามถึง ‘คำแนะนำต่อตัวเองในอดีต’ โคโวลสกีและแมคคอร์ดยังขอให้ผู้ร่วมทำการวิจัยช่วยอธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อคำแนะนำเหล่านั้น ซึ่งต่อมาโรบิน โคโวลสกีเขียนบทสรุปการวิจัยลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ Scientific American และเล่าถึงผู้เข้าร่วมวิจัยคนหนึ่ง ที่เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเธอในตอนที่พ่อ-แม่อย่าร้าง ขณะเธอกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมว่า “ทุกคนต่างหมกมุ่นกับความเจ็บปวดของตัวเอง และไม่มีใครเลยที่จะถามถึงความเจ็บปวดของฉัน ฉันรู้สึกว่าตัวเองล่องหนและไม่เป็นที่ต้องการ นั่นคือครั้งแรกที่ฉันตระหนักถึงภาวะถูกทำลายอย่างถึงแก่น” ซึ่งคำแนะนำของเธอก็คือ “การขอความช่วยเหลือจากผู้ช่วยชาญในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนอ่อนแอ”

โคโวลสกีบอกว่า “การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า การพิจารณาถึงคำถามเหล่านี้สามารถมีประโยชน์ต่อมุมมองเกี่ยวกับตัวเองในปัจจุบัน และยังช่วยทำให้เกิดหนทางที่ชัดเจนขึ้นที่คนคนหนึ่งจะก้าวเดินไปในอนาคต”

ผลการวิจัยนี้รายงานว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วม บอกว่าคำแนะนำที่พวกเขาเสนอต่อตัวเอง จะมีอิทธิพลต่อวิธีการที่พวกเขาจะใช้อธิบายตัวเองในอนาคต

แม้ต่อมา โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) นักเขียนคนดังแห่ง The Guardian จะเขียนวิจารณ์ถึงงานวิจัยของโคโวลสกีและแมคคอร์ดว่า “ถ้าการให้คำแนะนำต่อตัวเองในอดีตเป็นแค่เทคนิคสำหรับกระตุ้น และเรียกเตือนสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มาแล้วในชีวิต ก็คงไม่มีใครคัดค้าน แต่เมื่อลองไล่ดูคำตอบของการศึกษานี้ สิ่งที่คุณจะรู้สึกได้บ่อยครั้งมันคือแรงสั่นสะเทือนของความเสียใจ ผู้คนต่างหวังอย่างแท้จริงว่า พวกเขาจะไม่แต่งงานตอนอายุยังน้อยเกินไป หรือไม่ได้เลือกอาชีพตามที่พ่อแม่คาดหวัง หรือใช้เงินแทนที่จะเลือกเก็บมัน เหล่านี้ต่างนำไปสู่การโฟกัสข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดความเสียใจ”

แต่สิ่งที่เบิร์กแมนเห็นว่าเป็นประโยชน์ และน่าจะตรงกับความคิดเห็นของนักวิจัยเจ้าของผลการศึกษานี้ก็คือ การสามารถสังเคราะห์บทเรียนจากอดีตได้เช่นนี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าคนที่มีวิจารณาญาณมากพอในการกลับไปวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง คือคนที่เติบโตขึ้นมาเป็นคนอีกประเภทจากสิ่งที่ตัวเองเคยเป็นในอดีต พูดให้ชัดคือเป็นคนที่ดีกว่าในอดีต และเราควรรู้สึกดีกับมันมากกว่ารู้สึกเสียใจ

“สิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือ มันไม่เกี่ยวกับว่าคุณได้ทำอะไรแตกต่างออกไปในอดีต หรือคุณเป็นใครที่คุณไม่สามารถเป็นได้ในตอนนั้นหรือไม่ แต่มันคือสิ่งที่คุณทำ ณ ตอนนี้”

ทว่า ใช่หรือไม่ว่าการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างในเวลาปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องของอดีตอย่างไม่อาจแยกขาด และบางทีมันอาจเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ 

ในเรื่องของเวลา มีอุปมาหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับเดือน ‘มกราคม’ ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ในปฏิทินกริกอเรียนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน—Janurary ซึ่งเป็นชื่อเดือน มกราคม ในภาษาอังกฤษนั้น ตั้งชื่อตามเทพปกรณัมโรมันอย่าง เจนัส (Janus) เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลง ผู้ปรากฎในลักษณะเทพผู้มีสองใบหน้า—หน้าหนึ่งมองไปยังอนาคต และอีกหน้าหนึ่งมองไปยังอดีตที่ผ่านมา ราวกับว่าการเริ่มต้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงล้วนเกี่ยวพันอยู่ทั้งอดีตแต่หนหลัง และอนาคตข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง

ซึ่งหากมันไม่ทำให้เราทนระทมทุกข์กับสิ่งที่ไม่อาจกลับไปแก้ไขมากจนเกินไป ก็คงไม่เสียหายอะไรที่จะลองตั้งคำถามกับตัวเอง และลองตอบดูว่า

‘อะไรคือสิ่งที่เราหวังว่าเราน่าจะรู้ให้เร็วกว่านี้?’

 

อ้างอิง

  • Andrew Wells. What I wish I knew… that asking for help isn’t a sign of weakness. https://bit.ly/398bcVy
  • Robin Kowalski และ Annie McCord. If I knew then what I know now: Advice to my younger self.https://bit.ly/3d5FTvM
  • Robin Kowalski. What We Can Learn from the Advice We’d Give Our Younger Self. https://bit.ly/3tHaUNs
  • Oliver Burkeman. You can’t change the past, so why give advice to your younger self?. https://bit.ly/2NQADUq