life

ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน คือความคิดแรกๆ จากความรู้สึกในใจ ยามที่ใครหลายคนนึกถึงบ้านหรือโหยหาบ้านที่ตัวเองจากมานาน

เราอาจเรียกทุกที่พักว่าเป็นบ้านได้ก็จริง แต่คงไม่ใช่ทุกที่จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน หรือ a sense of home ได้อย่างสนิทใจ ที่ที่เราอยู่จึงมักจะเคลือบแฝงความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ ทั้งความรักและความชัง ทั้งอยากโอบกอดและต้องการหลีกหนีให้พ้น เกิดเป็นคำถามที่ชวนให้ทุกคนมองย้อนกลับมาสำรวจใจตัวเองว่า รู้สึกอย่างไรกับบ้านของตน และความเป็นบ้านที่ทำให้ใจพองโตเมื่อถึงนึกมีหน้าตาเป็นแบบไหน

 

คำว่า ‘บ้าน’ ที่ไม่เคยเหมือนกัน

หลายวัฒนธรรมแบ่งความรู้สึกถึงความเป็นบ้านอย่างชัดเจนด้วยความหลากหลายของภาษา ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยที่เรียกสถานที่พักรวมกันด้วยคำว่า บ้าน คำเดียว ภาษาจึงกลายเป็นข้อจำกัดทำให้คนในแต่ละวัฒนธรรมรู้สึกถึงความเป็นบ้านแตกต่างกัน

Photo: Christina’s World (1948), Andrew Wyeth / Courtesy of The Museum of Modern Art

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แบ่งคำว่าบ้านออกเป็น house เพื่อสื่อความหมายถึงรูปธรรมของบ้านว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง และใช้คำว่า home สื่อความหมายถึงนามธรรมของบ้านที่มีความรู้สึกผูกพันของผู้อยู่เข้ามาเกี่ยวข้อง

เหมือนกับภาษาเยอรมัน ที่แบ่งบ้านออกเป็น haus (เฮาส์) แปลว่า house และ hime (ไฮม์) แปลว่า home เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น แม้จะเขียนดัวยอักษรคันจิตัวเดียวกัน คือ (อักษรจีนที่ยืมมาใช้ในภาษาญี่ปุ่นใช้เป็นอักษรสื่อความหมาย) แต่แบ่งการออกเสียงเป็น いえ (อิเอะ) แปลว่า house และ うち (อุจิ) แปลว่า home

ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกที่มีต่อ home ยังมีรายละเอียดอื่นๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งทำให้ความเป็นบ้านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นไปอีก ‘ความเป็นบ้านคืออะไร’ จึงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเป็น subjective หรือ อัตวิสัย หมายความว่า ความเป็นบ้านขึ้นอยู่กับความคิดและมุมมองของคนแต่ละคน

 

ภาพความเป็นบ้านจากปลายพู่กันของศิลปิน

เดิมทีความเป็นบ้านยังไม่ใช่เรื่องสำคัญกับชีวิตเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 17

โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) จิตรกรชาวดัตช์ เจ้าของผลงานเอกอย่าง Girl with a Pearl Earring ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่มีไม่เหมือนใคร เพราะเขาเลือกเขียนภาพที่นำเสนอกิจวัตรของคนชนชั้นกลางซึ่งเน้นความสมจริงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นความแตกต่างจากศิลปินยุคก่อนหน้าที่มักจะเลือกรับใช้แต่ชนชั้นสูงเพราะหวังให้ตนได้รับการอุปภัมถ์ในระยะยาว เพื่อดำเนินสำมาอาชีพต่อไปได้อย่างราบรื่น

Photo: Girl with a Pearl Earring (ca.1665), Johannes Vermeer / Courtesy of Mauritshuis, The Hague
Photo: Het melkmeisje or The Milkmaid (ca.1660), Johannes Vermeer via https://www.rijksmuseum.nl/collectie/SK-A-2344

ภาพวาดส่วนใหญ่จึงเป็นภาพของตระกูลขุนนาง หรือพ่อค้าวานิชที่ทำกิจการจนร่ำรวยมั่งคั่งเท่านั้น เพราะพวกเขามีเงินเหลือเผื่อว่าจ้างศิลปิน ทุกอย่างที่ปรากฏในภาพล้วนแต่เป็นความงดงามที่ถูกจัดวางองค์ประกอบใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่ตรงกับความจริงที่เป็นอยู่

แม้เฟอร์เมย์จะเป็นผู้บุกเบิกใช้ภาพเขียนถ่ายทอดความเป็นบ้านของคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียงในสังคม ไม่ใช่คฤหาสน์ของผู้รากมากดี หรือกระท่อมซอมซ่อของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ถ้าหากมองดูผลงานโดยรวมของเขา กลับไม่รู้สึกเชื่อถึงความเป็นบ้านอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะลักษณะของบ้านที่ปรากฏในภาพเขียนส่วนใหญ่ คือบ้านชนชั้นกลางที่มีฐานะ สังเกตได้จากสิ่งของและท่าทางของคน เช่น ภาพความอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัวที่กำลังเล่นดนตรีและร้องเพลงร่วมกัน หรือภาพที่แขวนบนผนังก็เป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงขณะนั้น

Photo: Het concert or The Concert (ca.1664), Johannes Vermeer via https://www.wga.hu/frames-e.html?/html/v/vermeer/03b/23conce.html
Photo: The Procuress (1622), Dirk van Baburen / Courtesy of Museum of Fine Arts, Boston

ความเป็นบ้านจึงเป็นความรู้สึกที่ยึดโยงกับชนชั้นและสถานะทางสังคมอย่างแยกจากกันไม่ได้

 

บ้านในนวนิยายและยุคล่าอาณานิคม

นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่บอกเล่าบ้านและความเป็นบ้าน คือ Robinson Crusoe ประพันธ์โดย แดเนีย​ล เดโฟ (Daniel Defoe) ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1719 เพราะส่วนหนึ่งของเรื่องบรรยายถึงการทำพื้นที่รกร้างที่ไร้ความหมายให้กลายเป็นที่พักและใช้ชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกเป็นบ้าน พร้อมทั้งอ้างอิงเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ช่วงล่าอาณานิคม

Photo: Courtesy of British Library

ทุกครั้งที่เจ้าอาณานิคมเยือนดินแดนใหม่ นอกเนื่องจากความพยายามเสาะหาทรัพยากรแล้ว ยังต้องการสร้างที่พักเพื่อลงหลักปักฐานให้ชาติอาณานิคมมีตำแหน่งแห่งที่บนแผ่นดินนั้นๆ เสมอ โดยไม่สนใจว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างกันแค่ไหน เพราะลักษณะบ้านท้องถิ่นให้ความรู้สึกเป็นบ้านได้ไม่ดีพอ เจ้าอาณานิคมจึงเลือกเปลี่ยนพื้นที่โดยรอบให้ใกล้เคียงกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนแทน

บ้านทุกหลังที่สร้างขึ้นใหม่ถูกเรียกเหมือนกันหมดว่า colonial house เพราะถอดแบบมาจากลักษณะของบ้านในประเทศเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นความต้องการสร้างบ้านให้ตรงกับความรู้สึกของผู้อยู่ เพื่อทำให้สิ่งปลูกสร้างใหม่หลังนี้กลายเป็นบ้านโดยสมบูรณ์ที่สุด

 

เลือกใช้สิ่งของบอกความเป็นบ้าน

การสร้างบ้านใหม่ย่อมเป็นข้อจำกัดของคนที่ไม่มีทรัพย์สินมากพอ โดยเฉพาะคนผลัดถิ่นที่มีเหตุทำให้ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินเกิด กลายเป็นว่าการไม่มีบ้านกลับเพิ่มความรู้สึกเป็นบ้านให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกโหยหาและคิดถึงบ้านที่ตนจากมา จึงเลือกตกแต่งที่พักด้วยวัตถุหรือสิ่งของที่สื่อความเป็นบ้านแทน เช่น บ้านของคนอินเดียจะนิยมจุดธูปหอมหรือกำยาน

ความรู้สึกถึงบ้านจึงเชื่อมโยงกับสิ่งตกแต่งบ้านได้ด้วย เพราะเป็นการสร้างความหมายหรือคุณค่าทางใจให้กับของบางชิ้นที่ต้องมีติดตัวไว้เสมอ ในทางจิตวิทยาเรียกของเหล่านี้ว่า security blanket หรือ transitional object ซึ่งไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเชื่อมโยงความรู้สึกเป็นบ้านกับวัตถุชิ้นไหน หรือบางคนอาจรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับของชิ้นใดเลยก็ได้ เพราะเชื่อมโยงกับคนมากกว่า

ของชิ้นสำคัญที่มีบทบาทสร้างความเป็นบ้านมากที่สุดคือหนังสือ โดยเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ book club หรือวัฒนธรรมการอ่านวรรณกรรมและกวีให้ฟังร่วมกันที่ต่อยอดมาจากการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล เพราะเป็นกิจกรรมยามว่างของชนชั้นสูง รวมถึงชนชั้นกลางในเวลาต่อมา

Photo: Woman Reading of Portrait of Sofia Kramskaya (ca.1866), Ivan Kramskoi / Courtesy of Tretyakov Gallery

ภายในบ้านจึงต้องมีชั้นหนังสือในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ส่งผลถึงบ้านในยุคสมัยใหม่ ซึ่งตกแต่งด้วยกล่องที่ทำเป็นรูปสันหนังสือเพื่อพรางตาและสร้างความรู้สึกเป็นบ้าน หลายคนพอใจซื้อหนังสือเป็นของตกแต่งในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนมากกว่าจะหยิบมาอ่าน

วัตถุที่สื่อถึงความเป็นบ้านมักจะมีนัยนะทางสังคมในยุคนั้นๆ แต่ละช่วงเวลาจึงมีสิ่งของที่ขับเน้นความเป็นบ้านแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและกระแสความนิยมขณะนั้น อย่างปัจจุบัน เทียนหอมคือของที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายและส่งเสริมให้รู้สึกความเป็นบ้านน่าอยู่ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเตียงหรือฝูก เพราะหน้าที่สำคัญของบ้านคือที่หลับพักผ่อน ทำให้หลายคนรู้สึกว่า เมื่ออยู่ในห้องนอนหรืออยู่บนฝูกจะรู้สึกอุ่นใจมากกว่าที่อื่นๆ ในบ้าน

 

ความเป็นบ้านคือความเป็นเรา

ความเป็นเราและความเป็นบ้านคือสองสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ความเป็นเราในที่นี้หมายถึง sense of privacy หรือ ความรู้สึกเป็นส่วนตัว เพราะว่าเราจะเปิดเผยตัวตนโดยไม่เขินอาย ก็ต่อเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่เท่านั้น คือบ้านของเรานั่นเอง

บ้านต้องทำให้เราอุ่นใจและมั่นใจแสดงกิริยาบางอย่างที่ไม่กล้าทำที่อื่น พื้นที่ของบ้านควรแบ่งสัดส่วนชัดเจน แต่ละห้องมีหน้าที่และการใช้งานต่างกัน เช่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ หากเปรียบเทียบบ้านสมัยใหม่กับบ้านตามขนมเดิมจะเห็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้คนในอดีตยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว และไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่อย่างชัดเจนระหว่างที่ส่วนตัวกับที่สาธารณะ

ทั้งหมดเป็นอิทธิพลจาก industrialization ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจสังคมจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักร ถือเป็นการเปลียนผ่านของสังคมที่เคลื่อนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่

Photo: In the Anchor-Forge at Söderfors or The Smiths Hard at Work (1782), Pehr Hilleström / Courtesy of Nationalmuseum, Stockholm

บ้านสมัยใหม่ยังถูกมองว่าเป็น microcosm หมายถึง โลกจำลองขนาดเล็กที่ใช้เป็นตัวแทนของโลกใบใหญ่ได้ เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับของสมาชิกในครอบครัว ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในบ้านกลายเป็นภาพสะท้อนถึงการเป็นพลเมืองของรัฐอีกทีหนึ่ง บ้านจึงมีนัยยะทางการเมืองรวมอยู่ด้วยตลอดเวลา โดยเฉพาะบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงในบ้าน

เดิมทีการดูแลความเรียบร้อยในบ้าน เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสมาชิกทุกคน แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้เพศและสรีระทางร่างกายกลายเป็นเส้นแบ่งหน้าที่ ผู้ชายต้องออกไปทำงานกับเครื่องจักร บ้านจึงเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้ให้กับการพักผ่อนและใช่ชีวิตที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการงาน

ส่วนการเกิดขึ้นของเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เช่น ไมโครเวฟ เตาอบ เครื่องปั่น ช่วยทุ่นแรงและลดขั้นตอนการผลิตที่ผู้ชายเคยรับผิดชอบออกไป ทำให้ไม่ต้องออกไปตัดฝืนเพราะใช้ถ่านหรือไฟฟ้าแทน ผู้ชายจึงถ่ายโอนถ่ายหน้าที่ดูแลบ้านให้เป็นของผู้หญิงโดยปริยาย ทำให้ต้องทำความสะอาดเครื่องใช้ทุกวัน

Photo: Women as Happy Housewives (ca.1950), Ethan

ภาพความเป็นบ้านที่อบอุ่นในอดีตจึงต้องประกอบด้วยสมาชิกที่ทำหน้าที่ต้องตนได้อย่างไม่ขาดตกบพพร่อง ซึ่งอาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะคนเลือกใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น ภาพเหล่านี้จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นได้

 

บ้านที่ไม่ใช่บ้านกับรู้สึกไม่คุ้นเคย

ความเป็นบ้านในสื่อหรือในโฆษณาที่พักอาศัยนิยมเลือกฉายภาพบ้านไปในทิศทางคล้ายกัน คือสร้างองค์ประกอบให้รู้สึกอบอุ่นตามความคาดหวังของชนชั้นกลาง ซึ่งค่อนข้างเกินความเป็นจริง เช่น ต้องเป็นครอบครัวที่มีทั้งพ่อ แม่ และลูกวัยเด็ก อาจมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย

แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือสัตว์เลี้ยง และสัตว์เลี้ยงที่สื่อถึงความเป็นบ้านได้ดีที่สุดคือสุนัข โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์ที่เป็นมิตรกับมนุษย์ เช่น โกลเด้น รีทริฟเวอร์ (Golden Retriever) ลาบราดอร์ รีทริฟเวอร์ (Labrador Retriever) หรือบีเกิล (Beagle)

Photo: William McGillivray and His Family (1806), William Berczy / Courtesy of McCord Museum

นอกจากนี้ ทุกอย่างภายในบ้านต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ในเวลากลางวันแสงแดดภายนอกต้องส่องเข้าตัวบ้านทุกมุมห้อง ไม่ให้มีจุดอับแสงหรือมุมมืดซ่อนอยู่ การพยายามนำเสนอภาพความน่าอยู่ของบ้านกลับลดทอนความรู้สึกเป็นบ้าน เป็นความรู้สึกไม่สนิทใจที่เรียกว่า uncanny (หรือ unheimlich ในภาษาเยอรมัน) เพราะเคลือบแคลงสงสัยว่าบ้านที่เห็นขัดแย้งกับบ้านในความเป็นจริง เป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความคุ้นเคย

เช่น บ้านในละครหรือซีรีส์น้ำเน่าที่ขาดความสมจริง การพยายามสร้างภาพจำให้ความเป็นบ้านที่แสนจะอบอุ่นด้วยการกำหนดบทบาทผ่านเพศและความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงบ้านในภาพเขียนของเฟอร์เมร์ก็ให้ความรู้สึก uncanny ไม่ต่างกับโฆษณาขายบ้าน

‘บ้าน’ คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราทุกคน และ ‘ความเป็นบ้าน’ คือความรู้สึกสำคัญที่ทำให้ใจมั่นคงและปลอดภัย เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยยังมีบ้านให้กลับไปพักพิง แต่คำว่าบ้านของเราไม่เคยเหมือนกัน และไม่จำกัดอยู่แค่เคหสถานแบบใดแบบหนึ่ง

Photo: The Bedroom (1889), Vincent van Gogh / Courtesy of Van Gogh Museum

จึงเป็นเรื่องน่ายินดี หากใครก็ตามมีบ้านหลังนั้นที่อบอวลด้วยความรู้สึกเป็นบ้านอยู่ทั่วอาณาบริเวณ ในทางกลับกัน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ใครหลายคนไม่มีบ้านให้อาศัย ความเป็นบ้านของพวกเขาจึงเป็นภาพฝันที่อาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริงอีกครั้ง

ถึงตรงนี้ หวังว่าคุณจะมีคำตอบให้ตัวเองแล้วว่า ความเป็นบ้านของคุณนั้นมีรูปร่างหน้าตาและความรู้สึกอย่างไร

 

อ้างอิง

  • Binstock, B (2017). Interiors and interiority in Vermeer: empiricism, subjectivity, modernism. Palgrave Commun 3, 17068. https://doi.org/10.1057/palcomms.2017.68
  • Cowan R. S. (1976). The “Industrial Revolution” in the home: household technology and social change in the 20th century. Technology and culture, 17(1), 1–23. https://doi.org/10.2307/3103251
  • Hyde Flippo. German for Beginners: ‘Haus und Hof’. https://bit.ly/3w9JFf9
  • McQuire, Scott (2008). The Media City: Media, Architecture and Urban Space. London : Sage Publications.