life

มิตรภาพสำคัญ แต่บางครั้งเราอาจต้องโหดเหี้ยมกับมิตรภาพเสียบ้าง… 

แน่นอนว่ามิตรภาพระหว่างผู้อื่นและตัวเราคือศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ เราเติบโตและเปลี่ยนแปลงด้วยการส่องสะท้อนจากคนอื่น การเลือกไปดูหนังสักเรื่อง สาขาวิชาที่เราเลือกเรียน ความฝันที่เราอยากไปให้ถึง รสนิยมส่วนตัวบางอย่าง มองย้อนกลับไปคุณอาจพบว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อตัวขึ้นมาโดยมีเพื่อนสนิทสักคนสองคนเป็นสารตั้งต้นสำคัญ 

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/7d/A_Sunday_on_La_Grande_Jatte%2C_Georges_Seurat%2C_1884.jpg/1200px-A_Sunday_on_La_Grande_Jatte%2C_Georges_Seurat%2C_1884.jpg

เพื่อนคือส่วนสำคัญที่ช่วยตบแต่งตัวเราให้เป็นตัวเราอย่างเช่นทุกวันนี้ และเมื่อการคบหากันคือปัจจัยสำคัญของชีวิต มันก็น่าคิดว่าบางครั้งเราจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนของเราได้ดีพอหรือยัง

เมื่อไม่นานมานี้คอลัมนิสต์จาก The New York Times ชื่อ เคต เมอร์ฟี (Kate Murphy) เพิ่งยกคำคำหนึ่งขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในบทความของเธอ ทว่ามันกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ เพราะบางตัวอย่างที่เธอนำเสนอดูเหมือนจะค่อนข้างผิดฝาผิดตัวและมีปัญหา…

คำคำนั้นคือ #Friendscape หรือ #ภูมิทัศน์แห่งมิตรภาพ — สถานะในมิตรภาพของเราและเพื่อนๆ ที่นำไปเปรียบเทียบกับการจัดลำดับความสำคัญของภาพวาดแลนด์สเคปที่มีระยะใกล้-กลาง-ไกล ที่เมอร์ฟีบอกว่าเธอคิดถึงคำคำนี้ หลังจากต้องอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ผู้คนถูกกันให้ห่างออกจากกันมาเป็นปีๆ

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ Friendscape และบทความที่มีปัญหาของเมอร์ฟี เราอยากขออนุญาตพาไปพิจารณาแนวคิดเรื่อง ‘มิตรภาพ’ (Friendship) ในเชิงปรัชญาที่ย้อนไปไกลถึงยุคกรีกโบราณ ซึ่งมีที่มาจากนักปรัชญาคนสำคัญอย่าง อริสโตเติล  (Aristotle) สักหน่อย

อริสโตเติล

อริสโตเติลมองมิตรภาพในฐานะของความรื่นรมย์อันแท้จริงของชีวิต เขามองว่ามิตรแท้คือปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตที่ดี และแบ่งมิตรภาพออกเป็น 3 ประเภท โดยสองประเภทแรกถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างเป็นอุบัติเหตุมากกว่าความตั้งใจ นั่นคือ 

1.มิตรภาพแห่งผลประโยชน์ (friendship of utility) ที่เป็นมิตรภาพชั่วคราว ซึ่งเป็นมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง ชัดหน่อยก็เช่นมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน ที่ผ่านมาร่วมงานกันสักหนึ่งโปรเจ็กต์ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเมื่องานจบลง

2.มิตรภาพแห่งความเบิกบานใจ (friendships of pleasure) คือความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความสบายใจที่เกิดระหว่างการทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น การเล่นกีฬาบางชนิดกับเพื่อน ซึ่งมิตรภาพเช่นนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดความสนใจในกิจกรรม หรือรสนิยมที่มีร่วมกัน

และประเภทที่ 3 ซึ่งอริสโตเติลมองว่านี่คือมิตรภาพที่แท้จริง เพราะมันต้องใช้เวลาและความเชื่อใจในบ่มเพาะผ่านการเติบโตไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ มิตรภาพแห่งความถูกต้อง (friendships of virtue) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเห็นคุณค่าของคุณธรรมบางอย่างร่วมกัน ที่จะดึงดูดให้แต่ละฝ่ายเข้ามาในชีวิตของกันและกัน โดยมากมิตรภาพชนิดนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นจนเกิดเป็นแนวคิดหรืออุดมการณ์บางอย่างที่ตรงกัน มันจึงเป็นมิตรภาพที่ยืนยาวกว่าความสัมพันธ์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ไม่ว่าจะทางสังคม หรือทางใจเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

https://miro.medium.com/max/724/1*XuPGY7Tog9zcjswHP3EfNA.jpeg

กลับไปที่บทความของเคต เมอร์ฟี ที่ชื่อ How to Rearrange Your Post-Pandemic ‘Friendscape’ เธอเริ่มต้นบทความด้วยการยกเรื่องโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนห่างไกลและมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้นมาเป็นตัวตั้งต้นในการทบทวนมิตรภาพและ ‘จัดลำดับความสัมพันธ์’ ว่าใครบ้างที่เราควรให้พวกเขาอยู่ในวงจรของชีวิต

แรกเริ่มเมอร์ฟียกแนวคิดของนักจิตวิทยาอย่าง ซูซานน์ เดกเกส-ไวท์ (Suzanne Degges-White) ที่เสนอให้เรามองความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนเหมือนการมองภาพแลนด์สเคปของศิลปินในแบบ Friendscape หรือ ‘ภูมิทัศน์แห่งมิตรภาพ’ ที่จะมีมิตรที่ยืนอยู่ข้างหน้าสุด (foreground), มิตรที่ยืนอยู่ในระยะกลางของภาพ (middle ground) และมิตรที่ยืนอยู่ในฉากหลัง (background) โดยหน้า-กลาง-หลังก็จะลดลั่นกันไปตามแต่มิตรสหายคนใดคือคนที่เรามอบเวลาและพลังงานทางอารมณ์ให้มากที่สุด ซึ่งดูเหมือนจะสวมทับกันการแบ่งประเภทมิตรภาพออกเป็น 3 แบบของอริสโตเติลได้พอดิบพอดี

ซูซานน์ เดกเกส-ไวท์

แนวคิดของเดกเกส-ไวท์นั้นน่าสนใจ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่เรามักกังวลกับความโดดเดี่ยว กับการขาดเพื่อน จนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญถึงวิธีการจัดลำดับความสัมพันธ์มากนัก ทั้งที่เมื่อมองเงื่อนไขของเวลาอันจำกัดในชีวิต เราก็ไม่อาจทุ่มเทในความสัมพันธ์อย่างเท่าๆ กันให้แก่ทุกคน

Friendscape จึงเป็นการจัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์ให้ชัดเจนว่า คนไหนคือคนที่เราควรใส่ใจที่สุด เช่น มิตรที่ยืนอยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจหมายถึง คนรัก ครอบครัว เพราะพวกเขาคือจุดสำคัญของภาพวาดแลนด์สเคปแห่งความสัมพันธ์ภาพนี้ โดยเมอร์ฟีแสดงความคิดเห็นว่า “เพื่อนที่อยู่หน้าสุดคือคนที่สร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ”

ซึ่งนั่นดูจะเป็นข้อเท็จจริง แต่ปัญหาในบทความดังกล่าวคือ การกล่าวอย่างเจาะจงให้เราถอยห่างออกจากเพื่อนที่เป็น ‘โรคอ้วน’ หรือกระทั่งเพื่อนที่ประสบปัญหาภาวะ ‘ซึมเศร้า’ ด้วยการบอก (โดยการอ้างอิงงานวิจัยต่างๆ มารองรับ) ว่า “เพื่อนที่มีภาวะซึมเศร้าจะทำให้เราซึมเศร้าไปด้วย เพื่อนที่เป็นโรคอ้วนก็จะทำให้เรากลายเป็นโรคอ้วนได้เช่นกัน”

ซึ่งนั่นทำให้ใครหลายคนที่ได้อ่านบทความดังกล่าวเดือดดาลทันที

“ฉันทวีตข้อความนี้เพื่อเพื่อนที่มีปัญหาโรคอ้วนและซึมเศร้าผู้ที่ต้องการจะมีเพื่อนสักคน เพราะเห็นได้ชัด (จากบทความของเมอร์ฟี) ว่าเราไม่เหมาะจะมีมิตรภาพกับมนุษย์คนอื่นเลย” ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตเช่นนั้น 

ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายก็ทวีตอย่างเสียดสีว่า “ขอแสดงความซาบซึ้งต่อผู้กล้าทั้งหลายที่เป็นเพื่อนกับฉัน ทั้งๆ ที่ฉันเป็นโรคอ้วน คุณคือฮีโร่ตัวจริง”

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/40/Auguste_Renoir_-_Dance_at_Le_Moulin_de_la_Galette_-_Musée_d%27Orsay_RF_2739_%28derivative_work_-_AutoContrast_edit_in_LCH_space%29.jpg

เมื่อพิจารณาตามแนวคิดของอริสโตเติลแล้ว การที่เมอร์ฟีเขียนออกมาเช่นนั้นดูเหมือนจะเป็นการมองมิตรภาพในแค่ระดับการมี ‘ผลประโยชน์ระหว่างกัน’ โดยละเลยที่จะใส่ใจมิตรภาพที่ลึกซึ้งกว่านั้น

การจัดลำดับความสัมพันธ์ว่าใครมาก่อนมาหลัง หรือตัดใครบางคนที่ดูจะเป็นพิษกับหัวใจของเราออกไปเป็นเรื่องจำเป็น แน่ละว่าบางครั้งเราต้องโหดเหี้ยมกับมิตรภาพเสียบ้าง

แต่การด้อยค่าเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบปัญหาเช่นนี้ก็ดูจะใจดำเกินไปสักหน่อย เมื่อแท้จริงแล้วตัวซูซานน์ เดกเกส-ไวท์ ซึ่งเมอร์ฟีได้อ้างอิงแนวคิดเรื่อง Firendscape ของเธอมา ก็ไม่ได้พูดแค่เรื่องของการวางเพื่อนคนใดไว้ข้างหน้า-กลาง-หลัง หรือควรตัดใครออกไปเพียงเท่านั้น แต่เธอยังพูดถึง ‘#ความหลากหลาย’ ใน ’ภูมิทัศน์แห่งมิตรภาพ’ ไว้ด้วยเช่นกันว่า

“พวกเราต้องก้าวข้ามกลุ่มเพื่อนจำนวนจำกัดผู้ที่มีลักษณะ ‘คล้ายคลึง’ กับเรา …เราไม่ได้อยู่ในโลกที่มีแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป—เราอยู่ในโลกที่มีความสัมพันธ์หลากหลายและกว้างขวางในทางภูมิศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ เรามีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับคนที่จะนำมุมมองใหม่ๆ และความท้าทายใหม่ๆ มาสู่ทัศนคติอันจำกัดจำเขี่ยของพวกเรา ว่าโลกตอนนี้มันเป็นอย่างไร หรือเราควรมีพฤติกรรมแบบไหน และนั่นคือหนทางที่เราจะทำให้ทั้งตัวเราเองและโลกดียิ่งขึ้นได้

“แน่นอน มิตรภาพควรเป็นเรื่องสบายใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ควรมอบความท้าทายที่จะทำให้เราเติบโต ความจริงคือ สิ่งมีชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโตเมื่อได้รับการสนับสนุน และการสนับสนุนทางสังคมคือปัจจัยสำคัญในการทดสอบแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ อย่างได้ผล”

ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน

ครั้งหนึ่ง ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักคิดนักเขียนชาวอเมริกันเคยกล่าวถึงเรื่องของมิตรภาพไว้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ที่ต่อมากลายเป็นถ้อยคำที่ผู้คนหยิบยกขึ้นมาใช้เมื่อต้องถกเถียงถึงเรื่องเพื่อนและมิตรภาพเสมอว่า “หนทางเดียวที่จะมีเพื่อนคือการทำตัวเองให้เป็นเพื่อนให้ได้เสียก่อน”

ซึ่งใน ‘ภูมิทัศน์แห่งความสัมพันธ์’ แล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ในโลกก่อนหรือหลังโรคระบาด คนที่อาจถูกตัดออกไปจากความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพเป็นลำดับแรกอาจไม่ใช่ใครอื่น แต่คือคนที่ไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์โดยไม่เคยมอบความ ‘เป็นเพื่อน’ ให้แก่ใครเลยอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง