“ในชีวิตประจำวันของพวกเรา เราอาจพบว่ามันเป็นเรื่องง่ายที่จะแบ่งแยกสิ่งต่างๆ หรือกำหนดตัวเลข และชื่อเรียกของทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ แต่นั่นก็ไม่ต่างอะไรเลยจากการนับหยดน้ำในมหาสมุทร หรือใบไม้บนต้นไม้”
ในปี 1975 ระหว่างที่ตำนานนักชกชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่นาม มูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) ถูกเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ในวันจบการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีใครคนหนึ่งในฝูงชนตะโกนใส่เขา “เฮ้ มูฮัมหมัด กล่าวบทกวีอะไรสักบทสิ”
อาลีหยุดชะงักชั่วอึดใจ ก่อนเงยหน้าขึ้นพูด “Me / We” — ซึ่งหากจะแปลเป็นไทยก็คงได้ประมาณว่า “ฉัน และ พวกเรา”
ต่อมาบทกวีในเรื่องเล่าเรื่องนี้ถูกนับเป็นหนึ่งในบทกวีที่มีขนาดสั้นที่สุดในภาษาอังกฤษ
วันที่ 3 มิถุนายน 2021 คือวันครบรอบการจากไปครบ 5 ปีของนักมวยนามอุโฆษมูฮัมหมัด อาลี เราจึงอยากพาไปสำรวจบทกวีที่ว่ากันว่าสั้นที่สุดบทนี้ที่หลุดออกจากปากของเขาดูอีกที ว่าแท้จริงแล้ว อาลีหมายถึงอะไรกันแน่? เหตุใดถ้อยคำแสนสั้นจึงถูกนับเป็นกวี? และอย่างที่เคยเขียนถึงเรื่อง misquoting ไปในบทความ ‘คานธีไม่เคยพูด! ออสการ์ ไวลด์ไม่ได้กล่าว!’ แล้ว เราก็อยากลองสำรวจดูอีกครั้ง ว่าบทกวีที่ว่ากันว่าสั้นที่สุดนี้ กำลังถูก misquote อยู่หรือเปล่า?
…ก่อนจะกลายเป็นมูฮัมหมัด อาลีที่คนทั่วโลกรู้จัก อาลีเคยมีชื่อว่า เคสเซียส เคลย์ (Cassius Clay) หรือในชื่อเต็ม เคสเซียส มาเซลลัส เคลย์ จูเนียร์ (Cassius Marcellus Clay Jr.) และเคยใช้ชื่อบนสังเวียนว่า ‘เคสเซียส เอ็กซ์’ (Cassius X) ตามแบบ ‘แมลคัม เอ็กซ์’ (Malcolm X) นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมและอเมริกันผิวดำคนสำคัญ
มูฮัมหมัด อาลี เริ่มเข้าสู่สังเวียนตั้งแต่อายุ 12 ปี ด้วยพรสวรรค์บวกการลงแรงฝึกซ้อมอย่างหนัก จึงทำให้เขาพัฒนาฝีมือการชกอย่างรวดเร็ว ไล่มาตั้งแต่มวยสากลสมัครเล่น ที่เขาคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ในปี 1960 ในวัยเพียง 18 ปี ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางนักมวยอาชีพ และประสบความสำเร็จไปตามลำดับ จนกระทั่งได้แชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทครั้งแรก ในปี 1964 ก่อนจะตามมาอีกหลายครั้งนับจากนั้น
ทว่านอกจากเป็นนักมวยที่มีลีลาพริ้วไหวน่าติดตาม มูฮัมหมัด อาลียังถูกยกย่องให้เป็นนักพูดฝีปากกล้า เนื่องจากเขามักพูดจาฉะฉานในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมอยู่เสมอ เช่น ใน ปี 1966 ที่เขาปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามเวียดนาม ด้วยประโยคอันลือลั่น “ผมไม่ได้มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจอะไรกับเวียดกง” ก่อนจะประกาศในเวลาต่อมาว่าเขาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยยึดคำสอนที่ว่าการเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันคือเรื่องผิดบาป และเปลี่ยนชื่อจากเคสเซียส เคลย์มาเป็นมูฮัมหมัด อาลีในที่สุด
มูฮัมหมัด อาลีจึงมีสถานะเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมผู้ปวารณาตัวเพื่อความเท่าเทียมและสันติภาพนับแต่นั้น
กระทั่งปี 1975 ขณะอาลีอายุ 33 ปี กำลังอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาได้รับเชิญให้ไปพูดในพิธีสำเร็จการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต่อหน้าผู้ฟังราว 2,000 คน
เนื้อหาในสุนทรพจน์ของอาลีกล่าวถึงเรื่อง ‘ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว’ และ ‘มิตรภาพ’ โดยเขาเริ่มต้นกล่าวอย่างติดตลกว่า “ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกยกยอมากเกินไปในการได้รับเชิญให้มาที่นี่ เพราะถ้าเป็นหลายปีก่อนหน้านี้ ในตอนที่ผมจบจากโรงเรียนมัธยมปลายมาด้วยเกรดเฉลี่ยระดับ D ลบ แถมที่พวกเขาให้ D ลบกับผม (โดยไม่ปรับตก) เพราะผมเป็นแชมป์โอลิมปิก คุณจะไม่สามารถทำให้ผมเชื่อได้เลย”
หลังจากนั้นสปีชของเขาก็เข้มข้นและเฉียบคมขึ้นเรื่อยๆ
“มนุษย์เรียนรู้มิตรภาพด้วยการกลายเป็นมิตรสหาย ถ้าใครสักคนต้องการผลตอบแทนจากเพื่อนของเขา นั่นคือธุรกิจ ไม่ใช่มิตรภาพที่แท้จริง”
ก่อนจะกล่าวถึงการพัฒนาด้านจิตใจว่า
“ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับหัวใจของพวกเขา ไม่ใช่การศึกษา หรือเงินตรา”
ฟุตเทจบันทึกภาพการกล่าวสุนทรพจน์ของอาลีขาดๆ หายๆ และไม่ครบถ้วน แต่เราก็พอเดาได้จากปฏิกิริยาของผู้ฟังที่ทั้งปรบมือและส่งเสียงชื่นชมเมื่ออาลีก้าวลงจากเวทีว่าพวกเขาพึงพอใจกับสปีชนี้เพียงใด
ส่วนตำนานเล่าขานถึงบทกวีในภาษาอังกฤษที่สั้นที่สุดนั้น มาจากปากคำของนักข่าวสายกีฬาชื่อดังนาม จอร์จ พลิมพ์ตัน (George Plimpton) ที่บอกว่า “มันมีเสียงโห่ร้องสรรเสริญในตอนสุดท้ายของสุนทรพจน์ แล้วจากนั้นใครบางคนก็ตะโกนว่า ‘เฮ้ มูฮัมหมัด กล่าวบทกวีอะไรสักบทสิ’ แล้วทุกคนก็พลันเงียบ”
หลังจากนั้นอาลีจึงพูด “Me / We” ทว่าผู้คนมากมายต่างเชื่อว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เขาพูดคือ “Me / Whee” — และ Whee คำหลังนี้เป็นคำอุทานที่ใช้แสดงออกถึงความพึงพอใจ หรือเบิกบานใจ ซึ่งแตกต่างจาก We คำแรกที่หมายถึง ‘เรา’ อย่างสิ้นเชิง
Muhammad Ali Center พิพิธภัณฑ์รวบรวมชีวิตและผลงานของอาลีเอง ก็เชื่อว่าสิ่งที่อาลีพูดนั้น คือ “Me / Whee” เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบทกวีในเวอร์ชั่นใด คำสองคำที่ถูกเอามาเรียงต่อกันนี้ ก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบทกวีที่สั้นที่สุดอยู่ดี ทว่าคำถามคือ อะไรกันที่ทำให้คำสองคำนี้กลายเป็นบทกวีในท้ายที่สุด?
เมลิซซา โควักส์ (Melissa Kovacs) อธิบายผ่านคลิปวิดีโอเข้าใจง่ายชื่อ ‘What makes a poem … a poem?’ ใน TEDed ถึงปัจจัยที่ทำให้ชุดข้อความหนึ่งๆ กลายเป็นบทกวีไว้ 3 ข้อ คือ 1.กวีมักเน้นที่สุนทรียะเชิงดนตรีของภาษา ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเสียงสัมผัส จังหวะ วรรคตอน 2.กวีใช้ภาษาที่กระชับ 3.กวีมักแสดงออกถึงอารมณ์ที่เข้มข้น
แต่ก็ยังเน้นย้ำว่า “บทกวีมีพัฒนาการไปตามเวลา และในตอนนี้มันอาจพัฒนาไปไกลกว่าที่เคย เส้นแบ่งระหว่าง บทกวี ร้อยแก้ว เพลง และทัศนศิลป์เลือนลางขึ้น อย่างไรก็ตามมีหนึ่งสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไป นั่นคือ คำว่า ‘บทกวี’ (poetry) มีที่มาจากคำในภาษากรีกโบราณในรูปของคำกริยาอย่าง poiesis (โพเอสิส — ποίησις) หรือที่แปลว่า ‘สร้างสรรค์’ กวีเหมือนกับช่างฝีมือที่ยังทำงานกับวัตถุดิบในโลกนี้ เพื่อหล่อหลอมความเข้าใจใหม่ๆ หรือข้อคิดเห็นในการใช้ชีวิตของมนุษย์ตามหนทางที่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นทำได้” ก่อนจะยกตัวอย่างว่า แม้ปัจจุบันเราจะนำ AI มาแทนที่มนุษย์ในวงการต่างๆ เช่น การแพทย์ หรือกระทั่งวงการข่าวมากมายเพียงใด แต่กับบทกวีนั้นยังเป็นเรื่องราวที่แตกต่างออกไป เพราะเมื่อลองทำการทดสอบโดยให้มนุษย์แยกแยะว่าบทกวีใดเขียนโดยมนุษย์ หรือปัญญาประดิษฐ์ ผู้เข้าร่วมทดสอบก็สามารถจับผิดปัญญาประดิษฐ์ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เสมอ
กลับไปที่เรื่องราวของอาลี ในเดือนมิถุนายนปี 2016 หลังจากนักมวยผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เสียชีวิต นักข่าวชื่อดังแห่ง The Independent อย่าง หลุยส์ ดอรี (Louis Doré) เขียนข่าวอสัญกรรมของอาลีขึ้นมา โดยใส่บทกวีของอาลีทั้งสองเวอร์ชั่นลงไปในบทความ และกล่าวว่า ‘Me / Whee’ นั้นแสดงออกถึงตัวตนที่เป็นอิสระ และการขอบคุณในชีวิต ส่วน ‘Me / We’ มีความหมายเจาะจงถึงสังคมมนุษย์ และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามที่มูฮัมหมัด อาลีต่อสู้มาตลอดชีวิต
ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหนก็ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์แทบทั้งสิ้น
ในปี 1999 นิตยสาร Frobes ตีพิมพ์ข้อความหนึ่งของอาลี ในวันที่อาลีเกษียณจากการเป็นนักมวยอาชีพมาแล้ว และอยู่ในวัย 57 ปี โดยมีข้อความบางส่วนว่า
“เมื่อผมมองย้อนกลับไป อาจกล่าวได้ว่าผมได้รับความสามารถในการมองโลกบางส่วนในแบบที่พระเจ้ามองเห็นมา ด้วยความเข้าใจที่ว่ามันไม่มีความแตกต่างใดๆ ที่สำคัญไปกว่าความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ มันมีแค่ช่วงเวลาเดียว สถานที่เดียว บุคคลเพียงคนเดียว ความจริงหนึ่งเดียว ซึ่งเราทั้งหมดต่างดำรงอยู่ในห้วงเวลาและสถานที่และคนคนนั้น และความจริงนั้นก็บรรจุพวกเราไว้ด้วยกัน…
“ในชีวิตประจำวันของพวกเรา เราอาจพบว่ามันเป็นเรื่องง่ายที่จะแบ่งแยกสิ่งต่างๆ หรือกำหนดตัวเลข และชื่อเรียกของทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ แต่นั่นก็ไม่ต่างอะไรเลยจากการนับหยดน้ำในมหาสมุทร หรือใบไม้บนต้นไม้”
ซึ่งหากพิจารณากวีบทของอาลีแบบคนคิดมากที่อาจสุ่มเสี่ยงกับการกลายเป็น misquoting ดูสักหน่อย ก็อาจตีความได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ Me หรือ ฉัน เท่ากับ We หรือ พวกเรา — Me จึง Whee หรือ สุขสันต์ ขึ้นมาได้ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง
อ้างอิง
- Louis Dor. Remembering when Muhammad Ali invented the shortest poem in the English language. https://bit.ly/2RCkljq
- Richard J. Doherty. Professor Muhammed Ali Delivers Lecture; Poems and Parables Fill Talk on Friendship. https://bit.ly/3uFubjm
- Melissa Kovacs. What makes a poem … a poem?. https://bit.ly/3vS1ShE
- Nikki Wordsmith. The World’s Shortest Poem and Muhammad Ali. https://bit.ly/2RDlmHZ
- Muhammad Ali. Me… We . https://bit.ly/3flRU1B