life

‘คนเหมือนกัน แต่คนไม่เหมือนกัน’ แม้เราจะเป็นเกิดมาเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์และมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม แต่ทุกคนก็ล้วนมีความรู้สึกนึกคิด สภาวะทางอารมณ์ และลักษณะเฉพาะตนเป็นของตัวเอง ยังไม่นับระดับความเข้าใจและความรู้ที่เปลี่ยนผันไปตามประสบการณ์ ซึ่งพอเป็นเรื่องของการขอโทษใครสักคน จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะเป็นคำขอโทษเหมือนกัน คำขอโทษซ้ำๆ จึงใช้ไม่ได้กับคนทุกคนเสมอไป

เราเคยเขียนไปแล้วในคอลัมน์ common question ถึงเทคนิคการขอโทษเปี่ยมความหมายที่ประกอบไปด้วยหลัก 3R’s นั่นคือ

1.Regret — หรือการแสดงออกซึ่งความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

2.Responsibility — ซึ่งคือการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนโดยไม่โทษลมฝนหรือคนอื่น

3.Remedy — หรือถ้อยคำแถลงอย่างจริงใจที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งควรเป็นวิธีการเยียวยาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยทางด้านวัตถุ หรือจิตใจก็ตาม (อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ )

แต่หากจะได้ผลไปมากกว่านั้น เหล่านักจิตวิทยาต่างก็เชื่อว่าเราต้องเสาะหาคำขอโทษที่เหมาะสมซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะความสัมพันธ์เฉพาะที่แตกต่างออกไปตามแต่ละบุคคล ดังต่อไปนี้

 

กับคนรักอย่าหาคนผิด

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงความสัมพันธ์ให้แข็งแรง คือการหมั่นรักษาสายสัมพันธ์ในระดับจิตใจและความรู้สึกระหว่างคนสองคนเอาไว้ให้ได้ 

นักจิตบำบัดอย่าง เอมี่ มอริน (Amy Morin) บอกว่า “มันสำคัญในการแสดงความรู้สึกเสียใจและวอนขอการให้อภัย หมายความว่าเราต้องไม่โทษว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความผิดของอีกฝ่าย หรือพูดประมาณว่า “ผมเสียใจที่คุณรู้สึกแบบนั้น” แทนที่จะพูดว่า “ผมขอโทษที่ผมขึ้นเสียงใส่คุณ” ซึ่งนั่นคือวิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่ชัดเจนมากกว่า

 

กับพ่อแม่อย่าหาข้ออ้าง

งานวิจัยของนักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ When Sorry Isn’t Enough: Making Things Right with Those You Love อย่าง เจนนิเฟอร์ โทมัส (Jennifer Thomas) บอกว่า เมื่อเราต้องการหลีกหนีความผิด สิ่งที่เราจะทำเป็นอันดับแรกๆ คือ โทษคนอื่น, หาข้ออ้าง และ ปฏิเสธ

โดยเฉพาะกับผู้ปกครองที่โทมัสแสดงความคิดเห็นว่าเรามักหาข้ออ้างในความผิดของเราอยู่เสมอ เช่น เมื่อเราไม่สามารถไปพบเจอพวกท่านได้ เราก็มักหาเหตุผลร้อยแปดพันประการมาอธิบายโดยหวังว่าความผิดนั้นจะเบาบางลง แต่แท้จริง สิ่งที่ผู้ถูกกระทำมักมองหาก็คือ ความกล้าที่จะยอมรับในความผิดของฝ่ายกระทำความผิด ไม่ใช่เหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงกระทำสิ่งนั้นๆ 

 

กับมิตรสหายโปรดรักษามิตรภาพ

สำหรับเพื่อนสนิท จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราให้ค่ามิตรภาพระหว่างกันเพียงใด แม้เราจะทำผิดพลาดมาก่อนหน้า แต่ก็ต้องพยายามหาสิ่งทดแทน โดย เอมี่ มอริน บอกว่า “แม้คุณไม่สามารถเรียกย้อนเพื่อแก้ไขความผิดพลาดได้ แต่คุณก็สามารถเสนอบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณให้ค่ากับความสัมพันธ์แทนที่ได้” ซึ่งนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้นิ่งเฉยกับการรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพระหว่างกัน

 

กับเพื่อนร่วมงานจงสร้างความเชื่อใจ

เรารู้อยู่แล้วว่าการทำงานเป็นทีมมักมีปัจจัยเรื่อง ‘ความเชื่อใจ’ เป็นหนึ่งในส่วนหลักของการทำให้งานงานหนึ่งสำเร็จลุล่วง โดยโทมัสบอกว่า เราทุกคนไม่อยากถูกทำลายชื่อเสียงของตนโดยเพื่อนร่วมงาน โดยจากการวิจัยมีถึง 40% ที่อยากได้ยินคำขอโทษประมาณว่า “ฉันผิดเอง” และอีกราว 40% ที่อยากได้ยินประโยคง่ายๆ อย่าง ‘ฉันขอโทษ’ นอกไปจากนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรคำนึงถึงก็คือ การรักษาเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นเพียงเรื่องของคนสองคน โดยไม่ดึงคนอื่นมาเกี่ยวข้อง เพราะนั่นคือหนทางหนึ่งในการสร้างความเชื่อใจได้เช่นกัน

 

กับลูกอย่าทำเหมือนเขาเป็นเด็ก

ถ้ายังจำความรู้สึกตอนเป็นเด็กได้ คงไม่มีใครอยากถูกผู้ใหญ่ทำราวกับว่าพวกเราเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสาอยู่ตลอดเวลาจริงไหม มอรินบอกว่า เด็กๆ มักต้องการได้ยินคำขอโทษแบบเดียวกับผู้ใหญ่ แถมการได้รับคำขอโทษอย่างจริงจังและจริงใจยังสามารถเป็นบทเรียนที่พวกเขาจะเรียนรู้เพื่อใช้ในการเติบโตของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน

“การแสดงออกถึงความรู้สึกผิดคือกุญแจสำคัญที่ทำให้คำขอโทษทรงประสิทธิภาพต่อเด็กๆ จงยินดีที่จะใช้คำพูดที่แสดงถึงความรู้สึก เช่น ‘แม่รู้สึกเศร้ามากจริงๆ ที่ทำให้ลูกเสียใจ’ หรือ ‘พ่อโกรธตัวเองมากๆ ที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้’”

โดยเราต้องไม่ลืมที่จะทำให้พวกเขาแน่ใจว่าความผิดเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งนี่คือวิธีการสอนถึงเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ ทางอ้อมได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน

 

อ้างอิง

  • Gary D. Chapman และ Jennifer Thomas. When Sorry Isn’t Enough: Making Things Right with Those You Love.
  • Jennifer Thomas. Getting the last word with apology (TEDxGreensboro). https://youtu.be/FiiPNPLWXSM
  • Candice Jalili. How to Make the Perfect Apology. https://bit.ly/3xP6Ihm