คำว่า ‘สู้ๆ’ แม้มีความหมายบวก เพราะเรามักจะใช้ให้กำลังใจกันอยู่บ่อยๆ แต่ทำไมสำหรับคนที่เป็นซึมเศร้า คำเดียวกันนี้กลับไม่ควรใช้ คนจำนวนไม่น้อยจึงสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นควรทำตัวหรือพูดยังไงดี
ผมอยากแบ่งปันมุมมองจากประสบการณ์ทำงานที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนเป็นโรคซึมเศร้ามาประมาณหนึ่ง เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการพูด ‘สู้ๆ’ กันมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกกรณี เพราะคนที่เป็นซึมเศร้าก็ไม่ได้มีอาการเหมือนกันทุกคน
เพราะอะไรคำว่า ‘สู้ๆ’ ถึงเป็นคำต้องห้าม
1. หลายๆ ครั้ง ผู้พูดพูดไปโดยไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น และผู้ฟังก็รับรู้ได้ว่าพูดไปงั้นๆ ไม่ได้สนใจช่วยเหลือหรือรับฟังอะไร เช่น คนที่เป็นซึมเศร้าตั้งใจมาระบายหรือเล่าปัญหาให้ฟัง แต่เราตอบกลับไปแค่ ‘สู้ๆ นะ’ พูดเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แล้วรู้รึเปล่าว่าที่บอกให้เขาสู้ๆ นั้น สู้กับอะไร เขาต้องเผชิญกับอะไร
2. คนที่เป็นซึมเศร้านั้นสู้อยู่แล้ว (และสู้แทบจะตลอดเวลาด้วย) ดังนั้น การพูดว่า ‘สู้ๆ’ จึงเหมือนเป็นการบอกให้เขาทำในสิ่งที่ทำอยู่ตลอด และทำมานานแล้วด้วย เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ ให้สิ่งที่เขามีมากอยู่แล้วไปให้เขาอีก คนรับจึงรู้สึกว่า เห้ย!? มีเยอะแล้วนะไม่เห็นเหรอ ซื้อมาให้ทำไมอีก ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้ใส่ใจ เข้าใจ และเหมือนไม่เห็นสิ่งที่เขาพยายามทำมาตลอด
3. อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า มองไม่เห็น (หรือไม่ได้พยายามมอง) พูดเหมือนเขาไม่สู้ ยิ่งทำให้คนเป็นซึมเศร้าเหนื่อย ท้อ เสียใจ อยู่ตัวคนเดียว เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครมองเห็นความเศร้าที่เขากำลังเผชิญอยู่
4. ถ้าเราบอก ‘สู้ๆ’ หมายความว่าเราไม่ได้ยินสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ เลยเกิดคำถามทำนองว่า แล้วต้องสู้อีกสักแค่ไหน แล้วพักได้ไหม แพ้ได้ไหม แตกสลายได้ไหม เพราะคำว่า ‘สู้ๆ’ ให้ความรู้สึกเหมือนต้องออกไปทำอะไรสักอย่างซึ่งแพ้ไม่ได้ เหมือนคนวิ่งเสร็จกำลังจะนั่งพักแล้วมีคนบอกให้ออกไปวิ่งอีก ทั้งๆ ที่เขาอยากนั่งพักหรืออาจจะอยากลงไปนอนกับพื้นตรงหน้าเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่เราควรทำก็แค่ให้เขาพัก เขาอาจต้องการน้ำ หรือผ้าเช็ดเหงื่อแทน พักเสร็จเดี๋ยวเขาก็จะกลับไปสู้เองโดยที่เราไม่ต้องบอกให้สู้
5. จะเห็นว่าจุดร่วมของเกือบทุกข้อก่อนหน้านี้ คือ การไม่ใส่ใจ ไม่ได้ยิน มองไม่เห็น และไม่เข้าใจว่าเขาเผชิญกับอะไรและต้องการอะไร พอไม่เข้าใจแล้วพูดว่า ‘สู้ๆ’ มันเลยเหมือนบอกให้เขาออกไปสู้ตัวคนเดียว
ถ้าอย่างนั้น เราควรทำตัวยังไง
1. ดูว่าเขาต้องการอะไร บางคนอาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเขาต้องการอะไร คำแนะนำคือ อาจต้องถามเขา ถามถึงความต้องการและความรู้สึกด้วยคำถามปลายเปิด ให้เขาบรรยายอธิบายออกมา แล้วเราก็ตั้งใจฟังเพื่อทำความเข้าใจ ถ้ายังมีตรงไหนที่ไม่เข้าใจ ให้ลองถามเพิ่มเติม แล้วทำความเข้าใจอีก จะได้ไม่ต้องให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
2. การฟังที่ดีช่วยได้มาก เรียนรู้วิธีการฟังเบื้องต้น ได้ในบทความ ฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เพราะการฟังคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจกัน
3. ถ้าเขาไม่พร้อมจะพูดก็ไม่ต้องคาดคั้น
4. บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องถามหรือพูดอะไร แค่อยู่ตรงนั้นกับเขา ให้เขารู้ว่าเราอยู่ข้างๆ พร้อมซัพพอร์ตก็พอ อย่างที่บอกว่าเขาอาจจะแค่อยากพัก เราก็แค่ให้เขาพัก
5. ระหว่างพูดคุย ถ้ามีประเด็นไหนที่ทำยังไงเราก็ไม่เข้าใจ อย่าด่วนตัดสินเด็ดขาด ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่พยายามทำความเข้าใจให้ถึงที่สุดไว่ก่อน เพื่อที่อย่างน้อย เขาจะสัมผัสได้ว่าเราใส่ใจและพยายามที่จะเข้าใจเขาจริงๆ
6. การต่อสู้กับภาวะหรือโรคซึมเศร้าเป็นการต่อสู้ระยะยาว ที่ใช้คำว่า ‘แพ้’ หรือ ‘แตกสลาย’ ในที่นี้ ไม่ใช่การจบชีวิต แต่คือเมื่อเขาเหนื่อย หมดกำลังใจ สิ้นหวัง ท้อแท้ จนเหมือนจะแตกสลายในการเดินทางระยะยาวนี้ เราต้องมีพื้นที่ให้เขาแพ้ได้ แตกสลายได้ แล้วเราค่อยๆ ช่วยเขาประกอบร่างขึ้นมา โดยทำให้เขารู้สึกว่าเรามองเห็น รับฟัง พยายามเข้าใจ ให้คุณค่ากับเขา แบบนี้คือการสู้ไปด้วยกัน ถึงจะพังจะแพ้ก็ยังมีคนอยู่ข้างๆ เสมอ
จริงๆ แล้วในการทำงานบางครั้ง ผมก็เคยใช้คำว่า ‘สู้ๆ’ เพียงแต่ก่อนจะพูดออกไป ต้องพูดคุย รับฟัง ทำความเข้าใจสิ่งที่เขากำลังสู้อยู่ (หรืออย่างน้อยก็พยายามอย่างเต็มที่) จนมั่นใจมากพอว่าผู้ฟังรับรู้ได้ถึงความพยายามและความใส่ใจของเรา
ดังนั้น สำหรับผม คำว่า ‘สู้ๆ’ ยังคงเป็นคำที่พูดได้อยู่ เพียงแต่ต้องระวังกับบางคนหรือทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ให้มากๆ เสียก่อน
ภาวะซึมเศร้านั้นมีหลายระดับและอาการที่ซับซ้อน คนซึมเศร้าแต่ละคนก็แสดงออกไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผมเรียนรู้มาคงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีอีกหลายอย่างที่รอให้เรียนรู้ บทความนี้จึงเขียนขึ้นด้วยความตั้งใจอยากแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเราจะได้รับข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ดีผ่านการใช้ภาษาที่เป็นมิตรและให้เกียรติกัน