pe©ple

ในหนังสือเรื่อง Cosmos ของ Carl Sagan มีตอนหนึ่งที่ Sagan เขียนบรรยายช่วงเวลาระหว่างที่เขากำลังนั่งรถไปยัง Jet Propulsion Laboratory ศูนย์วิจัยที่สร้างยานอวกาศหลายต่อหลายลำเพื่อไปสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ

space.co

space.co

พอดีคืนนั้นเป็นคืนเดียวกับที่ยานโวยาเจอร์กำลังจะส่งภาพดาวพฤหัสกลับมาที่โลกเป็นครั้งแรกหลังจากออกเดินทางมานานหลายปี

น่าสนใจสิ่งที่ Sagan เลือกเล่าไม่ใช่ช่วงเวลาตอนที่เขาได้เห็นภาพถ่ายของดาวพฤหัสในระยะใกล้ครั้งแรก แต่เป็นระหว่างที่เขากำลังนั่งอยู่บนรถพร้อมกับคิดว่า ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าความเข้าใจที่มนุษยชาติมีต่อดาวพฤหัสจะเปลี่ยนไปตลอดกาล 

สำหรับผู้เขียน อวกาศไม่เคยเป็นแค่องค์ความรู้ แต่มันคือเรื่องราวที่แทรกอยู่ในชีวิตของเราอย่างแยกไม่ออก แม้ว่าเราจะเป็นหรือไม่เป็นนักดาราศาสตร์เหมือนกับ Carl Sagan ก็ตาม

ผู้เขียนมักจะเล่าถึงความชอบของตัวเองในเรื่องวัตถุบนท้องฟ้า ซึ่งแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ อาจมีแรงบันดาลใจจากการมองดวงดาว หรือสงสัยว่าทำไมดวงจันทร์ถึงตามรถเรากลับบ้านทุกคืน

แต่สัมผัสแรกที่ผู้เขียนได้รู้จักกับอวกาศคือ ‘หนังสือ’ โชคดีที่ตอนนั้น ขณะที่เด็ก Gen Z หลายคนถูกทิ้งไว้กับทีวีหรือไม่ก็เครื่องเกม แต่ผู้เขียนกลับถูกทิ้งไว้กับกองหนังสือและสารคดี

สุดท้ายหลังจากผ่านไปสิบกว่าปี อวกาศ ดาราศาสตร์ และวัตถุบนท้องฟ้าก็กลายมาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากในชีวิตเด็กคนหนึ่ง

ย้อนกลับไปในอดีตเราจะมองเห็นความเชื่อมโยงของวัตถุท้องฟ้าอย่างชัดเจน ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดตามแนวการเรียงตัวของกลุ่มดาวนายพราน สโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นปฏิทินนับวันเวลา หรือแม้กระทั่งเรื่องลึกๆ อย่างโหราศาสตร์ ก็เกิดจากแนวคิดที่ว่าในเมื่อการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ (ซึ่งภายหลังพบว่าจริงๆ มีตัวแปรมากกว่านั้น เช่น ฤดูกาล ความชื้น แสง และอุณหภูมิ) ด้วยเหตุนี้ ดวงดาวก็น่าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์เช่นกัน

space.co

ต่อมาศาสตร์ที่ชื่อว่าวิทยาศาสตร์ ช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและมองวัตถุท้องฟ้าให้มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ผลที่ได้ก็คือ ไอแซก นิวตัน ค้นพบกฎของแรงดึงดูด เคปเลอร์ค้นพบกฎของการโคจร จนมาถึงการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพและกลศาสตร์ควอนตัม 

แต่ความเปลี่ยนแปลงพวกนั้นไม่ใช่แค่การทำสมการให้ดีขึ้นหรือสร้างตำราที่มีความแม่นยำ แต่ยังมีอิทธิพลในเชิงวิธีการคิดและสร้างอะไรมากกว่านั้น

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1990 ยานโวยาเจอร์ได้ส่งภาพที่ชื่อว่า Pale Blue Dot กลับมายังโลก มันเป็นหนึ่งในภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลย แต่ภาพถ่ายนั้นกระตุ้นความคิดที่ว่าโลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ในจักรวาล มีเหตุผลอะไรที่มนุษย์จะต้องมาห้ำหั่นเข่นฆ่ากันเองและกลายเป็นภาพถ่ายที่มีความหมายเชิงปรัชญามากกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

space.co

เช่นเดียวกับตัวผู้เขียนที่เริ่มต้นศึกษาอวกาศและดวงดาวจากความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ โดยเฉพาะเมื่อได้รู้ข้อมูลแปลกใหม่ที่มากระตุ้นความสงสัยต่างๆ แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อศึกษามากขึ้นก็พบเรื่องราวเกี่ยวกับ ความสงสาร ความเศร้า ชีวิต หรือแม้กระทั่งความตาย ที่ถูกบันทึกไว้ในการศึกษาท้องฟ้าของมนุษย์ แน่นอน มันไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์เพียวๆ

1.

เรื่องราวของความสงสารเกิดขึ้นเมื่อได้อ่านเรื่องราวของ วลาดิเมียร์ คามารอฟ ผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งอำนาจนิยมในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ คามารอฟเป็นนักบินอวกาศที่ตกจากอวกาศพร้อมกับยานของเขาเนื่องจากร่มที่ควรจะพยุงยานโซยุส 11 ให้ลงจอดถึงมาตุภูมิอย่างปลอดภัยเกิดขัดข้อง หลังจากที่ภารกิจถูกเร่งรัดให้ทันการฉลองวันคล้ายวันเกิดของ วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในตอนนั้น

space.co

อำนาจและแรงผลักดันทางการเมืองทำให้เราลืมความเป็นมนุษย์ไป แม้ว่าจะมีเสียงการเฉลิมฉลองที่ดังก้องไปทั่วหลังจากความสำเร็จในภารกิจต่างๆ แต่ประวัติศาสตร์บางส่วนก็ลืมที่จะจดจำเสียงร้องไห้ของคุณนายคามารอฟวา ภรรยาของคามารอฟในขณะที่เธอถูกเรียกให้ไปที่ห้องควบคุมภารกิจและวิทยุเพื่อบอกลาสามีเธอเป็นครั้งสุดท้าย

2.

ความรักที่พูดถึง อาจจะไม่ใช่ความรักแบบหนุ่มสาว แต่เป็นความรักที่มีต่อธรรมชาติ ธรรมชาติที่เราไม่อาจเป็นเจ้าของ แต่ได้แค่เฝ้ามองและตั้งคำถาม หรือไปอยู่ท่ามกลางมันเท่านั้น เหมือนกับ ยูจีน ชูเมกเกอร์ นักดาราศาสตร์ที่ถูกเทรนให้เป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้ไปสำรวจดวงจันทร์ แต่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพทำให้เขาไม่มีโอกาสไป นอกจากดวงจันทร์แล้ว ชูเมกเกอร์ยังศึกษาดาวหาง และเขาได้ทำงานที่เขารักจนถึงวันสุดท้ายและเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในคืนที่เขาขับรถไปตั้งกล้องสำรวจดาวหางที่ประเทศออสเตรเลีย สุดท้ายเถ้ากระดูกของชูเมกเกอร์ถูกบรรจุลงในยานลูนาร์โปรเสปคเตอร์และส่งไปลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1998 ทำให้เขาได้ไปดวงจันทร์จริงๆ แม้จะไม่ได้สัมผัสกับมันด้วยชีวิตของตัวเองก็ตาม

space.co

3.

แม้กระทั่งเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือเรียน แต่ไม่ถูกนำมาบอกเล่าก็เช่นภารกิจ Apollo 11 ที่เราท่องจำกันว่ามนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์คือ นีล อาร์มสตรอง แต่ภารกิจ Apollo ตั้งแต่ 1 และ 7 จนถึง 17 นั้นกลับมีเรื่องราวซ่อนอยู่มากมายเกินกว่าจะบันทึกไว้ในหนังสือแค่เล่มเดียว (ทำให้นักบินอวกาศในโครงการ Apollo หลายคนเขียนหนังสือออกมาหลายเล่มมาก)

space.co

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องราวของฉบับร่างบทพูดของประธานาธิบดีนิกสันที่ร่างไว้พูดในกรณีที่นักบินอวกาศบัซและนีลไม่สามารถเดินทางกลับโลกได้ในภารกิจครั้งนั้นที่ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“เมื่อครั้งโบราณกาล มนุษย์แหงนมองไปที่ดวงดาวและเห็นวีรบุรุษต่างๆ ปรากฏในกลุ่มดาว ในกาลปัจจุบันเรายังคงแหงนมองขึ้นไปเช่นเดิม เพียงแค่วีรบุรุษของเราคือมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อไม่ต่างไปจากเราและมาจากดาวดวงเดียวกัน”

space.co

คงจะไม่มีคำตอบให้กับคำถามว่าการศึกษาอวกาศสำคัญกับชีวิตอย่างไรได้มากกว่าบทพูดดังกล่าวอีกแล้ว การศึกษาอวกาศทำให้สวรรค์และโลกมนุษย์กลายเป็นโลกเดียวกัน ไม่มีเทพยดา ไม่มีผู้ปกป้อง มีแต่มนุษย์ด้วยกันเอง และกฎของธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมาและกลายเป็นนักสำรวจที่ตั้งคำถามต่อสรรพสิ่ง 

สุดท้ายสิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากการศึกษาวิทยาศาสตร์และอวกาศ มันไม่ใช่แค่ข้อมูล ไม่ใช่แค่สมการหรือจำนวนของดวงดาวบนท้องฟ้า แต่เป็นความรู้สึกที่ถูกเล่าผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต การค้นพบใจปัจจุบัน และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

ย้อนกลับไปตอนแรกที่เล่าว่าผู้เขียนนั้นไม่ได้ประทับใจอวกาศจากการดูดาวเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้ถามว่าทำไมดวงจันทร์ถึงตามเรากลับบ้าน แต่สำหรับผู้เขียนแล้วอวกาศนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากบนฟ้า

แต่มันเริ่มต้นจากจักรวาลที่อยู่ข้างในตัวเราเองต่างหาก