วันก่อน มีนิตยสารฉบับหนึ่งมาสัมภาษณ์ดิฉันว่า “หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตดิฉัน คือ หนังสือเล่มไหน” ดิฉันคิดอยู่นาน แล้วตอบไปว่า
หนังสือ “บริษัทนี้ที่ควรรัก” ของอาจารย์โคจิ ซากาโมโต้ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซ ประเทศญี่ปุ่น
สมัยเรียนที่ญี่ปุ่น ดิฉันเรียนด้านนวัตกรรมและการตลาด วันหนึ่ง ขณะที่กำลังหาหนังสือกรณีศึกษาการตลาดดีๆ อ่านเล่นนั้น ดิฉันเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ร้านหนังสือขึ้นป้ายแนะนำ
นั่นคือ จุดเริ่มต้นระหว่างดิฉันกับเส้นทางเดินชีวิตใหม่นี้…
หนังสือเล่มนั้น เป็นหนังสือรวมตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นที่ดี…ดีจนคนญี่ปุ่นเองยังแปลกใจและชื่นชม เช่น เรื่องของ ร้านซูกิยาม่า ร้านขายผลไม้ ที่รักและใส่ใจลูกค้าอย่างถึงที่สุด
วันหนึ่ง มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง มาขอสั่งผลไม้ให้คุณแม่ที่ต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ตัวคนเดียว ลูกค้าท่านนั้นขอให้ทางร้านซูกิยาม่าส่งตะกร้าผลไม้ประจำฤดูให้แม่ของตนทุกเดือน เพื่อให้แม่ทาน และได้มีผลไม้ดีๆ ไปแบ่งเพื่อนบ้าน และมีเรื่องพูดคุยกับคนอื่นบ้าง แกจะได้ไม่เหงา
ร้านซูกิยาม่าก็เลือกผลไม้และจัดส่งต่อเนื่องกันทุกเดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่เคยขาด พร้อมแนบจดหมายทักทายไปให้คุณแม่ของลูกค้าทุกครั้ง
หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง มีคู่บ่าวสาวมาขอให้ทางร้านจัดผลไม้เป็นของชำร่วยให้กับแขกในงาน ทั้งคู่ได้ยินชื่อเสียงของร้านซูกิยาม่ามานาน และอยากลองสั่งผลไม้จากร้านนี้ ในวันพิเศษของตนเอง ทั้งคู่กระมิดกระเมี้ยนบอกงบประมาณอันน้อยนิดกับคุณลุงเจ้าของร้านไป แกก็รับปากและนัดวันมารับ
เมื่อถึงวันไปรับกระเช้าผลไม้ ปรากฏว่า กระเช้าดูอลังการกว่าที่หนุ่มสาววาดฝันไว้มาก คุณลุงเจ้าของร้านยิ้มและขยิบตาให้ทั้งคู่ พร้อมกล่าวว่า “ทางร้านขอร่วมแสดงความยินดีกับการแต่งงานของทั้งสองท่านครับ” บ่าวสาวดีใจจนน้ำตาไหล…
ในฐานะคนที่เรียนด้านธุรกิจมาตลอด ดิฉันแอบคิดในใจว่า ทำธุรกิจแบบนี้ จะได้กำไรไหม จะคุ้มหรือเปล่า แต่ทุกบริษัทที่อาจารย์ซากาโมโต้เขียนถึงนั้น สร้างกำไรได้อย่างยาวนานทุกบริษัทจริงๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือธุรกิจเล่มแรกที่ดิฉันอ่านแล้วน้ำตาไหล
แต่…สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น
ช่วงปีค.ศ.2017 ดิฉันต้องพานิสิตจุฬาฯ ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างที่คิดๆ ว่าจะไปที่ไหนดีนั้น ก็นึกถึงบริษัทที่อาจารย์ซากาโมโต้เขียนถึง เลยพานิสิตไปดูงาน 2 บริษัท
หนึ่งในบริษัทที่ไป คือ บริษัท อินะ ฟู้ด ซึ่งผลิตผงวุ้นคันเต็น (สกัดจากสาหร่าย มีเส้นใยอาหารสูง) บริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีต้นไม้เขียวขจี ไม่มีรั้วกั้น ใครๆ ก็เดินเข้าไปในบริษัทนี้ได้
บริษัทเลือกจุดที่ร่มรื่นที่สุด วิวดีที่สุด เป็นโรงอาหารพนักงาน (ไม่ใช่ออฟฟิศผู้บริหาร) เพื่อให้พนักงานมีความสุขเวลามาทำงาน
บริษัทเปิดร้านอาหารเล็กๆ และสร้างแปลงดอกไม้ สวนญี่ปุ่นไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชม จะได้สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น
ตอนดิฉันไป เห็นคุณป้าสองคนเดินถือขวดน้ำพลาสติกเข้ามาในบริษัท เมื่อถามพนักงาน เธอก็ตอบว่า คงเป็นคุณป้าแถวนี้ มาตักน้ำธรรมชาติจากตาน้ำ ที่บริษัทต่อไว้ “บริษัทเราเปิดรับคนทุกคนค่ะ” พนักงานสาวตอบพร้อมรอยยิ้ม
บริษัทอินะ ฟู้ดแห่งนี้ เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงขึ้นติดต่อกัน 48 ปี ด้วยหลักคิดที่ว่า เราจะเป็นบริษัทที่ดีกับพนักงาน ลูกค้า และสังคม
การไปดูงานครั้งนี้ ทำให้ดิฉันกลับมานั่งทบทวนความหมายของธุรกิจใหม่
การทำธุรกิจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกำไร แต่คือการสร้างความสุขให้กับผู้อื่น ผู้อื่นในที่นี้ คือ ตัวพนักงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า ตลอดจนคนในสังคม
ยิ่งสร้างความสุขให้ผู้อื่นได้มาก ก็ยิ่งเติบโตมาก ที่สำคัญ การทำธุรกิจแบบนี้ ตัวเจ้าของ ผู้บริหาร และพนักงานเองก็มีความสุข เพราะทุกวันทำงานของพวกเขา คือ การได้ไปช่วยเหลือใครสักคน ผ่านสินค้าและบริการตนเอง
บริษัทแบบนี้ จะมีแต่พนักงานอยากมาสมัครงาน เพราะบริษัทดูแลดี และกำลังทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนในสังคม
ดิฉันแอบเรียกธุรกิจที่มีแนวคิดเช่นนี้ว่า “ธุรกิจที่มีหัวใจ”
เมื่อดิฉันนำบริษัทญี่ปุ่นที่มีหัวใจไปเล่าให้กับลูกศิษย์หรือผู้ประกอบการฟัง ส่วนใหญ่ผู้ฟังก็จะซึ้ง… อิน… แต่ก็มักจะมีคำถามเล็กๆ ว่า “เพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนแบบนั้นไง เลยทำได้” หรือ “เมืองไทย ทำไม่ได้หรอก”
ดิฉันเอง ก็ลังเลอยู่นาน จนวันหนึ่ง ได้ไปสอนที่พิษณุโลก แล้วเจอเจ้าของโรงน้ำแข็งท่านหนึ่ง พี่เขาเล่าให้ดิฉันฟังว่า …
“พี่บอกลูกน้องเสมอว่า น้ำแข็งต้องทำให้สะอาด ทำเหมือนเราทำกินที่บ้านเอง”
“เห็นลูกน้องทำงานเหนื่อยๆ เราก็สงสาร อยากให้เขาพักสบาย เลยตัดสินใจสร้างห้องพักให้ แล้วก็ติดแอร์ให้ด้วยเลย ไม่มีโรงน้ำแข็งที่ไหนทำให้ลูกน้องขนาดนี้หรอก”
“เวลามีงานบุญ งานในชุมชนอะไร เราก็ส่งน้ำแข็งไปช่วย ให้คนได้ทานน้ำเย็นๆ แต่เราก็ไม่ได้โฆษณาอะไรหรอกนะ”
พี่เขาเล่าอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ และดูมีความสุขมากๆ
หากธุรกิจมีหัวใจ คนที่อยู่รอบๆ ธุรกิจนั้น ทั้งพนักงาน ลูกค้า และสังคม ก็จะมีความสุขไปด้วย
หลังจากนั้น ดิฉันก็พยายามเปิดเรดาห์มองหาธุรกิจที่มีหัวใจ และเริ่มค้นพบธุรกิจไทยดีๆ เช่น กระเป๋า Naraya เสื้อแตงโม (บริษัทสยามแฮนด์ส) ร้าน Lemon Farm ตลอดจนธุรกิจใหญ่ๆ อย่าง Bar-B-Q Plaza (บริษัท ฟู้ดแพชชั่น) เพียงแต่บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า ตนเองกำลังมีหัวใจ ☺
ความตั้งใจของดิฉันในตอนนี้ คือ เผยแพร่หลักคิดธุรกิจที่มีหัวใจมากขึ้น เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ประกอบการและผู้บริหารที่กำลังคิดดี ทำดีอยู่ตอนนี้ แต่ไม่มั่นใจในเส้นทางตนเอง ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการท่านอื่นๆ
ใส่… ‘หัวใจ’ ลงไปในธุรกิจกันนะคะ.