w©rld

หลายครั้งความความศรัทธาก็เทียบได้กับเหรียญสองด้าน

ด้านแรกชัดเจนว่าเป็นที่พึ่งทางใจและช่วยดำรงให้สังคมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนอีกด้าน หากใช้ศรัทธาอย่างไม่ระวัง ก็อาจเป็นเครื่องมือแบ่งแยกกลุ่มชน เช่นที่กล่าวกันว่าหลักศรัทธาเป็นสัจธรรม แต่การกระทำของผู้ศรัทธาล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละบริบทของช่วงเวลาเช่นกัน

ไม่นานมานี้เป็นอีกครั้งที่เหล่าผู้ศรัทธาถูกตั้งคำถาม เมื่อความขัดแย้งอันยืดเยื้อปะทุขึ้นอีกระลอกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนาเก่าแก่อย่าง ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม บริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอิสราเอลซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยิว พื้นที่ที่เรามักได้ยินข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวปาเลสไตน์อยู่เรื่อยๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนอาจอนุมานว่าชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ผู้ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นคู่อริซึ่งต่างกันราวสีขาวและดำ ทั้งที่จริงหากพิจารณารากเหง้าทางวัฒนธรรมแล้วกลับพบหลายจุดร่วมในความแตกต่าง ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าความบาดหมางที่ผ่านมาคือเจตนาของศาสนาจริงหรือ

ด้วยเดิมทีเมื่อหลายพันปีก่อน บริเวณอิสราเอลปัจจุบันนั้นเป็นที่พำนักของหลายกลุ่มชน เปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองหลายต่อหลายครั้ง เกิดการผสานวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นก็หลายหน ซึ่งเหตุตั้งต้นอาจต้องย้อนไล่เรียงกันตั้งแต่ยุคก่อนคริสตศาสนา ครั้งที่ที่ตรงนี้ยังถูกเรียกว่าดินแดนคะนาอัน และมีชาติพันธุ์เซเมติกกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ แต่ชาวเซเมติกเองก็มีหลายสายหลายความเชื่อ ปักหลักอยู่ตั้งแต่แอฟริกา ตะวันออกกลาง เรื่อยไปถึงเอเชีย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มชาติพันธุ์เซเมติกที่มีวิถีชีวิตและความศรัทธาเฉพาะกลุ่มอย่าง ชาวยิวด้วยมีหลักศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว และมีหลักปฏิบัติตามบัญญัติที่พระเจ้ามอบให้ผ่านผู้สนองโองการนามโมเสส และหนึ่งในโองการได้ระบุถึงกรรมสิทธิ์นที่ทางที่พระเจ้ามอบให้ชาวยิวอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งนั่นก็คือแผ่นดินคะนาอัน

ภาพถ่ายทางอากาศพรมแดนระหว่าง อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ / Photo: ImageBank4u

เรื่องราวดำเนินต่อเนื่องอย่างที่หลายคนคงทราบ ชาวยิวรุกรบและยึดครองคะนาอันจากชาวเซเมติกพื้นเมืองกระทั่งตั้งบ้านตั้งเมืองจนเกิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วงเวลา ก่อนคริสตกาลราว 6 ร้อยปี ได้เกิดการสังคายนาบัญญัติทางศาสนาครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมยิว จากคำสอนและตำนานที่สืบทอดเล่าขานกันมาตั้งแต่ยุคของศาสดา กลายเป็นกฎระเบียบที่วางรากฐานให้สังคมยิวเหนียวแน่นทั้งหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติเรื่อยมาจนทุกวันนี้ หลักการเหล่านั้นครอบคลุมทั้งมิติความเชื่อและการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และหนึ่งในหลักการที่กลายเป็นเลือดเป็นเนื้อของชาวยิวสืบมาคือกรอบการกินที่เรียกว่า กอเชอร์หรือ โคเชอร์(Kosher) เป็นภาษาฮีบรูว์หมายถึงมาตรฐานความสะอาดที่เหมาะสม มีหลักสำคัญ 6 ข้อ คือ ห้ามกินสัตว์ที่ตายเอง, ห้ามกินสัตว์บกอื่นนอกจากสัตว์เคี้ยวเอื้องและมีกีบเท้า, ห้ามกินสัตว์ปีกที่บินไม่ได้หรือไร้ขน, ห้ามกินอาหารทะเลที่ไม่มีครีบและเกล็ด, ห้ามดื่มเลือดสัตว์ทุกชนิด และสุดท้ายคือ ห้ามปรุงและกินเนื้อสัตว์กับนมในมื้อเดียวกัน นอกจากนั้นกระบวนการปรุงอาหารโคเชอร์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ทั้งเรื่องภาชนะใส่อาหาร การสวดในมื้ออาหาร และศิลปะการจัดเสิร์ฟซึ่งชาวยิวทุกคนต้องเรียนรู้กันตั้งแต่เล็กแต่น้อย

หน้าตาอาหารท้องถิ่นของชาวยิว / Photo: hadasit

ส่วนเหตุผลเบื้องหลังนั้น นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารลงความเห็นว่า นอกจากความเชื่อว่าเป็นโองการจากพระเจ้าสั่งใช้เพื่อความเจริญในชีวิตของชาวยิวแล้ว บริบทสังคมก็น่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างบัญญัติเหล่านั้นขึ้นมา ยิ่งเมื่อพิจารณาบริบททางภูมิศาสตร์ของดินแดนคะนาอันที่กินบริเวณเชื่อมระหว่างทะเลทรายและมหาสมุทร เต็มไปด้วยชนเผ่ามากหน้าหลายตาเดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา การไหลบ่าทางวัฒนธรรมอาจมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ที่ยิวร่วมสร้างมาหลายร้อยปี ยังไม่นับเรื่องสุขอนามัยเมื่อหลายพันปีก่อนที่เสี่ยงทั้งจากโรคระบาดและจากอาหารแปลกหน้า การตีกรอบการกินอยู่ให้ชัดเจนจึงง่ายกว่าในการควบคุมความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหลายเหล่านั้น

แต่เมื่อหลักการผูกรวมเข้ากับศาสนา มันจึงเป็นข้อบังคับตายตัวที่ผู้ศรัทธาต้องปฏิบัติไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน และไม่ว่าชาวยิวจะเดินทางสู่ดินแดนอื่นใดนอกจากคะนาอัน หลักโคเชอร์ก็จะผูกพันกับชาวยิวอยู่เสมอ จึงไม่แปลกหากทุกวันนี้ร้านอาหารโคเชอร์ที่เคร่งครัดจะไม่มีนมหรือเนยตั้งบนโต๊ะเหมือนร้านอาหารฝรั่งทั่วไป เพราะแม้วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์แล้วว่าการปรุงเนื้อกับนมนั้นไม่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ด้วยหลักการทางศาสนาที่ต้องการให้ผู้กินเกิดความเมตตาต่อสัตว์เล็กที่ยังไม่หย่านม การไม่กินเนื้อร่วมกับนมจึงเป็นการกินเชิงสัญลักษณ์ที่ส่งผลเชิงจิตวิญญาณ มากกว่าเป็นข้อห้ามจากปัจจัยด้านสุขภาพแค่เท่านั้น

 

1.

หลายร้อยปีหลังคัมภีร์ศาสนายิวถูกชำระและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร สังคมชาวเซเมติกในคะนาอันที่ต่อมาคือนครเยรูซาเล็ม จึงได้รับเอาวัฒนธรรมยิวเข้ามาผสมในวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน ดังนั้นเมื่อพระเจ้ามีโองการถึงมนุษย์อีกครั้งผ่านชายชาวยิวผู้กำเนิดในนครเยรูซาเล็ม จึงมีสมมติฐานว่าชายคนนั้นย่อมมีวิถีการกินตามหลักโคเชอร์ด้วยเช่นกัน จนมีการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์พบว่าอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์และเหล่าสาวกใกล้ชิด ที่ต่อมากลายเป็นภาพเขียนระดับตำนาน The Last Supper น่าจะเป็นเมนูอาหารโคเชอร์มื้อพิเศษที่ชาวยิวปรุงกินกันในวัน Passover หรือคือวันที่ชาวยิวพากันระลึกถึงการ ผ่านจากความเป็นทาสโดยการนำของพระเจ้าและศาสดาโมเสส ในมื้อนั้นมีอาหารจานสำคัญคือ เมทโซ(Matzo) ขนมปังไร้เชื้อยีสต์และไม่ผ่านการหมัก ลักษณะเป็นแผ่นแป้งบางกรอบคล้ายแครกเกอร์ และ ผักรสขมเป็นอาหารเชิงสัญลักษณ์สะท้อนความแร้นแค้นขมขื่นตามตำนานการเดินทางข้ามทะเลทรายจากอียิปต์สู่คะนาอันที่ใช้เวลาถึง 40 ปี

เมทโซ / photo: Viktor Kochetkov

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวคริสต์ยุคแรกจะมีหลักการใช้ชีวิตบางอย่างคล้ายชาวยิวที่ร่วมอาศัยในดินแดนศักดิ์สิทธิ ทั้งเรื่องการทำสุนัตเด็กชาย และข้อห้ามเรื่องอาหารการกินที่ยังตกทอดเป็นอิทธิพลให้ชาวคริสต์บางนิกายหลีกเลี่ยงเนื้อหมูหรือสัตว์น้ำไร้ครีบและเกล็ดมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อต่อมาคริสตศาสนาขยายพรมแดนสู่ยุโรปและลงหลักประกาศศาสนาที่กรุงโรม หลักการบางข้อจึงถูกลดทอนลงให้เข้ากับบริบทเชิงวัฒนธรรมและง่ายต่อการเผยแพร่ศาสนามากขึ้น จนเกิดเป็นคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) ขึ้นตามมา

อีกหลายร้อยปีหลังจากนั้น โองการจากพระเจ้าถูกประทานลงมาอีกครั้งผ่านพ่อค้าชาวอาหรับนามมุฮัมมัด ที่ต่อมาถูกนับถือในฐานะศาสนทูตแห่งศาสนาอิสลาม หรือนบีมุฮัมมัด โองการต่างๆ ถูกถ่ายทอดลงมาผ่านท่านนบีตลอดหลายสิบปี หลอมรวมด้วยหลักศรัทธา หลักจริยธรรม และหลักปฏิบัติ ที่บรรดาผู้ศรัทธาหรือมุสลิมพึงน้อมรับและใช้เป็นทางนำในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เรื่องน่าสนใจก็คือ หลักการบางข้อมีส่วนคล้ายคลึงและซ้อนทับกับโองการที่พระเจ้าประทานผ่านศาสดาในยุคก่อนหน้าราวกับมีนัยยะสำคัญ

ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานเองก็ปรากฎหลักศรัทธาต่อศาสทูตและคัมภีร์ในยุคก่อนหน้าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคัมภีร์โตราห์ โองการที่ประทานผ่านนบีมูซา (ศาสดาโมเสส) และคัมภีร์อินญีล โองการที่ประทานผ่านนบีอีซา (พระเยซู) กว่านั้นยังเรียกผู้ศรัทธาในคัมภีร์ยุคก่อนหน้าว่าชาวคัมภีร์ (people of the book) หมายรวมถึงผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกันกับชาวมุสลิม ต่างเพียงช่วงเวลาและรายละเอียดในพระคัมภีร์ที่ศาสนาอิสลามเชื่อว่าอัลกุอานคือโองการสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้

อาหารแบบชาวตะวันออกกลาง / Photo: Elena Eryomenko

จุดร่วมดังล่าวสะท้อนอยู่ในหลักปฏิบัติหลายข้อของศาสนาอิสลาม เช่น ชายมุสลิมได้รับอนุมัติให้แต่งงานกับหญิงชาวคัมภีร์ได้โดยเธอไม่ต้องเข้ารับอิสลาม และมีดอกจันทร์ด้วยว่าชายมุสลิมไม่มีสิทธิกีดกันเธอจากพิธีกรรมทางศาสนาของตน หรือในมิติของการกิน นักวิชาการศาสนาอิสลามต่างก็ให้ความเห็นว่ามุสลิมได้รับอนุมัติให้กินอาหารโคเชอร์ของชาวยิวได้ ด้วยอาหารฮาลาล (halal) นั้นสอดคล้องกับหลักสำคัญ 6 ประการของอาหารโคเชอร์ แม้ปัจจุบันจะมีข้อโต้แย้งถึงรายละเอียดที่ต่างกันระหว่าง 2 หลักการ อาทิ โคเชอร์อนุญาติให้ดื่มไวน์องุ่นที่ผลิตตามแนวทางของยิวได้ แต่ฮาลาลห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ถ้าว่ากันตามหลักการพื้นฐานนั้นก็เป็นที่ยอมรับว่าอาหารโคเชอร์และอาหารฮาลาลมีส่วนเหมือนมากกว่าส่วนต่าง และถ้าพูดในมุมมองนักประวัติศาสตร์

นอกจากความเชื่อว่าเป็นโองการจากพระเจ้าประทานให้บรรดาผู้ศรัทธา อาจกล่าวได้ว่ากรอบการกินดังกล่าวคืออัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มชนที่เติบโตทั้งมิติวัฒนธรรมและจิตวิญญาณภายใต้บริบททางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน

 

2.

สุดท้ายถ้าถามถึงอาหารที่สะท้อนทั้งจุดร่วมทางวัฒนธรรมความเชื่อทั้งหลายข้างต้น ฮัมมุส(Hummus) น่าจะเป็นเมนูที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีพอสมควร ด้วยมันหยั่งรากอยู่ในครัวชาวตะวันออกกลางมาไม่น้อยกว่าพันปี ทั้งเป็นอาหารที่อยู่ในกรอบโคเชอร์และฮาลาล กว่านั้นยังเป็นเมนูที่ชาวคริสต์นำติดตัวจากเยรูซาเล็มออกเดินทางสู่เมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปจนแพร่หลายมาจนวันนี้ นอกจากถูกระเบียบทางศาสนา ฮัมมุสยังเป็นอาหารที่มีลักษณะเป็นมิตร ด้วยทำจากถั่วลูกไก่และงาบด ปรุงรสง่ายๆ ด้วยเกลือ น้ำมันมะกอก และเครื่องเทศสองสามชนิด ถือเป็นอาหารประจำบ้านที่ทำให้คนค่อนโลกกินแล้วคิดถึงครอบครัวไปตามๆ กัน และก็ด้วยความน่าหลงใหลของมันอีกเช่นกันที่ทำให้ไม่นานมานี้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า สงครามฮัมมุส(Hummus Wars)

ฮัมมุส / photo: Brent Hofacker

เมื่อชาติตะวันออกกลางพากันแย่งชิงความเป็นต้นตำรับฮัมมุสกันชนิดสู้ตาย เริ่มจากเลบานอนที่ประกาศฟ้องร้องอิสราเอลว่าช่วงชิงฮัมมุสจากชาวเลบานีสไปเป็นอาหารประจำชาติตัวเอง ด้านอิสราเอลเองก็ตอบโต้ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าฮัมมุสเป็นอาหารที่ทั้งชาวยิวและปาเลสไตน์กินกันมาตั้งนานแล้ว

ส่วนอียิปต์และซีเรียก็ร่วมวงด้วยการชี้แจงว่าวัตถุดิบหลักอย่างถั่วลูกไก่มีต้นกำเนิดในดินแดนของตน เรื่องลุกลามบานปลายจนเลบานอนและอิสราเอลท้าแข่งกันทำฮัมมุสขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าตำรับ สุดท้ายเลบานอนทำสำเร็จได้เวิร์ลเรคอร์ดด้วยฮัมมุสขนาด 1 หมื่นกิโลกรัมไปเมื่อปี 2010

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการว่าแท้จริงฮัมมุสเป็นของใครแน่ จนเกิดวลีที่คนในวงการอาหารพูดติดตลกกันว่า ‘Hummus is a food claimed by all and owned by none’ (ทุกคนต่างอ้างสิทธิในฮัมมุส แต่แท้จริงฮัมมุสไม่เคยเป็นเจ้าของโดยใคร) หรือพูดกันตรงๆ ก็ต้องบอกว่าอาหารจานนี้คือวัฒนธรรมร่วมของชาวตะวันออกกลาง เพราะไล่ตั้งแต่อียิปต์ไปจนถึงอิสราเอลและตุรกีล้วนก็มีฮัมมุสสูตรของตัวเอง ยิ่งกว่านั้นมันยังเป็นอาหารเชิงสังคมที่ชาวตะวันออกกลางใช้จัดเลี้ยงเพื่อนฝูงมาแต่ไหนแต่ไร เป็นวัฒนธรรมการกินที่เรียกว่าเมเซ่ (Meze) โดยเฉพาะชายชาวตะวันออกกลางที่นิยมล้อมวงกินอาหารเบาๆ อย่างฮัมมุสเพื่อสนทนากันระหว่างวัน ไม่ต่างจากสภากาแฟอย่างฝรั่ง หรือวงน้ำชาของชาวจีนอย่างไรอย่างนั้น

ฮัมมุสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากเชฟชาวเลบานอนมากกว่า 300 คน / photo: CNN

สำหรับอิสราเอล ในชั่วโมงที่ความขัดแย้งผลักดันให้การกินกลายเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชาวยิวบางคนหลีกเลี่ยงเมนูบางอย่างของปาเลสไตน์คล้ายว่าการกินอาหารของอีกฝ่ายเท่ากับการยอมรับการมีอยู่ ส่วนปาเลสติเนียนบางส่วนก็หลีกเลี่ยงร้านอาหารโคเชอร์แม้ศาสนาจะอนุมัติให้กินได้ก็ตาม แต่กับฮัมมุสนั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะไม่ว่าจะครัวโคเชอร์หรือครัวฮาลาลฮัมมุสก็ปรากฏตัวขึ้นได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง ด้วยมันคือมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของชนสองกลุ่มที่มีพื้นฐานความเชื่อและกรอบวิถีชีวิตสอดคล้องกันมาเป็นพันปี พูดได้ว่าฮัมมุสเป็น ‘เมนูกลางๆ’ ที่ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดหรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหนก็กินได้สบายใจไม่ต่างกัน และอาจกล่าวได้ว่าชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ก็อาจคล้ายฮัมมุสนั่นเอง คือเป็นเมนูกลางๆ ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมชัดเจนยาวนาน และอาจเป็นกลุ่มชนที่หลายฝ่ายอยากฉกฉวยไว้ให้อยู่ในฝั่งตัวเอง จนบางครั้งหลงลืมว่าแท้จริงมนุษย์นั้น owned by none ในความหมายว่า ไม่เคยตกเป็นของอุดมการณ์ใดหรือรัฐไหนอย่างสมบูรณ์

 

อ้างอิง

  • คึกฤทธิ์ ปราโมช. ยิว. (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2510)
  • Kyri W. Claflin and Peter Scholliers. (2013). Writing Food History: A Global Perspective. Berg Publishers, P.121-139.
  • Vatika Sibal. (2018). Food: Identity of culture and religion, St.Andrew’s College of Arts, Science and Commerce.