“เมื่อเลยผ่านจุดหนึ่งมาแล้ว มันจะไม่มีหนทางให้ย้อนกลับอีกต่อไป เราจึงจำต้องไปให้ถึงเป้าหมายข้างหน้า”
นักเขียนผู้ตายไปก่อนวัยอันควรอย่าง ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) เขียนไว้ในสมุดบันทึกของเขาที่ถูกตั้งชื่อในภายหลังว่า Reflections on Sin, Suffering, Hope, and the True ประมาณนั้น
‘จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ’ หรือที่เราน่าจะคุ้นเคยในชื่อภาษาอังกฤษอย่าง ‘point of no return’ มาจากศัพท์เชิงเทคนิคเกี่ยวกับอากาศยาน ที่หมายถึงจุดที่เครื่องบินลำหนึ่งไม่สามารถย้อนกลับไปสู่สนามบินต้นทางได้ เนื่องจากมีพลังงานเชื้อเพลิงไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการบินไปข้างหน้าสู่จุดหมายปลายทางเพียงเท่านั้น
ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจต้องเจอกับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้เราต้องตัดสินใจว่าจะก้าวข้าม ‘จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ’ นี้หรือไม่ มันคือการกระโจนข้ามพรมแดนอันคุ้นเคย ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีแต่ต้องเดินไปข้างหน้า เพราะข้างหลังถูกปิดประตูล็อกกุญแจแน่นหนาด้วยกระแสของเวลาที่ผ่านพ้น จนเราไม่อาจหวนย้อนกลับไปได้อีก
ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ point of no return คงเปรียบเหมือนเหตุการณ์ ‘ข้ามแม่น้ำรูบิคอน’ (cross the Rubicon) ของ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ซึ่งทำให้เขากลายมาเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโรมัน
49 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์พร้อมกองทัพของเขาตั้งแถวตระหง่านตรงทางข้ามแม่น้ำรูบิคอนทางตอนเหนือของแคว้นอิตาลีในสาธารณะรัฐโรมันโบราณ จุดแบ่งเขตแดนที่หากแม่ทัพคนใดพากองทัพข้ามไปจะมีโทษถึงประหารชีวิตด้วยข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาสูง ซีซาร์นิ่งคิดอยู่นาน ก่อนจะประกาศออกไปด้วยเสียงกึกก้องว่า ‘Alea iacta est’ หรือที่แปลได้ว่า ‘ลูกเต๋าถูกทอยออกไปแล้ว’ ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจของเขาจะไม่มีทางย้อนกลับได้อีก เขานำทัพของตนข้ามพรมแดน และเริ่มต้นสงครามกลางเมืองอันยาวนาน จนกระทั่งได้รับชัยชนะ และกลายมาเป็นผู้ปกครองของโรมันในที่สุด
เหตุการณ์ข้ามแม่น้ำรูบิคอนนี้ถูกหยิบยกมาอธิบายเพื่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของ ‘จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ’ หรือ ‘point of no return’ อยู่เสมอ
ว่าแต่ ทำไมจุดที่ไม่อาจย้อนกลับถึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรพิจารณา? เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) เจ้าของหนังสือ How to Consciously Design Your Ideal Future เคยทำวิจัยปริญญาเอกของเขาในหัวข้อนี้ และค้นพบประเด็นที่น่าสนใจบางอย่าง…
ในการทำวิจัย ฮาร์ดี้สัมภาษณ์คนสองกลุ่มคือ หนึ่ง—กล่มผู้ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการ และสอง—กลุ่มคนที่อยากประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งฮาร์ดี้บอกว่า “ผู้คนที่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการต่างบอกว่าตนได้ผ่าน point of no return มาแล้วแทบทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่อยากประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วมักยังไม่มีประสบการณ์ในการก้าวผ่าน point of no return นี้”
โดยฮาร์ดี้ยกตัวอย่างของคนที่ตัดสินใจลาออกมาเพื่อเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์คนหนึ่งผู้บอกเล่าเรื่องราวของตนให้ฮาร์ดี้ฟังว่า “ผมกลัวหัวหดที่จะตัดสินใจก้าวข้าม point of no return เพราะมันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกสิ่งทุกอย่าง มันหมายถึงผมต้องเข้าไปใน LinkedIn เพื่อเปลี่ยนโปรไฟล์การทำงาน เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ผมเคยทำ หนังสือรับรองการทำงานไม่มีความหมายอะไรกับผมอีกแล้ว มันคือสิ่งที่น่าขนลุกขนพองมากๆ แต่ผมก็ตัดสินใจจะก้าวเดินต่อไป เปลี่ยนโปรไฟล์ใน LinkedIn แล้วหลังจากนั้นผมก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโลกของการเป็นนักเขียนอิสระ ผมเริ่มเขียน และเมื่อผมเขียนมาได้ถึงจุดหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่า ใช่ ผมพร้อมแล้ว! นี่แหละคือเส้นทางของผม”
โดยในอีกท่อนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ นักเขียนฟรีแลนซ์คนนี้ยังบอกกับฮาร์ดี้ถึงความแตกต่างของการก้าวผ่านจุดที่ไม่อาจย้อนคืนของเขาว่า “ก่อนหน้าจะก้าวข้าม point of no return มันจะมีความรู้สึกประมาณว่า ผมเป็นนัก ‘อยาก’ เขียน ผมกำลังเรียนรู้ ผมกำลังเริ่มต้นอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อผมข้ามผ่านจุดที่ไม่อาจย้อนกลับนี้มาแล้ว ผมจึงตระหนักว่าผมคือนักเขียน ผมเป็นนักเขียนอิสระ เพราะนี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำ และเพราะนั่นคือสิ่งที่ผมกำลังทำ มันจึงนิยามสิ่งที่ผมกำลังเป็น”
ฮาร์ดี้บอกว่า การตัดสินใจข้ามจุดที่ไม่อาจย้อนกลับนี้จะช่วยทำให้เราโฟกัสต่อจุดหมายข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้น มันช่วยขจัดสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขวออกไป เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่เหลือตัวเลือกอื่นใดนอกจากเดินไปตามเส้นทางที่ได้ตัดสินใจเลือกแล้ว ขณะเดียวกันการที่เรารู้ว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางที่เราเลือกด้วยตัวเองจริงๆ ก็อาจนำมาซึ่งความสุขที่มากขึ้นได้
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราต่างก็รู้ ว่าคนที่ตัดสินใจก้าวเดินไปข้างหน้าสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ คงไม่สามารถไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตัวเองวาดหวังไว้ได้ทุกคน และบ่อยครั้ง point of no return สำหรับบางคนกลับไม่ได้มาจากการตัดสินใจก้าวผ่านไปด้วยตนเองแบบร้อยเปอร์เซ็นด้วยซ้ำ
ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เขียนไว้ในท่อนหนึ่งในนิยายของเขาอย่าง Kafka on the Shore ซึ่งจากชื่อเรื่อง ก็คงเดาได้ไม่ยากว่ามันได้รับแรงบันดาลใจมาจากฟรานซ์ คาฟคาไม่มากก็น้อยว่า “เราทุกคนล้วนมีจุดที่ไม่อาจย้อนกลับในชีวิต และในบางกรณี มันกลับเป็นจุดที่ทำให้คุณไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อีกต่อไป เมื่อเราเดินไปถึงจุดนั้น สิ่งที่เราทำได้คือการยอมรับข้อเท็จจริงของมันอย่างเงียบเชียบ นั่นคือวิธีการที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่รอด”
แต่ก็อีกเช่นกัน ที่หากไม่ก้าวข้ามออกไปจากจุดที่เรากำลังยืนอยู่เสียเลย เราก็จะไม่มีวันรู้ได้ว่าจุดที่ไม่อาจย้อนกลับนั้นจะพาเราไปสู่เป้าหมายปลายทางแบบไหน—เป้าหมายปลายทางที่ทำให้เราสุขสมกับการเลือกตัดสินใจก้าวออกไป หรือเป้าหมายปลายทางภินท์พังย่อยยับที่ทำให้เรารู้สึกเสียใจที่ก้าวข้ามมา
แล้วคุณล่ะ ผ่านจุดที่ไม่อาจย้อนกลับมาหรือยัง และ point of no return สำหรับชีวิตของคุณนั้นคืออะไร?
อ้างอิง
- Franz Kafka. Reflections on Sin, Suffering, Hope, and the True.
- Haruki Murakami. Kafka on the Shore.
- N.S. Gill. Meaning Behind the Phrase to Cross the Rubicon. https://bit.ly/2MlMmJI
- Benjamin Hardy. 8 People Discuss What It Means To Pass The ‘Point Of No Return’ In Life. https://bit.ly/3dLUwqa