เราโกรธเกรี้ยว หยาบคาย และรุนแรงได้หรือไม่ในการชุมนุม?
คำถามทั้งหมดอาจสรุปแบบบ้านๆ สั้นๆ ได้ว่า ถ้ามีความสุขดี อาศัยอยู่ในบ้านเมืองที่ดี มีสวัสดิการที่ครอบคลุม มีเสรีภาพในการแสดงออก คงไม่มีใครโกรธเคืองรัฐจนระเบิดออกมาเป็นการกระทำที่หลายคนบอกว่า มันไม่ ‘สุภาพ’ และไม่เป็น ‘ปัญญาชน’ เอาเสียเลยแบบนี้
18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ราษฎรมหาศาลออกมาบนท้องถนนในย่านใจกลางกรุงเทพฯ อย่างราชประสงค์ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้การฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊ซน้ำตาสลายการชุมนุมของประชาชน ณ บริเวณรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
การชุมนุมดำเนินไปโดยมีไฮไลต์สำคัญคือการพ่นสีลงบนพื้นถนน หรือป้ายต่างๆ เขียนข้อความด่าทอไม่พอใจต่อความอยุติธรรมและการกระทำอันรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่พวกเขาได้พบเจอ ใช้ปืนฉีดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงการสาดสีที่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การชุมนุมยุติในเวลา 20.30 น. แต่เสียงวิจารณ์ยังอื้ออึงหลังจากนั้น ทั้งเรื่องการตอบโต้ต่อภาครัฐของผู้ชุมนุมที่มีการเพิ่มระดับขึ้น หรือการกระทำในมุมกลับ เช่น มีประชาชนบางกลุ่มออกมาช่วยตำรวจทำความสะอาดสีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราวกลัวว่าม็อบจะเสียภาพลักษณ์ของการชุมนุมอันสงบสันติไป ซึ่งนั่นเป็นที่มาของแฮชแท็ก #ปัญญาชนเป็น…อะไร ในท้ายที่สุด
การประท้วงแบบสงบสันติ (non-violence) ในโลกสมัยใหม่ส่วนหนึ่งว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวดำในอเมริกา (Civil Rights Movement) ระหว่างปี 1955-1968 ซึ่งมี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) เป็นตัวละครสำคัญ คิงถูกจดจำในฐานะนักเรียกร้องผู้ไม่นิยมใช้ความรุนแรงในการประท้วง แม้เขาและครอบครัวจะถูกคุกคามถึงชีวิตมากมายแค่ไหนก็ตาม
แต่สิ่งที่ผู้คนมักไม่พูดถึงเกี่ยวกับเขามากนักคือ แนวคิดช่วงท้ายๆ ในชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ยึดมั่นแนวทางสันติวิธีคนนี้ ที่กลับไม่ได้มองว่า การประท้วงโดยไร้ความรุนแรงคือการ ‘เฝ้ารอและเฝ้ามอง’ เพียงอย่างเดียว
ในการขึ้นพูดครั้งท้ายๆ ของเขา เขาเรียกร้องให้ใครก็ตามที่มีอภิสิทธิ์ (privilege) ปฏิเสธการรักษาสถานะ (status quo) ของตัวเอง และกระโจนสู่การต่อสู้ ภาษาที่คิงเลือกใช้ดูแข็งขันและกล้าหาญขึ้น เขาเรียกร้องให้มีปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต ในโรงยิมของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในดีทรอยต์ คิงขึ้นกล่าวถ้อยคำที่อาจลบภาพนักสันติวิธีของเขาและทำให้เขาดูเป็นคนหัวรุนแรงขึ้นมาว่า
“เงื่อนไขอันเลวร้ายเหลือทนในสังคมของพวกเราคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการต่อต้านมันด้วยความรุนแรงเพื่อจะได้รับความสนใจ และผมจะพูดในคืนนี้ว่า การก่อจลาจลเป็นการสื่อสารที่ไม่เคยได้รับการรับฟัง สิ่งที่อเมริกาล้มเหลวที่จะได้ยินนั่นก็คือ การไม่ได้ยินว่าคำมั่นของเสรีภาพและความยุติธรรมยังไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น และมันก็เป็นความล้มเหลวในการรับฟังว่ามีบางส่วนในสังคมคนขาวที่กังวลเกี่ยวกับความสงบสุขและสถานะของตนมากกว่าเรื่องของความยุติธรรมและมนุษยธรรม”
โยอาฟ เทเนมบาม (Yoav Tenembaum) จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Tel Aviv เคยเขียนแสดงความคิดเห็นไว้เกี่ยวกับความสำเร็จของการเรียกร้องตามแนวสันติวิธี เช่น การดื้อแพ่งในสหรัฐฯ ที่คนดำไม่ยอมลุกให้คนขาวนั่งในรถเมล์ในยุคหนึ่ง หรือ สัตยาเคราะห์ในอินเดียที่เป็นการเดินขบวนอย่างสันติเพื่อต่อต้านกฎหมายอันไม่เป็นธรรมของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษภายใต้การนำของ มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) ว่า “หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้แคมเปญของคานธีและคิงสำเร็จคือธรรมชาติของระบบการเมืองในอเมริกาและอังฤษที่ต่างมีความเป็นประชาธิปไตย นโยบายไม่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสสำเร็จได้มากกว่าเมื่อเราใช้มันต่อต้านในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ”
แถมเทเนมบามยังชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ด้วยสันตินั้นจะไร้ประสิทธิภาพทันทีหากมันเผชิญหน้ากับอำนาจที่ฆ่าประชาชนได้ทุกเมื่อ โดยยกตัวอย่างว่า หากชาวยิวประท้วงด้วยสันติวิธีในยุคของการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มันย่อมไร้ความหมาย “หากคิงหรือคานธีเป็นชาวยิวในยุคนั้น พวกเขาคงต้องจบชีวิตในห้องรมแก๊ซแน่ๆ”
แล้วความรุนแรงใดๆ ที่เกิดขึ้นในขบวนการประท้วงซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการทำลายพลังอันบริสุทธิ์ หรือแม้กระทั่ง ‘ภาพลักษณ์อันสุภาพถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบปัญญาชน’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
งานวิจัยทางจิตวิทยาชื่อ Explaining radical group behavior: Developing emotion and efficacy routes to normative and nonnormative collective action อธิบายว่า เมื่อผู้คนไม่เชื่ออีกต่อไปว่าการร้องขอความยุติธรรมของพวกเขาจะถูกได้ยินจากผู้มีอำนาจ ผู้ประท้วงก็มักมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมาเป็นวิธีหนึ่งในการประท้วง นั่นเพราะในสถานการณ์เช่นนั้น ผู้คนจะคิดว่าพวกเขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
ในสหรัฐฯ หลังมีการประท้วงในสังคมคนดำต่อความไม่เป็นธรรมที่มีตำรวจวิสามัญฆาตกรรมชายชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) จนเป็นเหตุของความจลาจล มีการพ่นสีตามสถานที่ต่างๆ ปล้น (looting) ทำลายข้าวของ และวางเพลิง วิลเลี่ยม บาร์เบอร์ (William Barber) ประธานร่วมของ Poor People’s Campaign (ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากแนวคิดในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง) ได้เขียนแสดงความคิดต่อเรื่องนี้ไว้ในสื่ออย่าง The Guardian ว่า
“ไม่มีใครอยากเห็นชุมชนของพวกเขามอดไหม้ แต่เปลวไฟที่แผดเผาในมินนีแอโพลิสก็ราวกับเป็นเปลวไฟที่เผาไหม้อยู่ในจิตวิญญาณของคนชายขอบชาวอเมริกันในวันนี้ มันคือการโต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติต่อบาดแผลอันเจ็บปวดที่ชุมชนคนดำต้องพบเจอจากรุ่นสู่รุ่น”
แน่นอน การเรียกร้องอย่างสันติเป็นวิถีในอุดมคติ โลกเดินทางมาไกล และทุกคนคงอยากเห็นการประท้วงที่สวยงามเช่นนั้นเป็นสิ่งสามัญ แต่ในโลกความจริงที่ ‘อุดมคติ’ ถูกริบหายและผู้คนมากมายยังทนทุกข์ การเคลื่อนไหวใดก็ตามที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านความอยุติธรรมจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวในโลกอุดมคติ มันไม่ใช่แคมเปญโฆษณาสวยหรูรณรงค์ให้ทุกคนต้องปฏิบัติอยู่กับร่องกับรอยในทิศทางเดียวกัน
สิ่งที่ผู้คนตะโกนก้องเรียกร้องร่วมกันคือ ชีวิตและเสรีภาพต่อผู้มีอำนาจซึ่งขโมยมันไป แต่น้ำเสียงและท่วงทำนองในการเรียกร้องอาจแตกต่างออกไปตามประสบการณ์อันหลากหลาย พื้นฐานความคิดและชีวิตที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำต่างๆ
ในเมื่อความเจ็บปวดเป็นของจริง ความโกรธเกรี้ยวจากความเจ็บปวดที่ปริแตกออกมาผ่านการกระทำที่อาจไม่งดงามนัก จึงควรถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวด้วย พูดง่ายๆ คือ ในสถานการณ์อันไม่ปกตินี้ ความโกรธเกรี้ยว คำหยาบคาย และการกระทำที่ถูกมองว่ารุนแรง มันคือผลจากระบบที่บิดเบี้ยวด้วยเช่นกัน (และอาจเป็นมากกว่าเรื่องนิสัยไม่ดีของคนคนหนึ่งด้วยซ้ำ) มันเป็นหลักฐานว่าความอยุติธรรมมีอยู่จริง และเรากำลังตกอยู่ในนรกจริงๆ ไม่ใช่สรวงสวรรค์
ย้ำอีกครั้งว่ามันไม่งดงาม และนี่ไม่ใช่การอ้างความชอบธรรมให้ความรุนแรง ‘ในสถานการณ์ปกติ’ ใดๆ แต่เป็นเพียงการทำความเข้าใจว่า ในการเรียกร้องหนึ่งหนึ่ง ‘ในการสถานการณ์อันไม่ปกติ’ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ไหมและเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ควรรักษาไว้ที่สุดในประเด็นนี้นั่นก็คือ Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน
ป้ายรถเมล์อาจโดนพ่นสี ข้าวของอาจเสียหาย และความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นจากความโกรธของปัจเจก และเจ้าของทรัพย์สินที่เสียหายเหล่านั้นก็อาจไม่พอใจได้ และอาจควรได้รับการเห็นใจด้วย
ทว่าหากคิดอย่างรอบคอบ ใช่หรือไม่ว่าความโกรธหรือแม้กระทั่งความหยาบคายของปัจเจกที่แสดงออกมานั้นเกิดขึ้นจากระบบอันบิดเบี้ยว จากโลกไร้ความยุติธรรมที่หลายๆ คนกำลังต่อสู้ ซึ่งนั่นอาจเป็นคนร้ายที่แท้จริง
คำถามคือเมื่อเรารู้แล้วว่าใครคือคนร้ายที่แท้จริง เราจะทำความเข้าใจและยอมรับการกระทำที่อาจถูกมองว่าไร้อารยะนี้ได้แค่ไหน และเอาเข้าใจจริง ความไร้อารยะ กับ ความโกรธเกรี้ยวและความเจ็บปวดที่ถูกแปรออกมาเป็นการกระทำนั้น มันควรพิจารณาอยู่ในระนาบเดียวกันจริงๆ หรือเปล่า?
ในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ชื่อ The Other America ในปี 1953 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ บอกว่า
“ความยุติธรรมและความก้าวหน้าในสังคมคือเครื่องมือป้องกันการก่อจลาจลได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด”
อ้างอิง
- Yoav Tenembaum. The Success & Failure of Non-Violence. https://bit.ly/2IV2DmM
- April Reign. For Martin Luther King Jr., Nonviolent Protest Never Meant ‘Wait and See’. https://bit.ly/3fg45MM
- Emma Thomas. Why do protests turn violent? It’s not just because people are desperate. https://bit.ly/3316E0k
- Reverend William Barber. America must listen to its wounds. They will tell us where to look for hope. https://bit.ly/3m1fZwN
- Sunita Viswanath. An activist’s dilemma: What is ahimsa in the age of state-sponsored murder?. https://bit.ly/39cH3Wj
- Natalie Escobar. One Author’s Controversial View: ‘In Defense Of Looting’. https://n.pr/3kOE88j