เดวิด เบอร์โควิตซ์ (David Berkowitz) บอกตำรวจว่าเขาถูก ‘ปิศาจ’ บงการให้ฆ่าคน
ระหว่างปี 1976-77 ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้น 6 คดี จนทำให้บรรยากาศของทั้งเมืองตกอยู่ในความตื่นตระหนกและหวาดผวา มันเป็นการตามล่าหาตัวคนร้ายที่อึกทึกครึกโครมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ สื่อทำงานอย่างหนักจนคนร้ายมีสถานะไม่ต่างจากดารา เมื่อในจุดเกิดเหตุมักมีจดหมายชวนขนหัวลุกถึงตำรวจนิวยอร์กวางอยู่ โดยฆาตกรผู้เรียกว่าเองว่า ‘บุตรแห่งแซม’ (Son of Sam) ที่เนื้อหาทั้งเต็มไปด้วยการเยาะเย้ยถากถาง และท้ายทายให้ตำรวจมาจับเขาให้ได้
“ข้าคือปิศาจ ข้าคือบุตรแห่งแซม ข้าคือไอ้สารเลว” จดหมายฉบับหนึ่งของฆาตกรเขียนไว้แบบนั้น
เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงนี้ ต่อมาถูกนำไปดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนแห่งทศวรรษอย่าง Mindhunter
วันที่ 10 สิงหาคม 1977 ในที่สุด เดวิด เบอร์โควิตซ์ หรือที่ตอนนั้นถูกรู้จักในชื่อบุตรแห่งแซมก็ถูกจับกุมตัว ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ เบอร์โควิตซ์อ้างว่า เขาฆ่าคนเพราะคำสั่งของปิศาจ ที่สิงอยู่ในสุนัขพันธุ์แลบราดอร์ชื่อ ฮาร์วีย์ ของเพื่อนบ้านที่มีชื่อว่า แซม คาร์ (Sam Carr)
ฟังดูเหลือเชื่อ เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เดวิด เบอร์โควิตซ์อาจมีอาการทางจิตบางอย่าง แต่หากขยับถอยห่างจากเรื่องราวชวนขนหัวลุกนี้ ใช่หรือไม่ว่าในตัวเราทุกคนล้วนมีปิศาจซ่อนอยู่เป็นของตัวเอง
ไม่ว่ามันจะเป็นภาวะเสพติดอะไรบางอย่าง การหมกมุ่นกับความทรงจำที่ไม่อาจแก้ไข บาดแผลที่ไม่อาจลบเลือน การหวาดกลัวในความล้มเหลว ความขี้เกียจที่แผ่ซ่านอยู่ภายใน หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมทั่วไป เช่น การไม่สามารถหยุดช้อปปิ้ง หรือหยุดกินของไม่มีประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งบางครั้งมันก็กลืนกินตัวตนในด้านดีของเรา จนทำให้เราขาดไร้ความสุข
เหล่านี้เรียกว่า ‘อำนาจของปิศาจในใจ’ (inner demon) นักจิตวิทยาอย่าง ดร. ลอร์เรน วาน ทอยล์ (Loraine Van Tuyl) แสดงความคิดเห็นถึงที่มาที่ไปของปิศาจเหล่านี้ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนในวัยทำงานว่า “เมื่อเรารู้สึกหมดไฟ หรือดิ่งจมกับความต้องการที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องเดตไลน์ ความป่วยไข้ วิกฤตในชีวิต โศกนาฎกรรม จุดพลิกผันสำคัญ การเปลี่ยนแปลง และความสูญเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ปิศาจจะโจมตีเรา บุกรุกเข้ามาผ่านรอยร้าวของจิตใจ กรีดร้องกู่ก้องเรียกร้องความสนใจ”
แน่นอนว่า หลายคนพยายามหลีกหนีความรู้สึกนี้ ยื้อยุดเอาเป็นเอาตายกับการกำจัดความคิดแง่ลบออกไปจากหัว ด้วยกลัวว่ามันจะกลายเป็นตัวผลักดันให้เราทำเรื่องแย่ๆ ขึ้นมา
แม้ข่าวร้ายก็คือ การหยุดความคิดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่นักจิตวิทยาคลินิกอย่าง ดร. เคต ครูซ (Kate Cruise) บอกว่า ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีซ่อนอยู่เช่นกัน เมื่อเราสามารถฝึกฝน และจัดระเบียบความคิดของตน เพื่อให้ปิศาจในตัวอยู่กับร่องกับรอยได้
ครูซแนะนำวิธีง่ายๆ (แต่อาจทำได้ยาก) นั่นคือการทำให้ตัวเอง ‘ตระหนักรู้’ โดยบอกวิธีปฏิบัติ เช่น การพูดคุยกับตัวเองด้วยประโยคที่ว่า “ตอนนี้ฉันกำลัง ‘มีความคิด’ ที่ว่า…” แทนที่จะเป็น “ฉันเป็นคน…” เพื่อแยก ‘ความคิด’ ออกจากสิ่งที่เรา ‘เป็น’ จริงๆ จากนั้นพยายามพูดประโยคนี้กับซ้ำกับตัวเองอีกสักสองสามครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า หากมันเป็นความคิดที่ดูไม่ดีและเราไม่ชอบมันนัก มันก็จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ จากนั้นจงพูดกับตัวเองว่า ‘ฉันกำลัง ’ตระหนัก’ ถึงความคิดที่ว่า…’ ซึ่งมันอาจทำให้คุณรับรู้ถึงความแตกต่างขึ้นมาได้
หรือกระทั่งเราไม่เห็นความแตกต่างใดๆ ในกระบวนการเหล่านั้น แต่อย่างน้อย การเผชิญหน้ากับปิศาจในใจมันก็คือความกล้าหาญอย่างหนึ่งที่จะช่วยยืนยันว่า นอกจากในตัวเราจะมีเสียงแห่งปิศาจแล้ว ในส่วนลึก เราก็ยังมีเสียงของนางฟ้า ผู้คอยบอกให้เราเอาชนะความคิดแง่ลบในจิตใจซ่อนอยู่ข้างในเช่นกัน และสิ่งนั้นมักเริ่มต้นได้ด้วยการอ้าแขนออกรับความอัปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัวของตัวเอง ด้วยการถามว่า ‘ปิศาจในตัวฉันมีหน้าตาอย่างไร?’
อ้างอิง
- biography.com. David Berkowitz Biography. https://bit.ly/3rkKKPs
- Kate Cruise. Inner Voice: Angels and Devils. https://bit.ly/2YFl3wG
- Loraine Van Tuyl. How to Kill Your Inner Demons Without Harming Yourself. https://bit.ly/2MQDzzp