ปอมเปอุส เปาลินุส (Pompeius Paulinus) อัศวินในยุคโรมันโบราณมักบ่นถึงชีวิตอันแสนสั้นของตัวเอง—เราเกิด ดำรงอยู่ และการดำรงอยู่นั้นก็ผ่านพ้นรวดเร็วก่อนที่เราจะทันรู้ตัว แล้วเราก็ตาย
นี่คือคำบ่นถึงชีวิตที่แทบจะเป็นประเด็นสากลในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเสมอมา และมันก็ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในความเรียงที่ถูกเขียนขึ้นช่วงคริสต์ศักราชที่ 49 โดยนักปรัชญาชาวโรมันสายสโตอิก (Stoicism —ปรัชญาว่าด้วยการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ รวมถึงการฝึกฝนควบคุมตัวเองเพื่อเอาชนะปัจจัยด้านอารมณ์) นาม เซเนกา (Seneca)
“มันไม่ใช่ว่าเรามีเวลาแสนสั้นในชีวิต แต่เรามักโยนเวลาในชีวิตทิ้งไปมากมายเหลือเกิน”
เซเนกาเขียนไว้ในความเรียงของเขาชื่อ ‘On the Shortness of Life’ ที่ยกเรื่องราวของเปาลินุส ซึ่งว่ากันว่าเป็นพ่อตาของตัวเซเนกาเองมาเป็นตัวอย่าง
การอุบัติของโรคระบาด และการบริหารจัดการการควบคุมโรคที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เราแทบทุกคนรู้สึกสูญเสียเวลาในชีวิตไปมหาศาล เกือบ 2 ปีแล้วที่หลายๆ โอกาสถูกพรากหายไปกับวันเวลาของการกักตัวอยู่บ้าน หลายความฝันต้องหยุดชะงักและเลิกล้ม แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เหตุผลหลักๆ คงมาจากปัจจัยภายนอก แต่เมื่อปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ลำบาก เราจะจัดการปัจจัยภายในที่จะทำให้เราไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังโยนเวลาทิ้งไปอย่างเปล่าดายได้อย่างไร
ในความเรียงของเขา เซเนกาบอกว่า ธรรมชาติให้เวลาแก่ผู้คนในการทำสิ่งสำคัญจริงๆ มากเพียงพอ และเราต้องจัดการวันเวลาที่มีนั้นอย่างเหมาะสม
โดยปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เราเสียวันเวลาไปอย่างสูญเปล่า เซเนกาบอกว่ามันเริ่มต้นมาจากการไม่เห็นคุณค่าของวันเวลานั่นเอง
“คุณกำลังใช้ชีวิตราวกับถูกลิขิตให้มีชีวิตตลอดกาล ราวกับความความเปราะบางแตกหักง่ายของมนุษย์ไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณ คุณไม่ได้ตระหนักว่าเวลามากมายเท่าใดผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับใช้มันอย่างเปล่าเปลืองราวกับมีเวลากักตุนไว้เหลือล้น แม้ว่าคืนวันที่คุณทุ่มเทให้ใครบางคนหรืออะไรบางอย่างจะเป็นวันสุดท้ายของคุณ คุณก็ทำราวว่ากับตัวเองต้องตายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับทุกอย่างที่คุณหวาดกลัว แต่กลับทำประหนึ่งตัวเองเป็นอมตะกับทุกสิ่งที่ตนปรารถนา”
ชีวิตและเวลาอันเปลืองเปล่าในทัศนคติของเซเนกาจึงเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยอันเป็นผลจากการใช้ชีวิตแบบหลงลืมไปว่าเราจะต้องตายในสักวันหนึ่ง ทั้งการคิดถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมากกว่าปัจจุบัน, การให้ค่าและทุ่มเวลาไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ เขาบอกว่า ชีวิตไม่ได้สั้นเพราะมันสั้น เวลาที่มนุษย์มีเฉลี่ยราว 27,000 วันไม่ได้สั้น แต่เป็นตัวผู้ใช้ชีวิตเองต่างหากที่ทำให้มันสั้น
“ชีวิตแสนสั้นและน่าวิตกสำหรับผู้คนที่ลืมเลือนอดีต ละเลยปัจจุบัน และหวาดกลัวอนาคต เมื่อพวกเขาใช้ชีวิตมาถึงจุดจบ คนที่น่าเวทนาเหล่านั้นจะตระหนักว่ามันสายเกินไปเสียแล้ว เมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาถูกครอบงำด้วยการไม่ทำอะไรเลย”
แน่นอนว่าการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องนิยามและควานหาความหมายให้แก่ตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเรามองสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะยอมสละเวลาให้
แต่เพื่อจะลงรายละเอียดให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น ว่าเราโยนเวลาทิ้งไปอย่างไร เราอาจต้องกลับไปดูข้อมูลเชิงสถิติ หรือกระทั่งเรื่องราวที่สัมพันธ์ในเชิงจิตวิทยา เช่น ข้อมูลที่ว่า ‘ในหนึ่งชีวิตเราจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับคนเพียง 5 คนเท่านั้น’ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมองหาคนที่คู่ควรในการใช้เวลาร่วมกัน หรือในระดับจิตใจ เช่น การหวาดกลัวที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยแรงผลักดันของผู้อื่น ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญให้เราโยนวันเวลาทิ้งไปอย่างเปล่าเปลืองได้เช่นกัน
นักจิตวิทยาชื่อดัง แรนดี้ เจ. แพตเตอร์สัน (Randy J. Paterson) เขียนไว้ในหนังสือขายดีของเขาชื่อ How to Be Miserable: 40 Strategies You Already Use ที่พูดถึงวิธีการที่คนเราใช้ชีวิตและเวลาไปกับความทุกข์และความเปลืองเปล่าว่า มันมีปัจจัยมากมาย เช่น การอยู่นิ่งเฉยมากจนเกินไป, นอนหลับไม่เป็นเวลาและไม่เพียงพอ, ใช้หน้าจอสมารต์โฟนเพื่อกระตุ้นอารมณ์ด้านลบ, หรือเรื่องนามธรมอย่าง การพยายามจะมีความสุขตรงๆ แทนที่จะค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ รวมถึงการตั้งเป้าหมายแบบล่องลอยที่มีตัวย่อเป็นศัพท์เทคนิคว่า VAPID อันประกอบด้วย
V – vague: เลื่อนลอย
A – amorphous: ไร้รูปร่างที่ชัดเจนแน่นอน
P – pie in the sky: เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ
I – irrelevant: ไม่ตรงประเด็น
D – delayed: อืดอาดยืดยาด
โดยเขาแนะนำให้ตั้งเป้าหมายโดยใช้หลักคิดที่มีคำย่อในภาษาอังกฤษอย่าง SMART แทนที่ อันประกอบด้วย
S – specific: เฉพาะเจาะจง
M – measurable: สามารถวัดผลได้
A – actionable: ลงมือทำได้จริง
R – responsible: การสร้างเป้าหมายที่เรารู้สึกต้องรับผิดชอบ
T – time-bounded: กำหนดเวลาได้อย่างชัดเจน
เอาเข้าจริง เรื่องความสั้น-ยาวของเวลาในชีวิตอาจไม่ได้สลักสำคัญมากไปกว่าเรื่องที่ว่าเราใช้เวลาที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไรให้คุ้มค่า ในสำนวนไทยเองมีคำที่ใช้กระแหนะกระแหนแสบๆ คันๆ ที่ว่า ‘แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน’ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เซเนกาเขียนไว้ใน On the Shortness of Life ว่า
“คุณไม่ควรคิดว่าใครคนหนึ่งมีชีวิตยืนยาวเพียงเพราะเขามีผมหงอกขาวและมีรอยตีนกา เพราะเขาอาจไม่ได้มีชีวิตที่ยืนยาว แต่เป็นเพียงการอยู่มานานก็เท่านั้น คุณจะคิดว่าชายคนหนึ่งผ่านการเดินทางมาอย่างยาวนานหรือเปล่า ถ้าสมมติในตอนที่เขาออกเรือจากท่า เขาถูกพายุโหมกระหน่ำเข้าใส่ จนพาไปที่นั่นบ้างที่โน่นบ้าง และโดนลมพายุรุนแรงอีกลูกลากวนไปวนมาเป็นวงกลม ในเมื่อเขาไม่ได้เดินทางไกลใดๆ ทั้งสิ้น นั่นเป็นแค่การถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา”
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ได้จากบทความ ‘ฉกฉวยวันเวลา’ เมื่อ ‘เวลาคือความทุกข์’ และเวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างใคร’
อ้างอิง
- Seneca. On the Shortness of Life.
- Jack Maden. Seneca On Coping with the Shortness of Life. https://bit.ly/2Y2UMuZ
- Jessica Stillman. Don’t Want to Waste Your Life? Quit Doing These 6 Things Today. https://bit.ly/3zFx99G
- Jessica Stillman. 7 Surefire Ways to Make Yourself Completely Miserable. https://bit.ly/2WsPfh7