life

อย่ายอมให้ใครมาบอกว่า คุณไม่มีทางทำได้เป็นอันขาด คุณมีความฝัน คุณก็ต้องปกป้องสิ่งที่ฝัน คนที่เคยทำไม่สำเร็จมาก่อนจะพยายามทำทุกวิธีเพื่อบอกว่า อย่างคุณก็ไม่มีทางทำได้เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้อะไรสักอย่าง ตัวคุณเองต้องทำสิ่งนั้นให้ได้

นี่คือคำพูดที่น่าจดจำมากที่สุดใน The Pursuit of Happyness (2006) ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากหนังสือชีวประวัติของ คริส การ์ดเนอร์ (Chris Gardner) คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันผู้ต่อสู้ดิ้นรนจากชีวิตติดลบถึงขนาดต้องอาศัยห้องน้ำสาธารณะเป็นที่นอน เขาพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถที่มี จนได้ทำงานในบริษัทซื้อขายหุ้นและกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพ เขาคือคนที่พลิกฟื้นชีวิตทุกด้านได้ด้วยตัวเอง

การ์ดเนอร์เข้าใจดีว่าในโลกที่แก่งแย่งแข่งขัน ท่ามกลางสังคมที่ไม่น่าอยู่เพราะผู้คนไร้ความเห็นอกเห็นใจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนคนหนึ่งจะกล้ำกลืนฝืนทนให้ความทุกข์ค่อยๆ ผ่านพ้นไปจากชีวิต เพราะทุกอย่างรอบตัวย่อมโน้มน้าวให้ยอมแพ้ต่อโชคชะตาและอุปสรรคไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นสู้ด้วยซ้ำ

ในช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิต สิ่งเดียวที่ทำให้การ์ดเนอร์ไม่ถอดใจไปก่อน คือความเชื่อและความหวังในตัวเองว่า ต่อให้ชีวิตจะยากดีมีจนสักแค่ไหน ทุกคนต่างหาลู่ทางและไขว่คว้าโอกาสเพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่า โดยไม่หลงลืมว่าทุกคนมีสิทธิ์จะมีความสุขได้

สาเหตุที่ความเข้าใจเรื่องความสุขของการ์ดเนอร์เป็นเช่นนี้ เพราะเกิดขึ้นมาจากสาระสำคัญท่อนหนึ่งในคำประกาศอิสรภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ปี 1776 ซึ่งเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิเสาะแสวงหาความสุข (the pursuit of Happiness) ให้ตน เป็นความจริงที่ประจักษ์แจ้งในตัวเองและไม่ใครเพิกถอนความจริงข้อนี้ได้

ตอนที่การ์ดเนอร์ยังต้องเผชิญกับความลำบากอย่างโดดเดี่ยว เขาตั้งคำถามถึงชีวิตที่แทบจะหาความสุขไม่ได้ในเวลานั้นว่า บางทีเหตุผลที่คำประกาศอิสรภาพฯ ยกความสุขให้เป็นสิ่งชอบธรรมที่ทุกคนมีสิทธิ์แสวงหาได้ อาจเป็นวิธีคิดเปี่ยมความหวังที่ใช้ปลอบใจตัวเองยามที่ชีวิตมีแต่ความทุกข์ เพราะว่าแท้จริงแล้วชีวิตคนเราไม่ได้มีความสุขตั้งแต่แรก แล้วความสุขก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่คงอยู่กับเราไปตลอด

ทั้งความเห็นของการ์ดเนอร์เองและคำประกาศอิสรภาพฯ ที่เกี่ยวข้องกับความสุข จึงชวนให้ขบคิดต่อไปว่า สรุปแล้วความสุขที่คนเราเฝ้าหาหรือปรารถนาในชีวิตเป็นอย่างไรกันแน่ มีหน้าตาแบบไหน และเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่ตัวเราหรือเปล่า ซึ่งคำถามทั้งหมดนี้ตอบได้ด้วยมุมมองจิตวิทยา

ในทางจิตวิทยาให้ความหมายกว้างๆ ของ ‘ความสุข’ ไว้ว่า เป็นความพึงพอใจในชีวิต และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้สึกชอบใจว่าชีวิตที่เป็นอยู่กำลังพอเหมาะพอดีกับความคาดหวัง แตกต่างจากคนที่ไม่มีความสุข เพราะไม่เคยพอใจกับชีวิตตัวเอง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นอกเหนือจากรอยยิ้ม ความสนุกสนาน และอารมณ์มั่นคงของคนที่มีความสุข มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้วางรากฐานศึกษาศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวก ได้ขยายความหน้าตาของความสุขว่าเป็นผลรวมจากองค์ประกอบ 3 ด้านในชีวิต คือ

  • (1) ใช้ชีวิตประจำวันอย่างสบายใจ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เป็นความรู้สึกว่าชีวิตนี้น่ารื่นรมย์ เต็มไปด้วยความน่าสนใจน่าค้นหา
  • (2) ใช้ความถนัดหรือความสามารถสร้างประโยชน์หรือคุณค่าบางอย่าง เป็นความรู้สึกประสบความสำเร็จจากการได้ลงมือทำ
  • (3) มีชีวิตอยู่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองแต่เพื่อผู้อื่นทั้งต่อคนใกล้ชิดและคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เป็นความรู้สึกว่าชีวิตช่างมีความหมาย

ความสุขในมุมมองของเซลิกแมนจึงไม่ใช่ความรู้สึกฉาบฉวยที่เกิดขึ้นไวและหายไปเร็ว แต่เป็นสภาวะที่จะคงอยู่ได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่เราจัดระเบียบชีวิตให้สอดคล้องกับองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้ ถึงอย่างนั้น ทำไมคนเรายังเป็นทุกข์มากกว่าสุขอยู่ดี

เหตุผลสำคัญในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นเพราะคนรู้ไม่จริงตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขแล้วส่งต่อความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวิธีแสวงหาความสุขให้คนอื่น ถือเป็นหลักปฏิบัติที่ไร้ความน่าเชื่อถือใดๆ ในทางจิตวิทยา ทำให้เกิดเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน ซึ่งนำมาใช้หาความสุขไม่ได้จริง และอาจทำให้ทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำ

รัสส์ แฮร์ริส (Russ Harris) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและนักจิตบำบัดชาวอังกฤษ เรียกปรากฏการณ์ทำนองนี้ว่า happiness trap หรือ หลุมพรางที่คอยล่อลวงให้คนติดกับดักความสุขแต่กลับทำให้ทุกข์และเจ็บปวด

จากประสบการณ์และการศึกษาค้นคว้าด้านจิตบำบัด แฮร์ริสจึงค้นพบวิธีบำบัดให้คนหลุดพ้นจากความทุกข์และพบกับความสุขที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ

  • (1) Accept ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ยอมรับความคิดและความรู้สึกของตัวเองให้ได้แล้วอยู่กับปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรามีสติ รู้ตัวว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น และจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้น
  • (2) Connect เชื่อมโยงคุณค่าในตัวเองกับสิ่งที่ทำได้ ก้าวข้ามความคลางแคลงใจและเอาชนะความไม่มั่นใจ เพราะชีวิตตอนนี้ย่อมสำคัญที่สุด มองเห็นตัวเองว่ามีค่ามีความหมายที่จะทำให้เกิดพลังใจ ไม่จมอยู่กับความทุกข์เดิมๆ
  • (3) Take ลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย เท่ากับว่ากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชีวิต ตอกย้ำว่าถึงที่สุดแล้วชีวิตเป็นของเรา ทุกคนมีอำนาจกำหนดทิศทางของชีวิตให้ดีขึ้นและมีความสุขได้ เชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตัวเอง

แฮร์ริสอธิบายเพิ่มเติมว่า ในเมื่อความจริงของชีวิตคือการเผชิญหน้ากับความทุกข์และความเจ็บปวด ซึ่งไม่ทางจบสิ้นลงง่ายๆ เราจึงมีทางเลือกอยู่สองทาง คือจะปล่อยให้ความทุกข์เหล่านั้นกัดกินชีวิตและใจไปเรื่อยๆ หรือหาทางประคับประคองใจของตัวเองไว้ไม่ให้หดหู่ แล้วกอบกู้ความสุขให้กลับคืนมาในชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าโลก สังคม และผู้คนรอบตัวจะเลวร้ายสักหรือทำให้ทุกข์แค่ไหน อยู่ที่เราว่าจะยอมให้ความทุกข์นอกเหนือการควบคุมของเรามาพรากความสุขและความหวังในใจไปจดหมดสิ้นหรือไม่

การพาตัวเองให้พบกับความสุขจึงไม่ต่างจากการยืนอยู่หน้าประตูที่ไม่ได้ลงกลอนไว้ หากการเปิดประตูทำให้ได้พบกับความสุข ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะยื่นมือไปจับลูกบิดแล้วเปิดประตูออก หรือยืนนิ่งอยู่อย่างนั้นโดยไม่ทำอะไร ซ้ำร้ายบางคนอาจหันหลังให้ประตูบานนั้นด้วยซ้ำไป

ความสุขเป็นของเราเสมอ แม้โลกจะโหดร้าย ผู้คนไร้ความเห็นอกเห็นใจ อย่ายอมให้ใครหน้าไหนมาพรากความสุขไปจากชีวิต

 

อ้างอิง

  • Harris, R. (2008). The Happiness Trap: How to Stop Struggling and Start Living. Boston, MA: Trumpeter.
  • OpenStax College. The Pursuit of Happiness. https://bit.ly/3zdJkdo
  • The U.S. National Archives and Records Administration. Declaration of Independence: A Transcription. https://bit.ly/3BpNUY6

Did you know?

  • เหตุผลที่คำว่า ‘ความสุข’ ในชื่อหนังสือชีวประวัติของการ์ดเนอร์และภาพยนตร์ The Pursuit of Happyness เลือกสะกดด้วย y แทนที่จะเป็น i เพราะการ์ดเนอร์เข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ทำอะไรบางอย่างทำเพื่อคนอื่น (you) มากกว่าตัวเขาเอง (I)